Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๑๓๑

มาหายขาดจากโรคขี้น้อยใจกันเถอะ


dungtrinโรคขี้น้อยใจ เป็นโรคของคนที่อยู่ดีไม่ว่าดีก็ทุกข์เอง
เจ็บปวดเองได้ตลอดเวลา!

โรคขี้น้อยใจกับวิธีมองโลกในแง่ร้าย
คิดมากเกินกว่าเหตุนั้น เกื้อกูลกันจริงๆ
อะไรนิดอะไรหน่อยก็เกิดความรู้สึกแย่ได้หมด
แค่คนเคยยิ้มให้ไม่ยิ้มให้ ก็ระแวงแล้วว่าเขาไม่พอใจ
หรือรู้สึกว่าตัวเองเรตติ้งตก กลัวจะไม่เป็นที่รัก

คนจะนึกว่าโรคขี้น้อยใจเป็นโรคของเพศหญิง
แท้จริงเข้าใจผิดกันแท้ๆเลยครับ
ผู้ชายนั่นแหละตัวดี ขี้น้อยใจได้พอๆกับผู้หญิงนั่นแหละ
มันขึ้นอยู่กับว่าใครจะแสดงออกถึงโรคนี้
ถึงขั้น "ป่วยอย่างรุนแรง" กว่ากัน ต้องว่าเป็นคนๆ

คนส่วนใหญ่เกลียดความเจ็บปวด
แต่ขยันทำเหตุให้เจ็บปวด
เพราะนึกว่าทำแล้วจะหายเจ็บปวด!

อย่างเช่น คนส่วนใหญ่ไม่ตระหนักว่า
ยิ่งเป็นฝ่ายขอรับ ก็ยิ่งสร้างเหตุแห่งความเจ็บปวดมาก!
ยิ่งได้รับมากขึ้นเท่าไหร่
ก็เหมือนยิ่งเหมือนขาดขึ้นเท่านั้น

คนที่รู้สึกขาด ไม่อาจเติมให้ตัวเองเต็มได้
ชีวิตจะปรากฏเป็นความหนาวเย็นให้ตัวเองและคนอื่นสัมผัส
คนขี้น้อยใจจึงเป็นพวกดูดพลัง
ถ้าใครใกล้ชิดจะเหมือนต้องมาหมดแรงด้วยอยู่ทุกวี่วัน

คนส่วนใหญ่จะถูกชีวิตฝึกให้ทำตัวเป็นที่พึ่ง
ก็เมื่อถึงคราวเป็นพ่อเป็นแม่
ถ้าเลี้ยงลูกเองและผ่านด่าน
"
ความเรียกร้องสุดชีวิต" ของลูกได้หลายๆปี
ก็มักมีความอบอุ่นมั่นคงอย่างนักเลี้ยงดู นักเสียสละ
และนักทำความเข้าใจขึ้นมา
แต่ถ้าผ่านไม่สำเร็จ เป็นพ่อแม่ที่ล้มเหลว
ก็อาจยิ่งมีเหตุให้เป็นโรคขี้น้อยใจหนักขึ้นได้เป็นทวีคูณ
เรียกร้องจากคู่ครอง เรียกร้องเอาจากลูกหนักขึ้นทุกวัน

ขอให้ระลึกว่าโรคทุกโรคมีสิทธิ์หายทั้งนั้น
ที่รักษาไม่หายเพราะหลายคนไม่คิดจะรักษา
หรือไม่รู้วิธีรักษาเท่านั้นแหละ
อย่างถ้ารู้ว่าขี้น้อยใจเพราะเอาแต่ "คิดๆๆ"
ถ้ามีแก่ใจฝึกเปลี่ยนเป็น "รู้ๆๆ"
ก็จะหายน้อยใจ ถูกไหมล่ะ?

หรือถ้าเอาแต่อยากรับความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ
ถ้ามีแก่ใจเปลี่ยนโหมดจาก "ผู้รอรับ"
เป็น "ผู้หาโอกาสให้" ได้สมบูรณ์แบบเมื่อไหร่
โรคนี้ก็หายขาดเมื่อนั้น

ความหนักแน่นอย่างผู้ให้ไม่ใช่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ
เราต้องอยากมีความอบอุ่น อยากมีความสุขอยู่กับตัวเอง
อยากจะได้รู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าอย่างนี้คือผู้ใหญ่
อย่างนี้คือที่พึ่งให้ตัวเอง
แม้เมื่อจะฝากความหวังไว้ที่ใคร
อย่างมากก็จะเป็นเพียงความรู้สึกดีๆตอบกลับมา
ไม่ใช่คิดว่าจะให้ใครมาเห็นใจ
ไม่ได้คาดหมายว่าใครจะมาทำอะไรให้อยู่ตลอดเวลา

หลายคนบ่นว่าทำบุญทำทานมา
ก็ยังไม่รู้สึกว่าเป็นผู้ให้จริงๆเสียที
นั่นก็เพราะยังให้ไม่สม่ำเสมอ
คนเราจะรู้สึกว่าเป็นอะไรขึ้นมาจริงๆ
ก็ต่อเมื่อสามารถทำได้ทุกวัน ทำได้เป็นปกติ
ถ้าหากต่อเนื่องจริง
คุณจะรู้สึกถึงความเป็น "ของจริง"
ที่แตกต่างจากอะไรชั่วคราวปลอมๆ

เมื่อหนักแน่นมาก สติของคุณจะเจริญได้เร็ว
กล่าวคือเมื่อไหร่ใจแป้ว คิดมาก หดหู่
กลัวที่จะต้องอยู่คนเดียวโดดเดี่ยว
ไม่มีใครเหลียวแล
ก็จะเข้าใจและรู้ทันว่าสภาพแบบนั้น
เป็นเพียงภาวะชั่วคราวหนึ่งของจิต
เมื่อเห็นว่าไม่มีอะไร มีแต่ภาวะของจิตแบบหนึ่งเกิดขึ้น
เป็นเพียงหนึ่งในหลายต่อหลายภาวะของจิต
ที่เกิดขึ้นแล้วดับลงตลอดวันตลอดคืน
ก็จะสว่างและกระจ่างขึ้นมาอีกแบบ
กลายเป็นความรู้สึกปกติที่จะสว่างและกระจ่างอยู่อย่างนั้น
ไม่รู้จะน้อยใจไปทำไม เสียเวลาจริงๆ

ดังตฤณ
ตุลาคม ๕๔

~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~

เรื่องน่าสนใจประจำฉบับ


แม้จะตึงเครียดกับวิกฤตน้ำท่วมรอบตัว
เพื่อนๆ ก็ต้องไม่ลืมการทำทานรักษาศีลให้เป็นปรกตินะคะ
ทำไมต้องทำทานและรักษาศีล
คอลัมน์ ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ มีคำตอบดีๆรออยู่

น้ำท่วม เครียด ป่วน ชวนให้เกิดโทสะ
คอลัมน์ "ไดอารี่หมอดู" ฉบับนี้ 
หมอพีร์ มีเคล็ดลับจัดการกับตัวเองเมื่อมีโทสะมาฝากค่ะ

ส่วนคอลัมน์
"ธนาคารความสุข"
คุณ aston27 ไม่ยอมตกเทรนด์ ฉบับนี้จึงมาพร้อมเรื่องฮิตๆ ด้วยอีกคน
ในตอน "น้ำท่วม แมลงวัน กับทางออก"

~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~

พบกันใหม่พฤหัสหน้า
ที่ www.dlitemag.com นะคะ
สวัสดีค่ะ (^__^)