Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๑๘๐

dungtrin_editor_coverได้คิด และคิดได้

dungtrin_new2

สิ่งใดดึงดูดความสนใจได้ทุกวัน
สิ่งนั้นจะควบคุมทิศทางชีวิตของคุณได้เป็นปีๆ หรือตลอดไป

หลายคนมีสิ่งดึงดูดใจอยู่ในอดีตหรือไม่ก็อนาคต
ซึ่งก็ขอให้จำไว้ว่า ถ้าสิ่งที่ดึงดูดใจคุณไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน
สิ่งนั้นจะก่อให้เกิดโรคคิดไปเอง หรือโรคคิดมาก
ซึ่งจัดเป็นอาการไม่ปกติของจิต

ตัวอย่างของโรคคิดไปเอง ก็เช่น
เห็นคนที่เคยยิ้มให้แล้วไม่ยิ้ม ก็คิดว่าเขาคงไม่พอใจอะไรเรา
ตัวอย่างของโรคคิดมาก ได้แก่
อย่างเช่นมองไม่ออกว่าอนาคตจะทำอะไร ก็คิดว่าชีวิตข้างหน้าต้องมืดมน

การแกล้งคิดบวกไม่ได้ช่วย
ยกตัวอย่างเช่น เวลาอ่านคำคมหรือวาทะของคนอื่น
คุณอาจได้ความคิดบวก
พูดง่ายๆว่า ‘ได้คิด’ อะไรดีๆที่เป็นประโยชน์
และสามารถผ่านความรู้สึกติดขัดในตัวเองไปได้ครั้งหนึ่ง
แต่หากไม่สามารถ ‘คิดได้’ ด้วยตัวเองเสมอๆ
คุณก็ต้องหาที่พึ่งทางใจใหม่ๆกันทุกวันร่ำไป

จริงๆแล้ว แม้อาการ ‘ได้คิด’ ก็มีหลายระดับ
บางระดับช่วยให้ผ่านวันนี้ไปได้ด้วยดี
แต่สูงขึ้นมาอีกระดับจะช่วยให้ผ่านทั้งชีวิตนี้ไปได้ด้วยดี
สำหรับพุทธเรา เน้นการได้คิด และคิดได้แบบถาวร
ซึ่งทางเดียวก็คือ เราต้องได้คิด และสามารถคิดได้เกี่ยวกับความจริง

สำหรับผมเอง ได้คิดเกี่ยวกับชีวิตจริงๆครั้งแรก
ก็จากการที่พุทธศาสนาสอนผมว่า
ไม่มีใครหนีความตายได้พ้น
ซึ่งเป็นคำสอนที่จริงมาก สอนให้เห็นความจริงกันตรงๆ
แต่สอนแบบนี้ไม่ถูกจริตคนไทย
เพราะคนไทยมองการตายเป็นเรื่องอัปมงคลกันไปหมด

แท้จริงแล้ว การคิดถึงความตายให้เป็น คือสุดยอดของการคิดบวก
เพราะเป็นการคิดถึงความจริงแบบรวบยอดว่าสุดท้ายจะเกิดอะไรขึ้น
จะเอาจิตเอาใจของเราไปแบกของหนักไว้ทำไม
และถัดจากได้คิดแบบนี้
ก็จะมีสติเตือนใจตัวเองไม่เลิก
เช่น พอผมกลุ้มใจเรื่องไหนมากๆ
ก็มักคิดว่าถ้าต้องตายไปพร้อมกับความกลุ้มใจเดี๋ยวนี้
มันคุ้มหรือไม่คุ้มกับเรื่องที่กำลังกลุ้ม

หรืออย่างถ้าไปเจอข้อคิดดีๆเกี่ยวกับความปล่อยวางและความตาย
ก็จะเกิดความรู้สึกกระทบใจ คลายอารมณ์ยึดได้ตลอด
เช่น มีข้อความกินใจของนักเขียนคนหนึ่ง ชื่อ เอลเบิร์ต ฮับบาร์ด
บอกว่า อย่าซีเรียสกับชีวิตให้มาก เพราะถึงยังไงคุณก็เอาชีวิตไม่รอดอยู่ดี

อาการคิดได้ คือ อาการที่ใจเราแม่นอยู่กับความจริง
ความจริงเป็นของติดตัว
ความอยากโน่นอยากนี่และการเฝ้าคิดถึงแต่อดีตและอนาคตต่างหาก ที่ไม่ใช่

ความจริงที่อยู่ติดตัว คือ สภาพจิต สภาพอารมณ์ที่เกิดดับอยู่ตลอดเวลา
เมื่อถูกสังเกตรู้บ่อยๆ ก็ช่วยให้เราคิดได้ถูก คิดได้ตรงบ่อยๆ
เช่น เมื่อคิดไปเองหรือคิดมาก หรือต้องตัดสินใจผิดๆขึ้นมาเมื่อใด
ก็จะได้ถามตัวเองว่า จะยอมลำบากข้างหน้าเพื่อแลกกับอารมณ์ชั่ววูบ
ที่เกิดขึ้นแล้วจะต้องดับลงเป็นธรรมดาอย่างนั้นหรือ?

ดังตฤณ
สิงหาคม ๕๖