Print

จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๔๓๓

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

 

 

 

เข้าใจอนัตตาในตนเอง

 

editor433

 

 

ยามโกรธ อาจเกิดแรงขับดันร้อนๆให้วู่วาม

บงการให้พูดอย่างไม่น่าจะพูด

บงการให้คิดอะไร

ที่อาจไม่เคยคิดมาก่อนเลย

 

อย่าเพิ่งเชื่อว่าคุณคิดอย่างนั้นจริง

จนกว่าอารมณ์จะสงบลง

แล้วค่อยคิดอย่างนั้นใหม่

ถ้าย้ำคิดแล้วยังรู้สึกว่าใช่

จึงค่อยเชื่อว่านั่นเป็นความคิดของคุณจริงๆ

 

แต่ยามโกรธเช่นกัน

อาจเกิดแรงกดดันสุดท้าย

ให้หมดความยับยั้งชั่งใจ

โพล่งพูดในสิ่งที่คิดไว้นานแล้ว แต่แอบซ่อนไว้

เปิดโปง ‘ตัวจริง เสียงจริง’ ของคนพูด

โพล่งพูดทีเดียวจะซ่อนไม่ได้อีกเลยตลอดไป

 

โกรธ แล้วรอพูดตอนหายโกรธได้

ถือเป็นเบสิกหนึ่งของการเจริญสติ!

 

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

 

#ระงับปากเพื่อให้รู้ทันหน้าตาของจิตโกรธ

 

หนึ่งในแม่บทมาตรฐานของการเจริญสติ

คือรู้ให้ทันว่า จิตมีความโกรธเป็นอย่างไร

แตกต่างจากจิตไม่มีความโกรธอย่างไร

 

และเพื่อจะเห็นว่า

หน้าตาของจิตที่มีความโกรธเป็นอย่างไร

ก่อนอื่นต้องไม่ให้มันเลอะเลือนไปด้วย ‘วจีกรรม’

กล่าวคือ ถ้าโกรธแล้วโพล่งด่าเลย

มีข้ออ้างต่างๆนานา ประเภทเรื่องนี้ยอมไม่ได้

เรื่องนี้เจริญสติไม่ไหว ยังไงต้องเล่นงานมันก่อน

ยิ่งอ้าง โทสะยิ่งเจริญ ไม่ใช่สติเจริญ

มองไม่เห็นความเคลื่อนไหวที่ผันผวนของจิต

ไม่เท่าทันเลยว่าการปรุงแต่งทางจิตเกิดดับตอนไหน

 

.. .. .. .. .. .. .. .. .. ..

 

#เข้าใจอนัตตาในตนเองดีขึ้น

#ถือสาอนัตตาในคนอื่นน้อยลง

 

ต่อเมื่อฝึกที่จะระงับปาก

ขณะพลุ่งพล่านอยากด่า อยากสวน

รู้จักรอให้เย็น

แล้วค่อยแปรอารมณ์เย็นๆเป็นคำพูด

คุณจะมีช่วงเวลาหนึ่ง ระว่างร้อนกับเย็น

รู้จักความต่าง

ระหว่างใจด่วนด่า กับใจรู้จังหวะพูด

ระหว่างด่าด้วยไฟ กับพูดด้วยน้ำ

ระหว่างด่าเพื่อสะใจหายแค้น กับพูดเพื่อหวังผลดี

 

เมื่อสังเกตตนเองอยู่

เห็นความคิดที่ต่างไป

ระหว่างยามโกรธกับยามปกติ

คุณจะเข้าใจอนัตตาในตนเองดีขึ้น

และ..ถือสาอนัตตาในคนอื่นน้อยลง!

เมื่อมีความกดดันให้คุณคิดวูบเดียวได้

ก็มีความกดดันให้คนอื่นคิดวูบเดียวได้

เมื่อมีเหตุให้คุณแอบซ่อนความคิดได้

ก็มีเหตุให้คนอื่นก็แอบซ่อนความคิดได้

อย่าหวังให้ความคิดและคำพูดของใครเป็นดังใจคุณ

 

หากเบสิกดี ยั้งใจเป็น ระงับปากทัน

รอจนหายโกรธแล้วค่อยพูด

พอไปบวกกับความเข้าใจคอนเซ็ปต์

ในการเจริญสติของพระพุทธเจ้า

ที่ท่านให้ดูความต่างทางกายใจ

ก็จะรู้สึกเป็นเรื่องง่าย

รู้จักเหตุผลกลไกของการปรุงแต่งทางใจ

เห็นต่อยอดได้ละเอียดขึ้นเรื่อยๆวันต่อวัน!

 

ดังตฤณ

กรกฎาคม ๖๖