Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๗๙

ทางกายนั้น ถ้ายืนอยู่นิ่งๆ
ก็เหมือนตัวคุณจะอยู่จุดเดิมได้จนกว่ากายจะแตกดับ
แต่ทางจิตแล้ว ถ้าไม่ก้าวหน้าคือคุณกำลังถอยหลังครับ
นั่นเพราะอะไร?
พระพุทธเจ้าตรัสว่าจิตมีธรรมชาติไหลลงต่ำ
ถ้าคุณไม่ "ออกแรง" ทวนกระแสให้ขึ้นสูง
ปล่อยไว้เฉยๆจิตก็จะไหลลงต่ำไปเอง
อันนี้จริงหรือไม่จริงก็ขอให้ทบทวนดู
วันไหนนอนงอมืองอเท้าชนิดลืมโลกอยู่บนเตียง
ยิ่งนานใจจะมีลักษณะสดใสขึ้นหรือหม่นมัวลงเรื่อยๆ?

การประมาทเฉื่อยเฉย
ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกับเวลาที่ผ่านไป
พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบเทียบกับคนที่มีไฟไหม้ศีรษะ
แล้วไม่ขวนขวายพยายามหาทางดับ
ในที่สุดก็ดับไม่ทัน ต้องโดนไฟไหม้หัวไปตามระเบียบ

เราเจริญสติเพื่อบรรลุมรรคผลอย่างถูกต้อง
มรรคผลนิพพานจึงเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนของการเจริญสติ
และเพื่อการนี้ พระพุทธเจ้าประทานวิธีสำรวจความเข้าใกล้มรรคผล
โดยอาศัยสิ่งที่เรียกว่า "โพชฌงค์ ๗"
กล่าวคือองค์ประกอบ ๗ ประการที่มีครบถ้วนอิ่มตัวบริบูรณ์เมื่อใด
มรรคผลก็บังเกิดขึ้นเมื่อนั้น

เมื่อทราบชัดว่าจะต้องมีองค์ประกอบครบทั้ง ๗ แล้วมรรคผลจึงบังเกิด
พระพุทธเจ้าก็ตรัสแนะให้สำรวจเป็นข้อๆ
ว่าเรากำลังมีคุณสมบัติหรือขาดสมบัติข้อใดในขณะหนึ่งๆ ไล่ไปตามลำดับ

หนึ่งคือสำรวจตนเองว่ามีสติอยู่หรือเปล่า
ถ้าไม่มีก็หาทางทำให้มันมีเสีย
สองคือสำรวจตนเองว่าสติที่มีนั้นเป็นไปเพื่อพิจารณาธรรมหรือเปล่า
ถ้าไม่มีก็หาทางทำให้มันมีเสีย
สามคือสำรวจตนเองว่ามีความเพียร ไม่ย่อหย่อนขาดตอนอยู่หรือเปล่า
ถ้าไม่มีก็หาทางทำให้มันมีเสีย
สี่คือสำรวจตนเองว่ามีความอิ่มใจอยู่หรือเปล่า
ถ้าไม่มีก็หาทางทำให้มันมีเสีย
ห้าคือสำรวจตนเองว่ามีความสงบกายสงบใจอยู่หรือเปล่า
ถ้าไม่มีก็หาทางทำให้มันมีเสีย
หกคือมีความตั้งมั่นแห่งจิตอยู่หรือเปล่า
ถ้าไม่มีก็หาทางทำให้มันมีเสีย
เจ็ดคือสำรวจตนเองว่ามีความเป็นกลางวางเฉยอยู่หรือเปล่า
ถ้าไม่มีก็หาทางทำให้มันมีเสีย

จะเห็นว่าองค์ประกอบข้อต่อๆมาเป็นเครื่องชี้เลย
ว่าองค์ประกอบข้อก่อนๆมีอยู่อย่างถูกต้องหรือผิดพลาด
เช่น ถ้ามีสติ มีการพิจารณาธรรม มีความเพียรต่อเนื่อง
แต่ไม่อิ่มใจ ไม่ชุ่มชื่น ไม่สงบระงับ
แต่กลับแห้งแล้งหรือเคร่งเครียดขึ้นทุกที
อย่างนี้แสดงว่ามาผิดทางแล้ว ถอยหลังแล้ว ไม่ใช่คืบหน้า

