Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๑๑๙

กรรมที่ให้ผลขณะตาย

dungtrinฉบับที่แล้วผมเขียนเรื่องการซักซ้อมก่อนตาย
หลายคนเกิดความสนใจ
และบางคนสงสัยว่าแค่นึกถึงอะไรดีๆก็ไปดีได้แล้วหรือ
วันนี้เรามาคุยกันแบบเป็นวิชาการนิดหนึ่ง
เพื่อให้เกิดความเข้าใจเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นกว่าเดิมหน่อยครับ

กรรมที่เราทำๆกันมาในช่วงเวลาที่มีชีวิตหลายสิบปีนั้น
มีระดับความสำคัญไม่เท่ากัน
กรรมไหนทำบ่อย ก็มีนัยสำคัญกับภพใหม่มากหน่อย
แต่กรรมไหนนานๆทำที ก็มีนัยสำคัญกับภพใหม่น้อยหน่อย

สำหรับคนส่วนใหญ่
กรรมที่มีพลังแรง มีโอกาสให้ผลก่อนเพื่อน
คือกรรมที่ทำมาเป็นประจำ เรียกว่า "อาจิณณกรรม"
พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าชั่งน้ำหนักดู
พบว่าเราคิด พูด ทำ ในแบบที่เป็นกุศล คือเป็น "สุจริตกรรม"
ก็มีแนวโน้มสูงที่จะไปดี ไปสู่สุคติภูมิ
มีมนุษยโลกและเทวโลกเป็นต้น
โดยประตูของการไปดีก็คือนิมิตก่อนตาย
แสดงถึงบรรดาสุจริตกรรมทั้งหลายที่เคยกระทำมา
กระบวนการดังกล่าวเป็นการคัดสรรของธรรมชาติกรรม
คุณไม่มีสิทธิ์ไปนึกเอาตอนเกิดกระบวนการแล้ว
เช่นไปแทรกแซงด้วยจินตนาการว่าเราเคยทำกรรมดีอย่างนี้
ไม่เคยทำกรรมดีอย่างนั้น
สัจจะแห่งกรรมที่เคยประกอบไว้จะแสดงตัวอย่างซื่อสัตย์ยุติธรรม

หากจะทบทวนกันตอนนี้ที่ยังมีชีวิต
ก็ให้คิดในแง่ของทานและศีลแบบง่ายๆว่า
คุณมีแนวโน้มจะคิด พูด หรือทำการอย่างใด
ในด้านของทาน...
ถ้าเห็นคนน่าสงสาร
คุณอยากช่วยเหลือหรือดูดาย
ในด้านของศีล...
ถ้ามีใครมาทำให้เจ็บใจ
คุณอยากทำร้ายตอบหรือหาทางญาติดีต่อกัน
ถ้ามีโอกาสโกงหรือหยิบฉวยของต้องตาโดยเจ้าของทรัพย์ไม่รู้
คุณอยากฉวยมาหรือยั้งมือยั้งไม้เอาไว้
ถ้าถูกใจคนมีเจ้าของแล้วเขาเล่นด้วย
คุณอยากตามใจหรือห้ามใจตัวเอง
ถ้าจะเสียหน้ากับการพูดความจริง
คุณจะเลือกโกหกหรือเปิดเผยตรงไปตรงมา
ถ้าจะต้องเมาหัวราน้ำเพื่อให้ได้คบเพื่อน
คุณจะเลือกเพื่อนผู้ทุศีลหรือเลือกศีลก่อนกัน

ทั้งมโนกรรม วจีกรรม และกายกรรมที่ทำไว้โดยมาก
หากเป็นไปในทางดี มีแนวโน้มในการให้ทานและรักษาศีล
น้ำหนักบุญก็มากและมีโอกาสให้ผลสูง
แม้ว่าผู้ตายจะไม่นึกถึงอะไร
ความสบายใจก็จะปรากฏชัด
ยังผลให้เกิดสภาพจิตสว่างรุ่งเรือง
ประกอบด้วยโสมนัส ไม่ห่วง ไม่กังวล และไม่กลัวใดๆ

แต่หากเป็นไปในทางร้าย คุณมีแนวโน้มจะตระหนี่ แล้งน้ำใจ
กับทั้งไม่สนเรื่องศีลเรื่องธรรม สนแต่ความอยากเฉพาะหน้า
น้ำหนักบาปก็ล้นและมีโอกาสให้ผลก่อน
อันนี้ต่อให้ผู้ตายพยายามมานึกถึงพระถึงเจ้า
ม่านหมอกอกุศลที่หนาทึบก็จะมากั้นไว้ไม่ให้นึกได้ออก
นี่ก็เป็นโอกาสสำรวจตัวเองระหว่างมีชีวิต
ว่าจิตของคุณแห้งแล้งด้วยทุจริตกรรมขนาดไหน

