Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๑๙๑

sangharaja-section


sungaracha

ปุถุจิต                             

เบื้องต้น จิตที่ยังปกคลุมอยู่ด้วยอารมณ์และกิเลสเป็นอันมาก ย่อมเป็นจิตที่หนาแน่น หนาแน่นด้วยอารมณ์และกิเลส ดังจะเรียกว่า ปุถุจิต   บุคคลผู้มีปุถุจิต คือจิตที่หนาแน่น ย่อมเป็นปุถุชนที่ยังหนาแน่น เมื่อเป็นดั่งนี้ จิตจึงยังไม่ซาบซึ้งในธรรม และธรรมก็ยังไม่ซาบซึ้งเข้าถึงจิต แต่การที่ได้ส่งจิตให้ดำเนินไปในกระแสธรรมแม้ด้วยการตั้งใจฟังธรรมที่แสดง ย่อมเป็นการขัดสีจิตให้เบาบางเข้าโดยลำดับ เพราะธรรมแม้เป็นธรรมบรรยาย ก็เป็นเครื่องชำระล้างจิตใจได้เหมือนกัน ความตั้งใจฟังให้กระแสของธรรมไหลเข้ามาสู่จิต จึงเป็นวิธีหนึ่ง ซึ่งทำให้จิตใจก้าวลงลึกลงสู่สัจจะ คือความจริง

         

สัจจะ

อันสัจจะคือความจริงนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่เสมอ


1. ทุกขสัจจะ             สัจจะ คือทุกข์ ก็ปรากฏอยู่เสมอ
2. สมุทัยสัจจะ           สัจจะ คือสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ก็ปรากฏอยู่เสมอ
3. นิโรธสัจจะ             และแม้นิโรธสัจจะ สัจจะ คือนิโรธ ความดับทุกข์
                              เมื่อได้ปฏิบัติในทางให้ถึงความดับทุกข์ นิโรธก็ย่อมปรากฏ
                              น้อยหรือมากตามควรแก่การปฏิบัติ
4. มัคคสัจจะ             และแม้มัคคสัจจะ สภาพที่แท้จริงคือ มรรค
                              เมื่อปฏิบัติมรรคก็ย่อมปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติอยู่เสมอเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น สัจจะจึงเป็นสิ่งที่ปรากฏตัวอยู่ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ซ่อนเร้น แต่ว่าจิตใจนี้เองเมื่อยังเป็นปุถุจิต จิตที่หนาแน่นอยู่ด้วยอารมณ์คือกิเลส ย่อมมองไม่เห็นเหมือนอย่างตาบอดมืดมองไม่เห็น

 

ปุถุชน 3 ประเภท

  1. อันธพาลปุถุชน บุคคลที่เป็นผู้มีตาใจบอดมืดสนิท มองไม่เห็นสัจจะเอาเลย เรียกว่าเป็นอันธพาลปุถุชน ปุถุชนผู้เป็นอันธพาล คือเป็นผู้เขลา ไม่รู้เหมือนอย่างคนตาบอด
  2. ปุถุชนสามัญ    บุคคลเมื่อมีความรู้ขึ้นลางๆ เช่น เมื่อได้สดับฟังธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาที่ชี้ให้รู้จักทุกข์ ก็เกิดความรู้ความเห็นขึ้นลางๆ แม้จะไม่แจ่มชัดนักตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา สามารถที่จะละความชั่ว กระทำความดีได้ตามสมควร ความเป็นอันธพาลก็ย่อมหายไป มาเป็นปุถุชนสามัญ
  3. กัลยาณปุถุชน   บุคคลเมื่อได้ปฏิบัติชอบยิ่งขึ้น มีดวงตาใจที่แจ่มใสขึ้น มองเห็นสัจจะตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแจ่มชัดขึ้น สัจจะทั้ง 4 มีทุกขสัจจะเป็นต้น ปรากฏถนัดขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นมรรค ซึ่งเป็นเหตุละสังโยชน์ได้ ความเป็นปุถุชนสามัญก็หายไป เลื่อนมาเป็นกัลยณปุถุชน คือ ปุถุชนที่เป็นคนดีงาม มีความมั่นคงในธรรมตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา จิตใจของกัลยาณปุถุชนย่อมแจ้งชัดขึ้นในธรรมตามคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดา จิตใจของกัลยณปุถุชนย่อมแจ้งชัดขึ้นในสัจจะทั้ง 4 เพราะฉะนั้น สัจจะทั้ง 4 นี้ตามที่สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงสั่งสอนไว้จึงเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนาทุกคนจะพึงตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณาให้ตระหนักชัด