โดยใจความสรุปคือถ้าพบว่า
ตนเองมีทีท่าจะย่ำอยู่กับที่
ก็ให้สำรวจดูว่าเพราะขาดโพชฌงค์ข้อไหน
พอพบแล้วก็ทำให้มีขึ้นมาเสีย

ถ้าคุณมีสติ ก็ย่อมมีกำลังในการพิจารณากายใจในบัดนั้น
ถ้าคุณพิจารณาธรรมอยู่ด้วยสติที่เพียงพอ
ก็ย่อมมีความกระตือรือร้น ขยันหมั่นดูกายดูใจไปเรื่อยๆ
ถ้าคุณรู้สึกว่ามีกำลังมากพอจะเห็นกายใจอย่างต่อเนื่องสบายๆ
ก็ย่อมบังเกิดความอิ่มใจ เชื่อมั่นว่าตนเองทำได้ ทำดี ทำถูก
ถ้าคุณอิ่มใจเพียงพักเดียว
ก็ย่อมบังเกิดความสงบระงับไม่กวัดแกว่งทั้งกายใจ
เมื่อคุณสงบกายสงบใจนานพอ
ก็ย่อมบังเกิดความตั้งมั่นแห่งจิต เหมือนหินผาไม่หวั่นไหว
เมื่อคุณตั้งมั่นเหมือนหินผาอยู่
ก็ย่อมบังเกิดความเป็นกลางวางเฉย ไม่ยินดียินร้าย
นี่คือเส้นทางของ "ความเจริญ" แห่งสติอย่างไม่ต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม การก้าวหน้าทางจิตไม่ใช่มีแต่ขึ้นกับขึ้น
คุณจะพบว่าถึงแม้ทำความก้าวหน้าได้ ๗ ก้าว
จังหวะเหมาะหน่อยก็อาจถอยหลังได้อีกก้าวหรือสองก้าว
ไม่ว่าจะถอยมากหรือถอยน้อยก็ตามที
สำคัญคือทุกทีที่ถอย
ถ้าสำรวจว่าถอยมาอยู่ตรงไหน ระหว่าง
ขาดสติ ขาดการพิจารณา ขาดความเพียร
ขาดความอิ่มใจ ขาดความระงับกายใจ
ขาดความตั้งมั่น และขาดความเป็นกลางวางเฉย
ก็ให้รู้เท่าทัน และทำตามวิธีที่ถูกเพื่อให้มีขึ้นมา
เช่น ถ้ายิ่งเพียรยิ่งแห้งแล้ง
ก็ควรสังเกตว่าเพียรท่าไหนอย่างไรจึงชุ่มชื่นขึ้น เป็นต้น

สิ่งที่พระพุทธเจ้าประทานไว้
เป็นหลักในการเพิ่มความคืบหน้า
และลดโอกาสถอยหลัง
ก็คือการทำอานาปานสติ
หรืออาศัยลมหายใจเป็นที่ตั้งของสติ
โดยตรัสไว้อย่างชัดเจนว่าถ้าทำอานาปานสติเป็นแล้ว
ก็สามารถสำรวจความคืบหน้าคืบหลัง
ได้ระหว่างการเจริญสติรู้ลมหายใจนั่นเอง

ปัจจุบันอานาปานสติถูกนำมาปนเปกับการทำสมาธิทั่วไป
๙๙% หรือยิ่งกว่านั้นสำคัญผิด
คิดว่าแค่รู้ลมหายใจ เพ่งลมหายใจอยู่
ก็นับเป็นอานาปานสติแล้ว
แท้ที่จริงอานาปานสติต้องเริ่มจากความเข้าใจที่ถูกต้อง
คือต้องเข้าใจให้ชัดเสียก่อนว่าเราจะรู้ไปเพื่อให้เห็นความไม่เที่ยง
ทั้งของตัวลมหายใจเอง ทั้งของความรู้สึกที่จะเกิดขึ้น
กับทั้งสภาวะทางใจที่จะปรากฏตามมาเป็นลำดับ

