Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๙๒

sangharaja-section

sungaracha

จิตเป็นธาตุรู้

จิตใจนี้เป็นธาตุรู้ แม้จะเป็นความรู้หลง แต่ก็อาจกำจัดความหลงให้เป็นธาตุรู้ที่รู้เข้าถึงสัจจะ คือความจริงขึ้นได้ และเมื่อความหลงหายไป ก็เป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ หน้าที่ของทุกๆคนที่พึงปฏิบัติก็คือ ปฏิบัติในภาวนากับปหานะ ปฏิบัติในภาวนานั้นก็คือภาวนาใน พุทโธ ธัมโม สังโฆ ปฏิบัติในปหานะนั้น คือละกิเลสและกองทุกข์ไปตามควรแก่การภาวนา ภาวนา พุทโธ ธัมโม สังโฆ นี้ ไม่ใช่หมายความเพียงภาวนาด้วยถ้อยคำ การภาวนาเพียงถ้อยคำก็จะเป็นเหมือนอย่างนกแก้วนกขุนทองหัดพูดภาษาคน ซึ่งไม่รู้ความหมายของคำที่พูด หัดแต่เสียงเท่านั้น แต่แม้เช่นนั้น ก็ยังอาจใช้ประโยชน์ในการรวมจิตเข้ามา

ภาวนาใน พุทโธ ธัมโม สังโฆ ในที่นี้ หมายถึงภาวนาด้วยระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ โดยศีล โดยสมาธิ และโดยปัญญา เพราะว่าศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมด้วยวิมุติ อันเป็นผลและนิพพาน ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นธรรมที่อยู่เหนือเหตุและผล รวมเข้าเป็น องค์พระพุทโธ ก่อน และศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ นิพพาน เหล่านี้ก็เป็น องค์พระธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงชี้แจงให้เกิดเป็น องค์พระสังโฆ ขึ้น เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นข้อปฏิบัติ วิมุติอันเป็นผลของความปฏิบัติและนิพพาน อันเป็นธรรมอันเหนือเหตุเหนือผลที่ปรากฏแก่ผู้ประสบผู้พบ จึงเป็นองค์ พระพุทโธ ธัมโม สังโฆ ภาวนาในพุทโธ ธัมโม สังโฆ จึงต้องปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ความระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ โดยพระคุณ โดยบุคลาธิษฐานก็ดี โดยธรรมาธิษฐานก็ดี ย่อมเป็นอุปกรณ์ก่อให้เกิดศรัทธาปสาทะ นำให้เกิดสมาธิ ส่งเสริมให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คือปฏิบัติอยู่ในศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นข้อปฏิบัติที่รวมอยู่ในองค์พระพุทโธ ธัมโม สังโฆ โดยตรง เพราะฉะนั้น ภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ จึงไม่หมายถึงการภาวนาด้วยถ้อยคำ แต่หมายถึงการปฏิบัติทำศีล สมาธิ ปัญญา ให้บังเกิดขึ้น เพื่อให้ลุนิพพานโดยลำดับ

         

ภาวนา 3

1. ภาวนาในศีล   ภาวนาในศีล ก็มิได้หมายความว่า ภาวนาว่า สีลํ สีลํ จะหมายถึงการปฏิบัติทำ วิรัติเจตนา ความตั้งใจงดเว้นจากภัยเวรอันนั้น ตั้งต้นแต่ภัยเวร 5 ประการให้บังเกิดขึ้น ให้มีวิรัติเจตนาประจำอยู่ในใจ โดยตั้งใจไว้ด้วยการรับจากพระก็ดี ด้วยตั้งใจไว้เอาเองก็ดี ก็สำเร็จเป็นวิรัติเจตนา เป็นศีลได้ทั้งนั้น ตั้งใจขึ้นเมื่อใด ก็เป็นศีลขึ้นเมื่อนั้น ดั่งนี้ เป็นการภาวนาในศีล ปหานะ คือ การละภัยเวรอันเป็นเครื่องเดือดร้อนต่างๆ ก็บังเกิดตามขึ้นมาทันที ภาวนาในศีลนี้ต้องมีเป็นภาคพื้น

