Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๔๑๒

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

 

 

 

เหตุที่ทำให้สติเจริญขึ้น

 

 

editor412

 

ไม่ว่าจะเป็นของ

ไม่ว่าจะเป็นคน

ไม่ว่าจะเป็นงาน

ถ้าเป็นเหตุให้ทุกข์เท่าเดิม

อยู่ๆไปพักหนึ่งคุณจะชิน

เหมือนเสียงรบกวนที่คงเส้นคงวา

ได้ยินไปนานๆ

สมองจะคัด ส่วนที่รบกวน

ออกจากการรับรู้ไปเอง

แม้ส่งเสียงอยู่ แต่ก็เหมือนไม่ได้ยิน

นี่เป็นกลไกธรรมชาติ

ที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่รอดได้

โดยไม่เป็นบ้าตายเสียก่อน

ภายใต้สภาพการณ์แย่ๆ

 

แต่ถ้าเสียงรบกวนดังกล่าว

อยู่ๆดังโด่งขึ้นมากระตุ้นโสตประสาท

พักหนึ่งแล้วแผ่วหายไป

เสร็จแล้วแผดแหลมขึ้นมาแสบแก้วหู

เป็นนานกว่าจะหายไป

จากนั้นกระหึ่มสะเทือนอัดบ้องหู

นานเหมือนจะไม่หยุด กว่าจะหายไปได้

แบบนี้ร่างกายและจิตใจของคุณจะไม่ปรับตัว

นับวันสุขภาพจิตจะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ

เหตุเพราะทุกครั้งที่เสียงอันเป็นพิษกระทบหู

จะเกิดความทุกข์ใหม่ๆไม่ซ้ำหน้า

เพิ่มความอึดอัด สะสมแรงดัน

จนถึงจุดหนึ่งเหมือนลูกโป่งใกล้ระเบิด

 

เมื่อเข้าใจหลักการนี้

ก็จะแยกแยะออกว่า

แม้แต่การเจริญสติ

ก็ไม่ใช่เจริญได้ทุกสภาพการณ์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

ภายใต้สภาพการณ์ที่สติของคุณ

ยังไม่แข็งพอที่จะต้านทาน

แม้พระพุทธเจ้าก็ตรัสกับเหล่าภิกษุสาวกว่า

หากเจริญสติถูกทางแล้ว

แต่อยู่ที่ไหนแล้วเป็นสุขเกินไป

ไม่เป็นเหตุให้สติเจริญขึ้น ก็หลีกออกมาเสีย

อยู่ที่ไหนแล้วเป็นทุกข์เกินไป

ไม่เป็นเหตุให้สติเจริญขึ้น ก็หลีกออกมาด้วย

ท่านไม่ได้ส่งเสริมให้ทนๆๆไม่มีที่สิ้นสุด

แล้วหวังว่าเดี๋ยวสติจะเจริญขึ้นได้เอง

 

สิ่งที่ต้องทำไว้ในใจ คือ

ถ้าเจอกระทบอันเป็นทุกข์นิดหน่อยแล้วถอยทันที

ไม่อาศัยเป็นบทเรียนดูปฏิกิริยาทางใจ

ที่แรงขึ้นมา แล้วแผ่วลงไป บ้างเลย

จะเอาแต่เครื่องประโลมสัมผัสที่น่าพอใจ

เช่นนี้ ในทางธรรม สติก็ไม่มีทางเจริญ

เพราะจะขาดสติ เคลิ้มนึกไปว่าโลกนี้น่าอภิรมย์

ส่วนในทางโลก ความเข้มแข็งก็ไม่มีทางเกิด

เพราะเป็นผู้ขาดขันติ

อะไรนิดอะไรหน่อยก็ทนไม่ได้ไปหมด

 

ในทางกลับกัน

หากเจอกระทบอันเป็นทุกข์เพิ่มขึ้นๆไม่สิ้นสุด

แล้วไม่หาทางเลี่ยง หรือไม่คิดตัดต้นตอ

เข้าใจว่าการเจริญสติ คือการฝึกทนทู่ซี้ไปเรื่อยๆ

อันนี้ในที่สุดโรคประสาทก็ถามหาเอาง่ายๆเหมือนกัน

การทึกทักของคนส่วนใหญ่จะออกแนว

แน่จริงต้องทนได้ทุกอย่าง ฝึกได้ทุกที่

ทำไม่ได้แปลว่าไม่เก่ง หรือยังฝึกไม่พอ

ที่แท้แล้วทั้งหลายทั้งปวงคือ

ยังไม่เข้าใจให้ดีพอต่างหาก!

 

 

ดังตฤณ

กันยายน ๖๕