นอกจากอาจิณณกรรมแล้วก็ยังมี "อาสันนกรรม"
ซึ่งทางฝ่ายอภิธรรมนิยามไว้ให้เข้าใจง่ายๆว่า
เป็นกรรมทางกายหรือวาจาที่กระทำขณะใกล้จะตาย
หรือเป็นกรรมทางใจ เช่น ระลึกนึกถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ที่เคยประกอบไว้ก่อน ถ้านึกได้ชัด
ยึดพื้นที่จิตได้เต็มๆ ก็อาจมีพลังเกินอาจิณณกรรมไม่ยาก

ตัวอย่างของอาสันนกรรมที่เข้าใจง่ายก็เช่น
พรานล่าสัตว์กระโดดลงไปช่วยเพื่อนที่กำลังจะจมน้ำ
แต่ช่วยไม่สำเร็จ ตัวเองพลอยตายจมหายตายไปด้วย
กรรมที่ทำล่าสุดจึงเป็นการลงมือช่วยชีวิตมนุษย์
จิตดวงท้ายๆมุ่งแต่จะช่วยคนอื่น ไม่ห่วงตัวเอง
จัดเป็นมหากุศลที่ยิ่งใหญ่
แม้จะเคยฆ่าสัตว์ตัดชีวิตไว้ก่อนหน้านี้โดยอาชีพ
พลังของอาสันนกรรมก็ชนะ ได้ไปดีก่อนไปร้าย
ส่วนจะดีได้นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหนุนด้านดี
ถ้าเคยทำดีกับพ่อแม่ไว้มาก
เคยเอื้อเฟื้อเจือจานเพื่อนบ้านไว้มาก
แบบนี้ก็ได้ดีนานหน่อย

ตัวอย่างในทางตรงข้ามที่อาจพอทำให้เห็นภาพได้ชัด
ก็เช่นผู้โดยสารเครื่องบินใจบุญ เคยสร้างวัดสร้างวา
เมื่อได้ยินกับหูว่ากัปตันบอกให้เตรียมตัว เครื่องบินจะตก
ก็ไม่สามารถกระทำกรรมทางกายหรือวาจาใดๆ
เพราะใครต่อใครรอบด้านเอาแต่ตัวสั่นงันงก
นึกถึงพ่อแก้วแม่แก้วกันหมด
เลยต้องมานึกถึงอะไรดีๆเฉพาะตัวบ้าง
ซึ่งการจะมานึกแบบตระหนกตกตื่นเอาช่วงวินาทีท้ายๆนั้น
มันนึกไม่ออก ปากได้แต่ท่องไป
แต่ใจไม่มีกำลังมากพอจะหน่วงนึกถึงนิมิตใดนิมิตหนึ่งได้ไหว
จิตยึดความน่ากลัวของสถานการณ์ร้ายเฉพาะหน้า
พอจิตสุดท้ายดับ พลังความตระหนกอกสั่นนั้น
เลยบันดาลให้จิตวิญญาณมีสภาพแส่ส่ายขนพองสยองเกล้า
กลายเป็นเปรตเฝ้าเครื่องไป
ถ้าอาจิณณกรรมฝ่ายดีมาช่วย เช่นระลึกได้ว่าเคยสร้างวัดไว้
ก็อาจเป็นเปรตอายุสั้น แค่ไม่กี่วันก็เปลี่ยนสภาพ
จิตปฏิวัติตัวเลื่อนชั้น พ้นจากสภาพเปรตไปเสียได้

แต่ถ้าไม่เคยทำบุญใหญ่ๆไว้บ่อยพอ
แถมอาจิณณกรรมฝ่ายชั่วมาซ้ำเติม
ก็อาจเป็นเปรตอายุยืน เฝ้าเครื่องเป็นสิบเป็นร้อยปี
หรือหนักกว่านั้นจิตก็ปฏิวัติตัวเอง ตีลังกาควงสว่านลงนรกไปเลย

นอกจากอาจิณณกรรมและอาสันนกรรมแล้ว
ยังมี "ครุกรรม" ซึ่งแปลตรงตัวว่า "กรรมหนัก"
กรรมประเภทนี้ได้อภิสิทธิ์ลัดคิวก่อนกรรมประเภทอื่น
กรรมหนักจะไม่เป็นสาธารณะแก่คนทั่วไป
ฝ่ายบุญต้องบุญหนักขนาดทำสมาธิได้ฌาน
ฝ่ายบาปต้องบาปสาหัสขนาดฆ่าพ่อฆ่าแม่ได้
หรือมีโอกาสฆ่าพระอรหันต์ได้
หรือมีโอกาสทำพระพุทธเจ้าห้อเลือดได้
หรือเป็นภิกษุที่ทำให้หมู่สงฆ์ในเขตพำนักเดียวกันแตกแยกได้

