Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๘๐

มีคำศักดิ์สิทธิ์อยู่คำหนึ่งในศาสนาพุทธ
คือคำว่า "ปล่อยวาง"
คำนี้ถ้าพูดกันเล่นๆก็เหมือนไม่มีทางทำได้จริง
แต่หากพูดซ้ำบ่อยๆเหมือนสวดมนต์
หลายคนก็พบความน่าอัศจรรย์ของคำๆนี้ได้เหมือนกัน

อย่างพวกที่ชอบบู๊แหลก
ไม่ยอมใคร ไม่กลัวการมีเรื่อง
พอใช้ชีวิตแบบเห็นทุกเรื่องคอขาดบาดตายมากเข้า
ก็ชักเริ่มคร้านจะก่อเรื่อง
เริ่มเอือมระอากับการมีเรื่อง
ที่ตรงนั้นใจที่ล้าๆจะเริ่มผลิตคำว่า "ปล่อยวาง" ออกมาเอง
ยิ่งถ้ารู้สึกว่าเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา
ก็พลอยลากจูงให้สนใจรายละเอียดของการปล่อยวางมากขึ้นได้

ถ้าคุณหมั่นคิดถึงคำว่า  "ปล่อยวาง" ขณะที่กำลังเป็นทุกข์
ใจที่ถูกปรุงแต่งด้วยคำๆนี้จะสำแดงอาการ "คลาย" ออกมาชั่วขณะหนึ่ง
เป็นชั่วขณะที่คุณรู้สึกได้ถึงความแตกต่างเป็นตรงข้าม
กับอาการยึดเอาไว้ กุมแน่นเอาไว้
หลายคนท่องคำว่า "ปล่อยวาง" ขึ้นใจ
จนนึกว่าเข้าถึงแก่นสารสาระของศาสนาแล้ว
เพราะพอทำท่าจะเกิดกิเลสชนิดใดขึ้นมา
ก็งัดเอาไม้ตายคือ "ปล่อยวาง" มาใช้
ซึ่งมักได้ผลแบบวูบๆวาบๆอยู่เรื่อยๆ
และระยะเวลาเว้นวรรคอาการยึดมั่น
ก็มักทอดเวลาห่างออกไปมากขึ้น
บางทีอาจเป็นวันๆหรือหลายวัน
ตามการสั่งสมประสบการณ์ปรุงแต่งจิตด้วยคำว่า "ปล่อยวาง" มา
สำหรับท่านที่เข้าข่ายนี้นับว่าดีนะครับ
เป็นวิธีง่ายๆที่ได้ผล ไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก
แต่ควรทำความเข้าใจว่านี่เป็นการปล่อยวางแบบคิดนำ
ไม่ใช่อาศัยสติรู้เป็นตัวนำ

การอาศัยสติรู้และยอมรับตามจริงคืออย่างไร?
คือการที่เราไม่แค่ "มองไปทางอื่น" ด้วยความคิดปล่อยวาง
แต่เป็นการ "มองสิ่งที่อยู่ตรงหน้า" ด้วยใจที่เงียบเชียบ

อย่างเช่นถ้าเป็นทุกข์
เราจะไม่คิดปล่อยวางเพื่อให้จิต "เมิน" ความทุกข์
แล้วหันมาหาอาการวางๆ  ว่างๆ
ซึ่งมักเกิดผลเป็นความรู้สึกสำคัญว่าเราวางได้แล้ว  ว่างได้แล้ว
แต่จะเป็นการยอมรับว่าขณะนี้ทุกข์ขนาดไหน
ซึ่งเท่ากับเป็นการ "มอง" ความทุกข์ให้เห็น
เพื่อที่อึดใจต่อมาจะได้ถามตัวเองใหม่ว่า
ที่ทุกข์อยู่นั้น  มากขึ้นหรือน้อยลง

คุณอาจไม่รู้สึก "ปล่อยวาง" ขึ้นมาทันทีทันใด
ที่เห็นระดับความทุกข์มันไม่เท่าเดิม
แต่เห็นบ่อยเข้าจะรู้สึกอย่างแจ่มชัดว่าเออ!
มันมีขึ้นมีลง ไม่เที่ยงจริงๆด้วย