2. ภาวนาในสมาธิ   และก็ต้องภาวนาในสมาธิ คือทำจิตให้สงบระงับจากนิวรณ์ทั้งหลาย ด้วยเปลื้องจิตจากอารมณ์อันเป็นเครื่องก่อนิวรณ์ ด้วยนำจิตให้เข้ามาตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิ จะตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก หรือจะบริกรรมว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ แม้โดยพยัญชนะหรือถ้อยคำดังกล่าวมาข้างต้นก็ได้ เพียงเพื่อเป็นอุบายให้เกิดความรวมใจ ให้ใจสงบจากอารมณ์และกิเลส คือนิวรณ์ทั้งหลาย ด้วยการบริกรรมว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาปฏิบัติ รู้เรื่องรู้ราวมาแล้ว แม้จะบริกรรมว่า พุทโธ คำเดียว แต่ความรู้เรื่องพระพุทโธก็ย่อมแล่นเข้ามาด้วย เมื่อบริกรรมว่า ธัมโม สังโฆ ความรู้เรื่องพระธรรม พระสงฆ์ ก็ย่อมแล่นเข้ามาด้วย

3. ภาวนาในปัญญา   และเมื่อความรู้เรื่องนี้ ได้เลื่อนขึ้นเป็นความรู้องค์จริงอันเกิดจากความปฏิบัติให้เข้าถึง เมื่อบริกรรมว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ ความรู้ดั่งนี้ก็ย่อมแล่นตามเข้ามาด้วย ทำให้เกิดศรัทธาปสาทะและปัญญาตั้งมั่นแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น และเมื่อเป็นดั่งนี้ จิตก็สงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ชื่อว่าได้ภาวนาในสมาธิ และก็ย่อมจะมีปหานะ คือการละกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เมื่อจิตใจสงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ธาตุรู้ของจิตก็จะแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น เพราะว่าเครื่องปิดคือกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายสงบไป ธาตุรู้ก็แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ก็เป็นโอกาสที่จะพิจารณาในนามรูปให้เห็นสัจจะคือความจริง

สัจจะคือความจริงของนามรูปนั้น ก็คือ

 (1) อนิจจตา    ความเป็นของไม่เที่ยง
             (2) ทุกขตา     ความเป็นทุกข์
             (3) อนัตตตา    ความเป็นของไม่ใช่ตน

สภาพทั้ง 3 นี้มีอยู่แก่นาม รูป ลักษณะ คือเครื่องกำหนดหมายให้เห็นว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็มีอยู่และก็มีอยู่อย่างไม่ปิดบัง เป็นสิ่งที่มีอยู่ปรากฏชัดแจ้ง พระพุทธเจ้าได้ทรงรู้ทรงเห็นและตรัสบอกแสดงเอาไว้นำทางให้ผู้ปฏิบัติพิจารณา กล่าวคือ ให้พิจารณาถึงความเกิด ความดับ ที่ปรากฏอยู่แก่นามรูป ทั้งระยะยาวและทั้งระยะสั้น เกิดดับที่ปรากฏแก่นามรูปนี้ พิจารณาอย่างสามัญก็คือ เกิด แก่ ตาย ที่มีอยู่แก่นามรูปนี้ เกิด แก่ ตาย นี้เป็นสัจจะของนามรูปของชีวิตนี้ ซึ่งเมื่อย่นเข้ามาในระยะสั้นแล้ว ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ทุกขณะจิต ในปัจจุบัน

 

