Print

จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๔๕๒

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

 

 

 

รวยอย่างสบายใจ

 

editor452

 

 

 

ทำกรรมอะไรมาถึงรวยเป็นพิเศษ

คำตอบตรงตัวคือ

ทำกรรมด้วยอาการเผื่อแผ่

มีใจที่กว้าง

เป็นไปในทางช่วยเหลือผู้อื่นเป็นพิเศษ

และบ่อยครั้งกว่าคนทั่วไป

 

แต่อย่างไรก็ตาม

อย่าไปคาดหวังว่า

จะรวยขึ้นกว่าเดิมเป็นสิบเป็นร้อยเท่า

เพราะกรรมเก่า ขีดเส้นมาแล้วว่า

ชาตินี้คุณมีสิทธิ์รวยได้ประมาณไหน

ไม่เกินพิกัดเท่าใด

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

 

การให้ทานที่หวังผลได้ในปัจจุบัน

คือ ยิ่งให้เท่าไร ยิ่งเห็นชัดว่า

ชาตินี้รวยน้ำใจขึ้นเท่านั้น

และถ้าน้ำใจมาก

น้ำหนักความสุขก็จะเพิ่มขึ้น

อย่างเป็นสัดเป็นส่วนตามกัน

 

ถ้าจะตั้งความหวังเกี่ยวกับความมั่งคั่ง

อันงอกเงยจากผลของทาน

ก็ขอให้คิดอย่างนี้ว่า

น้ำใจเป็นสิ่งที่เพิ่มได้ไม่จำกัด

และนั่นก็จะเป็นเหตุให้ชาติถัดไป

รวยได้ไม่จำกัดเช่นกัน

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

 

เราควรมาดูว่า

พระพุทธเจ้าตรัสแนะวิธีทำทาน

ให้ได้ผลใหญ่ไว้อย่างไร

แต่ละข้อต่อไปนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ล้วนส่งเสริมให้ได้ใช้ชีวิต

บนกองเงินกองทองทั้งสิ้น

 

๑. ให้ทานด้วยความศรัทธา

คือ รู้สึกดี

ให้เพราะอยากให้ และให้สำเร็จ

กับทั้งเชื่อมั่นว่าเมื่อให้แล้ว

มีความสุขในปัจจุบัน

ผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ถ้าจะมี ก็ต้องเป็นสุขเช่นกัน

 

๒. ให้ด้วยความเคารพ

คือ มีความรู้สึกอยู่ว่า

การทำทานเป็นของสูง ไม่ใช่ของต่ำ

จึงไม่ควรโยนให้ หรือเสือกไสให้

เหมือนเป็นของเหลือเดน

การถวายทานแด่สงฆ์ จัดเป็นการฝึกใจ

ให้ทำทานด้วยความเคารพได้อย่างดี

เพราะรู้สึกอยู่ว่าท่านใช้ชีวิตที่สะอาดสูงส่งกว่าเรา

 

๓. ให้โดยกาลอันควร

คือ ให้อย่างรู้จักความเหมาะสม

กับสถานการณ์ในเวลาหนึ่งๆ

เช่น เมื่อเห็นพระตาแดง

ก็ขวนขวายเป็นธุระหายาหยอดตามาให้ท่าน

เห็นวัดมีทางโคจรของพระที่เฉอะแฉะ

ก็ร่วมแรงร่วมใจกันทำทางให้แห้ง

หรือเทปูนให้พวกท่าน เป็นต้น

 

๔. ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์

คือ ให้ด้วยความปรารถนา

จะช่วยให้ผู้รับเกิดประโยชน์

หรือผ่อนหนักเป็นเบาให้กับเขาอย่างแท้จริง

จิตที่คิดให้ด้วยความอนุเคราะห์

จะช่วยให้เราเกิดใหม่เป็นคนรวยอย่างมีรสนิยม

รู้จักเลือกหา

รู้จักแต่งเติมชีวิตให้เลิศสุขยิ่งๆขึ้นไป

ไม่ใช่เงินเก็บเยอะ แต่บ้านช่องดูแย่มาก

 

๕. ให้โดยไม่กระทบตนและคนอื่น

คือ ให้โดยไม่ประชด

ให้โดยไม่แข่งขันชิงดี

ให้โดยไม่คิดเอาหน้าเกินใคร

บางคนทำบุญแบบเกทับกัน

เห็นเขาออกก่อนห้าร้อย

เลยรีบหยิบแบงก์พันขึ้นมาสู้

จิตมีอาการคิดเบ่ง

คิดทำให้เขาเสียหน้าหรือน้อยหน้า

นี่เรียกว่า ให้แบบกระทบผู้อื่น

แต่ถ้าให้ในแบบที่ช่วยให้ทุกคนสบายใจ

ถึงเวลาที่ บุญเผล็ดผล ก็จะรวยอย่างสบายใจ

ไม่ถูกความรวยรบกวนจิตใจมาก!

 

 

ดังตฤณ

มีนาคม ๖๗