ตรงที่รู้สึกถึงความไม่เที่ยงของความทุกข์นั่นแหละ
ใจจะไม่ผลิตคำว่า "ปล่อยวาง" ออกมา
แต่จะเกิดอาการ "ไม่เอา" หรือ "ทิ้ง" อย่างแท้จริง
และเมื่อทิ้งขว้าง ไม่ยึดเอาภาวะตรงหน้าว่าเป็นตัวเราบ่อยเข้า
ในที่สุดก็หมดจากอาการหวงทุกข์อย่างสิ้นเชิงไปเอง

ดังตฤณ
ตุลาคม ๕๒

• • • • •  • • • • • • • •  • • • • • • • •  • • • • • •

เรื่องน่าสนใจประจำฉบับ

ใจคนเรามักหมุนเวียนสร้างทุกข์ขึ้นมาแผดเผาตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ธรรมะเท่านั้น เป็นที่พึ่งที่อาศัย
ทำให้ชีวิตมีความอบอุ่น  มั่นคง ปลอดภัย
อยากศึกษาธรรมะอย่างถูกวิธีต้องทำอย่างไร
พบคำตอบได้ที่คอลัมน์  "ธรรมะจากพระผู้รู้" ค่ะ (-/\-)

วิบากร้ายเรื่องความรัก  มักมีเหตุมาจากความเจ้าชู้ในอดีต
"ไดอารี่หมอดู" ฉบับนี้ มีตัวอย่างของชายเจ้าชู้ ที่พลาดทำผิดซ้ำๆ
เพราะไม่ทราบว่านั่นคือเหตุการณ์ที่กรรมส่งมาเป็นบททดสอบ
เขาจะได้รับผลอย่างไรบ้างจากสิ่งที่ทำ
และ "หมอพีร์" จะมีข้อแนะนำอย่างไรสำหรับชายหลงผิดผู้นี้
ติดตามอ่านได้ในฉบับค่ะ ^_^

ทุกสรรพสิ่งในโลก  ไม่ว่าจะแข่งแกร่งปานใด
ก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงและดับสสายไปตามกฎธรรมชาตินะคะ
คอลัมน์"รูปชวนคิด" ฉบับนี้
ชมภาพการแสดงธรรมของธรรมชาติ
พร้อมคำบรรยายจาก  "คุณดังตฤณ" และ "คุณ preeyaporn" ค่ะ

• • • • •  • • • • • • • •  • • • • • • • •  • • • • • •

ข่าวสารและกิจกรรมที่น่าสนใจ

  • ขอเชิญชมคลิปปาฐกถาของคุณดังตฤณ
    ในงานประชุมวิชาการพระพุทธศาสนานานาชาติเทิดพระเกียรติ
    ฉลองครบรอบ ๙๖ ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก
    ในหัวข้อ "พระพุทธศาสนาสู่ศตวรรษใหม่"
    วันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๒ ที่วัดบวรนิเวศวิหารค่ะ ^_^
    http://larndham.net/index.php?showtopic=36679
  • ข่าวดีสำหรับผู้ที่พลาดการร่วมพิมพ์หนังสือ "พระกรรมฐานกลางกรุง" ค่ะ
    แม้จะมีการจัดพิมพ์เสร็จไปหมาดๆ แต่ก็มีเสียงเรียกร้องต้องการพิมพ์เพิ่มอีกเป็นจำนวนมาก
    ชมรมกัลยาณธรรม จึงเปิดโอกาสให้มีการร่วมพิมพ์หนังสืออีกเป็นครั้งที่ ๒
    ท่านที่ประสงค์จะร่วมพิมพ์ อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ
    http://larndham.net/index.php?showtopic=36975&st=0
  • สมาคมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งประเทศไทย (สวทน.)
    ขอเชิญร่วมประชุมเสวนาเฉลิมพระเกียรติ
    ในหัวข้อ "พุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ สร้างสรรค์วัฒนธรรมแห่งปัญญา"
    วันศุกร์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๗.๓๐ น.
    ณ ห้อง L ๐๑ คณะวิทยาศาสตร์ (พญาไท) มหาวิทยาลัยมหิดล (ถนนพระรามที่ ๖)
    ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนได้ที่นี่ค่ะ
    http://www.oknation.net/blog/stia-thailand

• • • • •  • • • • • • • •  • • • • • • • •  • • • • • • • •  • • • • • • • •  • • • • • • • • • • • •

พบกันใหม่พฤหัสหน้า 
ที่
http://www.dlitemag.com นะคะ 
สวัสดีค่ะ (^_^)