 

อายตนะ 12

จิตใจนี้เป็นเพียง ธาตุรู้ แม้ว่าจะยังเป็นรู้หลง ก็สามารถที่จะกำจัดความหลง ทำให้เป็นผู้รู้ถูกรู้จริงขึ้นได้ตามสมควรแก่ความปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ความตั้งใจนำกระแสธรรมนี่แหละให้เข้ามาสู่จิตใจให้มากขึ้น จิตใจนี้ถูกกระแสโลกไหลเข้ามาท่วมทับอยู่เป็นประจำ กล่าวคือกระแสของอารมณ์และกิเลสไหลเข้ามา

1. ตา กระแสของอารมณ์ที่ไหลเข้ามาทางตาบ้าง โดยเป็น รูปารมณ์ อารมณ์ คือ รูป
2. หู กระแสของอารมณ์ที่ไหลเข้ามาทางหู โดยเป็น สัททารมณ์ อารมณ์ คือ เสียง

3. จมูก กระแสของอารมณ์ที่ไหลเข้ามาทางจมูก โดยเป็น คันธารมณ์ อารมณ์ คือ กลิ่น
4. ลิ้น กระแสของอารมณ์ที่ไหลเข้ามทางทางลิ้น โดยเป็น รสารมณ์ อารมณ์ คือ รส
5. กาย กระแสของอารมณ์ที่ไหลเข้ามาทางกาย โดยเป็น โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์ คือ โผฏฐัพพะที่กายถูกต้อง
6. ใจ กระแสของอารมณ์ที่ไหลเข้ามาทางใจเอง โดยเป็น ธรรมารมณ์ อารมณ์ คือ เรื่องราวทั้งหลาย

 

อรรณพ โอฆะ

อารมณ์เหล่านี้เป็นที่ตั้งของราคะ คือความติดใจยินดี ก็ก่อราคะให้บังเกิดขึ้น   ที่เป็นที่ตั้งของโทสะ ก็ก่อโทสะให้บังเกิดขึ้น   ที่เป็นที่ตั้งของโมหะ ก็ก่อโมหะความหลงให้บังเกิดขึ้น   ราคะ โทสะ โมหะนี้ ก็เป็นกระแสกิเลสที่ไหลท่วมจิตใจพร้อมกับกระแสอารมณ์ดังกล่าว เพราะฉะนั้น ในจิตใจนี้จึงมี อรรณพ คือทะเลลึกตั้งอยู่   มี โอฆะ คือ ห้วงน้ำที่ไหลบ่าท่วมตั้งอยู่ ทำให้จิตใจนี้ถูกท่วมทับอยู่ด้วยห้วงน้ำ อยู่ด้วยทะเลลึก อันเต็มไปด้วยคลื่นลม และปลาร้ายต่างๆเป็นอันมาก นี้เป็นทะเลใจ กล่าวคือทะเลแห่งอารมณ์ และทะเลแห่งกิเลสอันข้ามได้ยากนัก มักจะตกทะเลใจนี้แหละ เป็นอันตรายกันเสียเป็นอันมาก ดังจะพึงเห็นได้ว่า ในการที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จะปฏิบัติอยู่ในศีลก็ดี ในสมาธิก็ดี ในปัญญาก็ดี การปฏิบัตินั้นมักจะไปไม่รอด ก็เพราะว่าไม่สามารถที่จะข้ามทะเลใจนี้ได้ ต้องถูกคลื่นลม ถูกปลาร้ายในทะเลใจอันนี้ ทำอันตรายจนไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้ เว้นไว้แต่ผู้ที่มาปฏิบัติให้มีธรรมที่เป็น พละ คือเป็นกำลังที่เพียงพอ กล่าวคือ