ผมทำไฟล์เสียงอานาปานสติ
วิธีทำสมาธิ เจริญสติด้วยลมหายใจครบสูตร
ตามหลักการที่พระพุทธเจ้าประทานไว้
เดิมทีจะทำเป็นวิดีโอเพื่อให้เห็นชัด
แต่หลายคนท้วงว่าวิดีโอที่ผ่านมาพยายามเข้าไปดู
แล้วปรากฏว่าช้าอืดหรือโหลดไม่ได้เลย
ฉะนั้น ผมจึงเปลี่ยนใหม่เป็นไฟล์เสียง
ซึ่งใช้เซิร์ฟเวอร์ TweetMic.com เป็นที่ตั้ง
และอันเนื่องจากขณะเขียนนี้ยังบันทึกเสียงไ่ม่เสร็จดี ต้องส่งบท บ.ก. ก่อน
จึงขอรบกวนให้เข้าไปดูลิงก์ใน
http://twitter.com/dungtrin นะครับ

ผมจะไปพูดที่งานมหกรรมหนังสือฯ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเสวนาเวที
ณ Hall A วันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๒

(ของผมสลับกับพระศรีญาณโสภณตามกำหนดการเดิม)
ถ้าว่างก็พบกันครับ


ดังตฤณ
ตุลาคม ๕๒

• • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • •


เรื่องน่าสนใจประจำฉบับ

การปฏิบัติธรรม มีข้อสังเกตบ้างหรือไม่
ว่าได้เข้าใกล้มรรคผลแล้วเพียงใด
พบคำตอบที่คอลัมน์ "ธรรมะจากพระผู้รู้" ค่ะ (-/\-)

คนเรานั้น เมื่อล้มได้ย่อมลุกได้
ขอเพียงมีใจสู้ และไม่ย่อท้อต่อการทำดีค่ะ ^_^
"ไดอารี่หมอดู" ฉบับนี้
พบเรื่องจริงจากผู้ที่เคยมีชีวิตผิดพลาด
ถึงขั้นต้องโทษจำคุกมาแล้ว
"หมอพีร์" จะให้กำลังใจในการกลับมาต่อสู้ใหม่
แก่เขาคนนี้อย่างไร ติดตามได้ในฉบับค่ะ

นอกจากธรรมชาติจะเป็นแหล่งพลังงานอันยิ่งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตแล้ว
ความงดงามของธรรมชาติรูปแบบต่างๆ
ยังแฝงแง่คิดในมุมที่คาดไม่ถึงอีกมากนะคะ
คอลัมน์ "รูปชวนคิด" ฉบับนี้
พบความงามของธรรมชาติหลากลีลา
พร้อมแง่คิดจรรโลงใจเช่นเคยค่ะ

• • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • •


ข่าวสารและกิจกรรมที่น่าสนใจ

  • ใครที่พลาดโอกาสไปร่วมงานกฐินของสวนสันติธรรมปีนี้
    สามารถชมภาพบรรยากาศงานที่เรียบง่าย
    แต่สว่างไสวไปด้วยปีติ ได้ที่กระทู้นี้ค่ะ ^_^
    http://larndham.net/index.php?showtopic=36818&st=0
  • ท่านที่ร่วมพิมพ์หนังสือ "เข้าสู่แดนอวกาศของจิตของธรรม"
    ของท่านอาจารย์พระมหาบัวญาณสมฺปนฺโน
    สามารถดูกำหนดการรับหนังสือได้ที่นี่ค่ะ

    http://larndham.net/index.php?showtopic=35511&st=359
  • สำหรับผู้ที่ชื่นชอบผลงานเพลงพุทธคุณ
    โดย คุณอ๋อ ณธนา หลงบางพลี และคุณปาน ธนพร แวกประยูร
    ขณะนี้ทั้งสองท่าน มีผลงานเพลงแห่งความสว่างเพลงใหม่
    กับบทเพลง "เทิดพระเกียรติสมเด็จพระสังฆราช"
    เพลงนี้ถูกแต่งขึ้นเนื่องในงานฉลองพระชันษา ๙๖ ปี
    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (-/\-)
    ขอเชิญร่วมรับฟัง และดาวน์โหลดเพลงได้ที่นี่เลยค่ะ

    http://www.dungtrin.com/Prasangkaracha.html

• • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • • •

พบกันใหม่พฤหัสหน้า
ที่
http://www.dlitemag.com นะคะ
สวัสดีค่ะ (^_^)