Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๓๘๗

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

 

 

เจริญอานาปานสติ

        editor387

เมื่อเจริญอานาปานสติ

จนเข้าสมาธิได้เป็นปกติ

กับทั้งมีความเข้าใจชัดว่า

ขึ้นต้นนึกถึงลมหายใจเข้าออก (วิตักกะ)

นึกถึงไปนานๆจนเกิดอาการจิตแนบกับลม (วิจาระ)

คุณจะเห็นกระจ่างว่าวิตักกะกับวิจาระ

เกิดขึ้นในระหว่างวันกับสิ่งใดก็ได้

 

เช่น อ่านหนังสือแบบใจจดใจจ่อ

กับข้อความบนกระดาษอย่างเดียวไม่วอกแวก

หรือตื่นเช้ามาด้วยความคึกคัก

นึกถึงงานสนุกที่ทำค้างไว้เมื่อคืน

แล้วคิดได้เป็นฉากๆว่าจะทำอย่างไรต่อ

ไม่คิดถึงเรื่องอื่นเลยตลอดการอาบน้ำ

 

สมาธิแบบโลกๆจะหัวยุ่งขึ้นเรื่อยๆ

เพราะสมองส่วนหน้าทำงานคิดๆไม่หยุด

ขณะที่สมาธิในการภาวนา

ในหัวจะเงียบสงบจากความคิดลงเรื่อยๆ

เพราะสมองช่วงครึ่งหลังทำงานดีขึ้นเรื่อยๆ

นั่นคือความแตกต่างที่เป็นข้อสังเกตหลักๆ

 

อย่างไรก็ตาม

หากตื่นมาแล้วใจจดจ่อกับงานได้อย่างคึกคัก

มีเป้าหมาย มีขั้นตอนเข้าถึงเป้าหมายชัดเจน

ก็เพิ่มกำลังให้กับจิต

เมื่อจับจุดถูกว่าจะเปลี่ยนโฟกัสในงานโลกๆ

ให้กลายเป็นโฟกัสลมหายใจได้อย่างไร

แต่ละลมหายใจจะเหมือนกับงานย่อยๆ

แบบเดียวกับที่ตลอดทั้งวัน

คุณแบ่งเวลาออกเป็นช่วงย่อยๆ

ให้กับเป้าหมายเล็กๆ

เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายใหญ่ๆนั่นเอง

 

ถ้าขี้เกียจ ถ้าจิตใจเลื่อนลอย

ตื่นเช้าไร้เป้าหมาย

ไร้ความคึกคักที่จะลุกขึ้นมาทำงานทำการ

และขณะทำงานทำการ

ก็ทำแบบซังกะตาย เบื่อหน่าย อยากหนีไปบวช

นานไปจิตจะขาดโฟกัส

หรือเมื่อโฟกัสอะไรได้

ก็หน่วงงานนั้นไว้กับใจไม่ได้นาน

ถึงไปบวชก็ต้องสึกในไม่ช้า

เพราะในที่สุดก็ไปนั่งๆนอนๆ

ทำสมาธิไม่เป็น

เบื่อสุดเบื่อ ได้นรกทางใจไปอีกแบบ

 

เมื่อคิดเอาดีทางสมาธิ

อย่าตั้งคำถามประเภท

จะเอาดีทางโลกหรือทางธรรมกันแน่

เพราะในความเป็นจริง

ถ้ายกระดับคุณภาพจิตให้ดีได้

คุณก็ดีขึ้นทั้งทางโลกและทางธรรมอยู่แล้ว

การปล่อยวางทางธรรม

ไม่ใช่การปล่อยปละทางโลก

อย่างที่หลายๆคนทึกทักเอาเอง

ตรงข้าม เมื่อเกิดสมาธิดีๆ

คุณจะมีกำลังโฟกัส

กับงานแบบโลกๆอย่างเหลือเฟือ!

 

ดังตฤณ

กันยายน ๖๔