อัตตานุทิฏฐิ

การพิจารณาทีแรก จะมองไม่เห็นความดับ จะเห็นแต่ความเกิด และความเกิดที่มองเห็นจะปรากฏเป็น ตัวชีวะ คือความเป็นอยู่เหมือนอย่างไม่ดับ แต่เมื่อหมั่นพิจารณาบ่อยๆ ด้วยจิตที่สงบจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย จะเห็นความดับขึ้นมาคู่กับความเกิด และเมื่อสติปัญญาที่พิจารณาฉับไวยิ่งขึ้น ความดับจะปรากฏเต็มที่เหมือนอย่างมีแต่ความดับอย่างเดียว และเมื่อเป็นดั่งนี้ นิโรธ คือความดับทุกข์ ก็จะปรากฏชัดเต็มที่ เมื่อปรากฏแต่ความเกิดเป็นตัวชีวะ คือเป็นตัวความดำรงอยู่ สมุทัยย่อมปรากฏเต็มที่ คือตัณหา อุปาทาน วิ่งเข้าจับตัวชีวะที่เป็นตัวความดำรงอยู่นั้นทันที ตัวเรา ของเรา ก็ปรากฏขึ้นทันที และเมื่อเป็นดั่งนี้ ทุกข์ต่างๆ มีโสกะ ปริเทวะ เป็นต้น ก็ปรากฏขึ้นทันที มิใช่แต่เท่านี้ แม้เกิด แก่ ตาย ซึ่งเป็นธรรมดา ก็ปรากฏเป็นตัวทุกข์ขึ้น และก็จะต้องมีความประจวบ ต้องมีความพลัดพราก ต้องมีปรารถนาต่างๆ เพราะอำนาจของตัวสมุทัย คือตัณหา อุปาทานที่เข้าจับอยู่กับตัวชีวะ ความเป็นอยู่หรือความดำรงอยู่ และตัวชีวะดังกล่าวนี้เอง เป็นตัว อัตตานุทิฏฐิ ความตามเห็นว่าเป็นอัตตาตัวตน ประกอบด้วย ตัณหา อุปาทาน อวิชชา รวมอยู่ด้วยกันหมด เกิด แก่ ตาย ที่เป็นตัวธรรมดา ก็กลายเป็นตัวทุกข์ขึ้น เพราะว่า เกิด แก่ ตาย ที่เป็นตัวธรรมดานั้น ไม่มีสัตว์ บุคคล เกิด แก่ ตาย แต่เมื่อมีอัตตานุทิฏฐิ ความตามเห็นว่าอัตตาตัวตนขึ้น ก็เกิดมีตัวเรา เกิด แก่ ตาย จึงเป็นทุกข์ขึ้น ชราจึงเป็นทุกข์ขึ้น มรณะจึงเป็นทุกข์ขึ้น และโสกะปริเทวะเป็นต้นก็เกิดขึ้น ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักก็มีขึ้น ความปรารถนาไม่ได้สมหวังก็มีขึ้น ก็เป็นทุกข์ตามกันขึ้นไปหมด และนามรูปอันนี้ ซึ่งเป็นธรรมดาอันหนึ่งก็เป็นทุกข์ขึ้น และเป็นที่รองรับทุกข์ทั้งหมด เพราะเมื่อชั้นต้นเป็นทุกข์ นามรูปซึ่งเป็นที่รองรับก็พลอยเป็นทุกข์ขึ้นทั้งหมด ความปรารถนาที่เป็นความปรารถนาฝืนธรรมดาย่อมมีขึ้น เพราะว่าเมื่อมีสมุทัยอยู่ ทุกข์ต่างๆก็ต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ ชาติทุกข์ เป็นต้น   แต่เมื่อเป็นทุกข์ ก็ย่อมปรารถนาที่จะให้ทุกข์นั้นหายไป แต่เมื่อมีอัตตานุทิฏฐิ หรือตัณหาอุปาทานอยู่ ก็ไม่อาจที่จะพ้นจากทุกข์ได้ก็ต้องเป็นทุกข์ เหมือนอย่างเอามือจับไฟ เกิดความร้อน ก็ปรารถนาที่จะให้ไม่ร้อน แต่ว่าไม่ปล่อยไฟ ดั่งนี้ ก็เป็นไปไม่ได้ เป็นความปรารถนาไม่สมหวังจนกว่าจะปล่อยไฟ เมื่อปล่อยไฟ ก็ไม่ต้องปรารถนา ความร้อนก็หายไป

เพราะฉะนั้น เมื่อยังปรากฏแต่ความเกิดเป็นตัวชีวะ เป็นที่วิ่งเข้ามาจบแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นอัตตานุทิฏฐิ สมุทัยย่อมปรากฏเต็มที่ สิ่งต่างๆก็เป็นทุกข์ขึ้นหมด   ต่อเมื่อได้ภาวนาใน พุทโธ ธัมโม สังโฆ จนถึงขั้นปัญญาพิจารณาให้เห็นความดับขึ้นมาคู่กับความเกิด คือเห็นเกิดดับ ทุกข์ก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป   ต่อเมื่อเห็นความดับปรากฏเต็มที่ ตัณหา อุปาทาน ไม่มีที่เกาะอัตตานุทิฏฐิตกลงไป ทุกข์ก็ตกลงไปหมด นิโรธคือความดับทุกข์ก็ปรากฏเต็มที่ การภาวนาใน พุทโธ ธัมโม สังโฆ ขั้นปัญญาย่อมนำไปสู่วิมุตินิพพานให้สำเร็จเป็นปหานะ การละอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ละอัตตานุทิฏฐิ ฉะนั้นการภาวนาใน พุทโธ ธัมโม สังโฆ ในขั้นตอนของศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นไปเพื่อปหานะการละไปโดยลำดับ จึงเป็นข้อปฏิบัติของผู้ปฏิบัติธรรมทั้งปวง

ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
21 ธันวาคม พ.ศ.2515