หมายความว่าถ้าใครได้ฌาน ต่อให้เคยผิดศีลผิดธรรมมามาก
แต่กลับเนื้อกลับตัวมาทำทาน รักษาศีล บำเพ็ญตบะทัน
จิตเข้าถึงความเป็นหนึ่งดุจดวงอาทิตย์ได้
ก็ไปเป็นพรหมก่อน
ส่วนถ้าใครพลาดไปฆ่าพ่อฆ่าแม่
ต่อให้เคยทำดีระดับอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา
จิตก็ถูกหลุมดำแห่งวิบากหนักเอาตัวไปอบายภูมิก่อน
ไม่มีสิทธิ์รวมจิตนึกถึงนิมิตกุศล
ไม่มีสิทธิ์ผนึกจิตถึงฌานได้ ปิดกั้นสวรรค์และนิพพานสิ้นเชิง

นอกจากครุกรรม ยังมี "กตัตตากรรม"
หมายถึงกรรมสักแต่ว่าทำไปโดยไม่มีเจตนาหนักแน่น
ซึ่งก็ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับคนทั่วไปอีกเช่นกัน
เจ้าของกรรมประเภทนี้จะเป็นพวกใครว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน
ไม่ค่อยมีดำริของตัวเองไปในทางบุญหรือทางบาปชัดเจน
พูดง่ายๆว่าบุญกับบาปมีกำลังอ่อน รวนเรกลับไปกลับมาง่าย
ก่อนตายจึงอาจเป๋ไปในทางใดทางหนึ่งแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้

ตัวอย่างก็เช่นตอนเป็นเด็กผู้ใหญ่เคยให้ท่อง "พุทโธ พุทโธ พุทโธ"
ก็ท่องไปอย่างนั้นเอง ไม่มีใจยินดี ไม่มีความตั้งใจ
แต่ก่อนตายเกิดจับพลัดจับผลู คำว่า "พุทโธ" ผุดขึ้นมาในหัว
ทั้งที่ไม่ได้ท่องมาตั้งหลายปีดีดักแล้ว
คำว่าพุทโธเลยจุดชนวนให้นึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมาได้
เมื่อนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันสุกสว่างเป็นแสงนำใจได้
จิตก่อนตายเลยศักดิ์สิทธิ์และสว่างตาม
ได้ไปดีทั้งที่แทบไม่ลงทุนลงแรงเหมือนเจ้าอื่นเขา

ว่ากันถึงการเตรียมตัวตายหรือมรณสติแบบพุทธนั้น
มีประโยชน์อย่างไร
จะเป็นการช่วยให้เกิดอาสันนกรรมฝ่ายดีได้ทันกระนั้นหรือ
คำตอบคือ ถ้าผู้ใดเจริญมรณสติเป็นประจำแล้ว
ก็จัดเป็น "อาจิณณกรรม" ครับ ไม่ใช่เป็น "อาสันนกรรม"
และยิ่งไม่ใช่ "กตัตตากรรม" ที่มาแบบฟลุกๆด้วย
ทุกอย่างเป็นไปอย่างมีทิศทาง มีความชัดเจน
เผลอๆอาจมีสิทธิ์ได้เข้าขั้น "ครุกรรม"
เพราะจิตชินกับการนึกถึงสิ่งดีๆ
จนกลายเป็นฌานก่อนตายไปเสียอีก
เพราะได้พลังหนักแน่นของจิตก่อนตายมาช่วย

อย่างเช่นนะครับ เราๆท่านๆ คนธรรมดานี้แหละ
ถ้าระหว่างวันนึกสมมุติบ่อยๆว่าถ้าต้องตายกะทันหัน
จะให้ใจไปจับยึดสิ่งใดเป็นสรณะ
แล้วตัดสินใจว่าจะยึดพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องระลึก
เพราะนึกออก บอกถูก จากการอ่านพุทธพจน์มา
จนซาบซึ้งและอุ่นใจเหมือนอยู่ในอุ้งหัตถ์คุ้มครองของพระองค์ท่าน
อันนั้นก็เรียกว่าซ้อมมรณสติแบบมีพุทธานุสสติเป็นเครื่องประกัน

