Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๑๒๕

จะรู้อย่างเป็นกลางได้อย่างไร?


dungtrinเป็นที่ทราบกันดีว่าถ้าจะทำให้สติเจริญจริง รู้เห็นกายใจตามจริงได้ จิตต้องเป็นอุเบกขา หรือมีความเป็นกลาง ซึ่งความรู้สึกเป็นกลางนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะสร้าง เป็นไปไม่ได้ที่จะฟังใครแล้วเข้าใจ แต่เป็นไปได้ที่จะฝึกตนเองตามลำดับขั้นเพื่อเข้าถึง ผ่านกรรมในชีวิตประจำวันดังนี้ครับ


๑) การตัดสินคนอื่น เมื่อเห็นเขาแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เราชื่นชอบหรือเกลียดชัง ให้ฟังข้อมูลทั้งสองฝ่าย ระหว่างฟังให้สำรวจว่าเรามีหน้ากากแห่งความเกลียด หรือหน้ากากแห่งความชอบเข้ามาบดบังข้อมูลหรือไม่ ถ้าเห็นความเกลียดและความชอบเป็นแรงผลักดันให้เชื่อหรือไม่เชื่อ ก็จะถอนอาการด่วนเชื่อหรือไม่เชื่อเสียได้ ความใจเย็นรับฟังที่เหลือหลังจากนั้น เรียกว่าเป็นกลางระหว่างสองฝ่าย สติและจิตที่ตั้งอยู่ตรงกลางจะทำให้เรารู้จักความเป็นกลางเบื้องต้นที่จัดว่าง่ายที่สุด

๒) การตัดสินตัวเอง ไม่มีใครรู้ว่าตนเข้าข้างตัวเองขนาดไหน และบางทีก็ไม่สามารถใช้เสียงคนอื่นมาตัดสินด้วย เนื่องจากคนอื่นจะตัดสินว่าเราไม่เข้าข้างตัวเอง ก็ต่อเมื่อเราเข้าข้างเขา สิ่งที่จะช่วยให้เราตัดสินตัวเองได้ว่าเป็นกลางหรือเปล่าคือ "วิธีให้ความเป็นธรรม" กล่าวคือ เราเล็งเข้ามาที่ใจตัวเองว่าขณะพูดหรือขณะทำเพื่อเอาอะไรให้ตัวเอง เราคิดถึงคนอื่นบ้างหรือเปล่า หรือคิดถึงตัวเองคนเดียว ถ้ารู้ใจตัวเองว่าคิดถึงคนอื่นด้วย คิดถึงตัวเองด้วย ในระดับน้ำหนักที่ได้ดุล อันนั้นเรียกว่าเป็นกลาง แม้คนอื่นจะยังเรียกร้องขอเพิ่ม เราก็ถือว่าเราได้ให้ความเป็นธรรมกับเขาไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องให้เพิ่มแล้ว

๓) การให้ทาน การเผื่อแผ่ไม่เลือกหน้า จะเฉลี่ยเอาความเลือกที่รักมักที่ชังในใจเราออกไป แล้วช่วยให้จิตแผ่ผายออกกว้างอย่างเป็นกลางมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การเจาะจงจะให้เฉพาะคนที่เรารักหรือนึกชอบใจ หรือฟังใครต่อใครร่ำลือว่าศักดิ์สิทธิ์ ถวายให้แล้วได้บุญเยอะ แบบนี้จะเป็นบุญในแบบที่ไม่ช่วยให้ใจเป็นกลางเท่าใดนัก

๔) การรักษาศีล การตั้งใจสกัดกั้นกิเลส ห้ามใจไม่ให้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดประเวณี โกหก และกินเหล้า โดยไม่มีข้อยกเว้น หรือมีข้ออ้างให้น้อย ยิ่งน้อยเท่าไรยิ่งเป็นกลางมากขึ้นเท่านั้น การรักษาศีลเป็นบุญที่ดัดจิตเราให้ตรง เห็นอะไรตรงตามจริงได้ขนาดที่ถ้าเต็มบริบูรณ์แล้ว ก็กลายเป็นสมาธิจิตได้เอง สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้มีปกติรักศีล มีศีลที่ตั้งมั่นแล้ว ย่อมไม่เดือดร้อนใจ และเป็นเหตุให้เกิดสมาธิได้ง่ายเป็นธรรมดา ไม่น่าแปลกใจ

๕) การเจริญสติ ถ้าเริ่มจับจุดจากที่ตัดสินได้ง่ายว่าเรารู้จริง ไม่ต้องสงสัยเคลือบแคลง ไม่ต้องถามตัวเองว่ารู้ถูกหรือรู้ผิด เอาตามลำดับที่พระพุทธเจ้าเรียงไว้ให้ ก็จะเป็นกลาง รู้เห็นตรงจริงได้ง่าย เช่น ขณะนี้หายใจเข้าหรือหายใจออก ขณะนี้หายใจยาวหรือหายใจสั้น ขณะนี้อึดอัดหรือสบาย ขณะนี้สงบหรือฟุ้งซ่าน ถ้ารู้จริง ไม่ได้อยู่ในจินตนาการ ย่อมไม่มีทางตัดสินได้ผิด

การอยู่กับการ "ไม่เอียงข้าง ไม่คลางแคลง" ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมได้ชื่อว่าสะสมความเป็นกลาง ดัดจิตจากบิดเบี้ยวให้เข้าสู่ความตรง ความเที่ยงที่จะรู้ตามจริง จะไม่เป็นคนเข้าข้างใครนอกจากธรรม จะไม่เป็นคนเห็นแก่ตัว และที่สุดจะไม่เป็นคน "เห็นว่ามีตัว" ในเบื้องปลายครับ

ดังตฤณ
กรกฎาคม ๕๔

~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~

เรื่องน่าสนใจประจำฉบับ

ดังคำพระพุทธภาษิตที่ว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ
ใจจึงเป็นรากของกรรม
การจะแก้ไขนิสัยที่สั่งสมมานานด้วยใจแบบต่างๆ แม้เป็นเรื่องยาก แต่ก็เป็นไปได้
คุณดังตฤณ ได้แนะนำทางออกไว้แล้วที่คอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ค่ะ

สำหรับใครกำลังติดตาม
คุยกันเรื่องกรรม ในคอลัมน์ เพื่อนธรรมจารี
คุณงดงาม พร้อมแล้วที่จะกลับมาต่อตอนที่ ๒ ในฉบับนี้
ห้ามพลาดเด็ดขาดนะคะ ^_^

เชื่อว่าพวกเราทุกคนต่างก็มี
ต้นแบบ ในการดำเนินชีวิต
คุณ aston27 เองก็มีต้นแบบเช่นกัน ส่วนจะเป็นใครนั้น
ติดตามได้ในคอลัมน์ ธนาคารความสุข ฉบับนี้ค่ะ

~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~*~ 

พบกันใหม่พฤหัสหน้า
ที่ www.dlitemag.com นะคะ
สวัสดีค่ะ (^__^)