 

พละ 5

1. สัทธาพละ             กำลัง คือศรัทธาความเชื่อที่ตั้งมั่น
2. วิริยพละ               กำลัง คือความเพียรที่มั่นคง
3. สติพละ                กำลัง คือสติที่ตั้งมั่น
4. สมาธิพละ             กำลัง คือสมาธิที่แน่วแน่
5. ปัญญาพละ           กำลัง คือปัญญา ความรู้ที่ถูกที่ชอบ

ธรรมที่เป็น พละ เหล่านี้ ย่อมเป็นเครื่องนำ ผู้ปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ข้ามทะเลใจอันเต็มไปด้วยคลื่นลมร้ายและปลาร้าย ก็แหละ ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ต่างก็มีธรรมที่เป็นพละ คือกำลังเหล่านี้อยู่น้อยหรือมาก เพราะฉะนั้น ก็ให้ตั้งใจใช้ธรรมที่เป็นพละเหล่านี้ โต้คลื่นลมและปลาร้ายในทะเลใจของตน ยืนหยัดในการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญา ให้ดำเนินไปให้จงได้ ตามภูมิตามขั้นและข้อปฏิบัติทั้ง 3 ประการนี้ พึงประคับประคองการปฏิบัติให้ประกอบกันอยู่ตามส่วนอันสมควร พึงปฏิบัติในศีล พึงปฏิบัติในสมาธิ และพึงปฏิบัติอบรมทางปัญญา

 

ทุกขสัจจะ

การปฏิบัติอบรมทางปัญญานั้น โดยปริยายคือทางอันหนึ่ง ก็คือการพิจารณาในสัจจะทั้ง 4 อันเป็นหลักใหญ่ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้ คือ ทุกขสัจจะ สภาพที่แท้จริงคือทุกข์ เป็นต้น และในทุกขสัจจะนั้น ก็ให้พิจารณาไปตามพระพุทธาธิบายโดยลำดับก่อนว่า

ชาติปิ ทุกฺขา                                 ความเกิดเป็นทุกข์
ชราปิ ทุกฺขา                                 ความแก่ เป็นทุกข์
มรณมฺปิ  ทุกฺขํ                              ความตาย เป็นทุกข์
โสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺ-                  ความโศก ความคร่ำครวญ ร่ำไรรำพัน
สุปายาสาปิ ทุกฺขา                          ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ
                                                 ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์
อปฺปิเยหิ สมฺปโยโค ทุกฺโข               ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก เป็นทุกข์
ปิเยหิ วิปฺปโยโค ทุกฺโข                    ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก เป็นทุกข์
ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ               ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นสมประสงค์ เป็นทุกข์
สงฺขิตฺเตน ปญฺจุปาทานกฺขนฺธา ทุกขา  กล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง 5 ประการ เป็นทุกข์
                                                 ดั่งนี้

          พระพุทธาธิบายนี้ ชี้ให้เห็นสัจจะ คือความจริงของชีวิต ว่าจะต้องมีเกิด แก่ ตาย จะต้องประกอบด้วยความเกิด เป็นต้น   จะต้องประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก   จะต้องมีความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก   จะต้องมีความปรารถนาไม่สมหวัง   และทั้งหมดนี้ก็รวมเข้าที่ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง 5 ประการ อันรวมเข้าเป็นกายและใจ อันรวมเข้าเป็นตัวชีวิตนี้เอง   ให้รู้สัจจะ คือความจริงของชีวิต ว่าเป็นไปอยู่อย่างนี้ นี้เป็นทุกขสัจจะ สภาพที่แท้จริงคือทุกข์ ที่ควรพิจารณาให้รู้ไว้เป็นประการแรก


ธรรมกถาในการปฏิบัติอบรมจิต
ห้องประชุมสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
15 ธันวาคม พ.ศ.2515