แต่ถ้าใครเป็นนักเจริญสติ
ระลึกถึงกายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยงบ่อยๆ
เคยผ่านประสบการณ์เห็นกายใจไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวตน
กับทั้งไม่ปรารถนาภพภูมิอื่น
ก็อาจตัดสินใจไว้เด็ดขาด
และซ้อมบ่อยๆว่าถ้าต้องตายเดี๋ยวนี้
เราจะไม่นึกถึงสิ่งอื่น นอกจากพิจารณากายใจว่าไม่เที่ยง
เป็นสภาพธรรมอันไร้บุคคล และกำลังจะแตกดับไป
แบบนี้ก็เรียกว่าอานาปานสติ กายคตาสติ หรือธรรมานุสติ
สุดแล้วแต่ใครจะตกผลึกมาทางไหน

การซักซ้อมไว้ก่อน มีมรณานุสติไว้เป็นเครื่องระลึก
จะเป็นอาจิณณกรรมที่ทำให้ไม่ประมาท
และความไม่ประมาทนั้นเอง ย่อมช่วยให้จิตตื่นเป็นกุศลอยู่เนืองๆ
กับทั้งมีแก่ใจประกอบกรรมที่ตนถนัด
จะเป็นในระดับของทาน ศีล หรือภาวนาก็ตาม
ให้เติบกล้ายิ่งๆขึ้นไป ไม่ใช่หวังไปนึกเอาแบบงูๆปลาๆก่อนตาย

และขอให้ทำความเข้าใจซ้ำอีกทีว่าซ้อมไว้ก่อนเป็นมงคล ไม่ใช่อัปมงคล
เพราะการซ้อมจนขึ้นใจจะก่อให้เกิดความชินทางจิตแบบหนึ่ง
ตอบโต้สถานการณ์เจียนอยู่เจียนไปได้เอง
โดยไม่ต้องผ่านการเค้นคิดหรือฝืนนึกเอาฝืดๆ
แตกต่างจากการไม่ซ้อมไว้ ย่อมเป็นเหตุให้เกิดความประมาท
เข้าใจว่าตัวเองจะคิดอะไรได้ตามใจชอบไปอีกนาน
พูดอะไรได้ตามใจชอบไปอีกนาน
และทำอะไรได้ตามใจชอบไปอีกนาน
จิตจึงกวัดแกว่ง ไม่แน่ว่าจะยึดสิ่งใดไว้เป็นสรณะในวาระสุดท้าย
เสี่ยงกับการคิดไม่ดี โดยเฉพาะถ้าเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น

การซ้อมเจริญมรณสตินั้น เพื่อจะให้ได้ผลจริงแล้ว
ในคนทั่วไปควรหมั่นระลึกอยู่เรื่อยๆไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
จิตจึงคุ้นแล้ว "ทำงานอัตโนมัติ" โดยไม่ผ่านการฝืนคิดได้
ทำนองเดียวกับตำรวจหรือทหารบางหน่วย
ที่ถูกฝึกให้คว้าอาวุธขึ้นสู้แบบฉับพลันทันทีโดยไม่มีการรีรอ
อันนั้นก็ต้องใช้เวลาแรมเดือนแรมปีเหมือนกันกว่าจะทำคะแนนผ่าน

เป็นพุทธให้คุ้ม มีศรัทธาในสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน
เอามาทำให้เกิดผลจริง แล้วจะรู้ว่า "มาสว่าง ไปสว่าง" เป็นอย่างไร

ดังตฤณ
เมษายน ๕๔

--------------------------------------------------------------------------------------------------

เรื่องน่าสนใจประจำฉบับ

มีบางคนกล่าวว่าปฏิบัติธรรมแล้วช่วยลดกรรมเก่าที่ไม่ดีได้
เรื่องนี้เท็จจริงประการใด "คุณดังตฤณ" ตอบไว้อย่างน่าสนใจ
ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ"
ตอน "การปฏิบัติธรรมจะช่วยลดวิบากกรรมไม่ดีได้ไหม"

ถ้ารู้ว่ามีเวลาเหลือแค่ไม่ถึงนาที คุณจะทำยังไง
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ธนาคารความสุข"
ที่ฉบับนี้ "คุณ aston27" นำแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Source Code
มาเสนอในตอน "แปดนาทีของชีวิต" (^__^)

ทำอย่างไรจะใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและจากลาโลกนี้ไปด้วยความสุข
คอลัมน์ "สัพเพเหระธรรม" ตอน "ต้องรอไปถึงเมื่อไร"
โดย "คุณสิริภาริน" มีคำตอบให้ค่ะ ; )

--------------------------------------------------------------------------------------------------

พบกันใหม่พฤหัสหน้า
ที่ www.dlitemag.com นะคะ
สวัสดีค่ะ (^__^)