Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๓๗๔

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อานาปานสติ

    editor374

 

 

ในอานาปานสติสูตร

พระพุทธเจ้าตรัสให้ผู้ฝึกเข้าที่วิเวก

แล้วนั่งคู้บัลลังก์ (งอเข่าซ้อนกัน)

ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า

(ไม่ได้กะเกณฑ์ให้วางมือซ้อนมือ

ซึ่งอาจทำให้หลายคนไหล่ห่อ หายใจติดขัด)

จากนั้นจึงให้มีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

(รู้ลมออกก่อน ร่างกายผ่อนคลาย

กว่าที่จะเกร็งตัวหายใจเข้า)

 

หากใครทำตามนั้น

ก็จะทราบว่า

การนั่งคอตั้งหลังตรง

ทำให้รู้อิริยาบถนั่งเป็นหลักตั้ง

จากนั้นจึงค่อยรู้ว่า

ร่างนั่งนั้น ถึงจังหวะลากลมเข้า

หรือระบายลมออก

 

หากลองผิดลองถูกนานปี

ทั้งแบบขึ้นต้นมา

จ้องเอาจ้องเอา

กับทั้งแบบมีสติรู้อิริยาบถก่อน

จะพบว่า จุดตั้งต้นสำคัญมาก

แทบเรียกได้ว่าถ้าตั้งต้นผิด

จิตก็ผิดแต่แรก

 

คนเราเมื่อถูกสั่งให้รู้ลมหายใจ

ก็จะมีอัตโนมัติผิดๆเหมือนๆกันหมด

คือ ทุ่มจิตเข้าใส่ลมหายใจดื้อๆ

หรือจี้ใจเข้ารู้จุดกระทบคับแคบ

จึงยากที่จิตจะเปิดกว้างและตั้งเต็ม

 

ในอิริยาบถทั่วไป

เพื่อรู้ความเป็นกาย

ที่คอตั้งหลังตรงทั่วพร้อม

อุบายง่ายๆ แค่สำรวจว่า

ฝ่าเท้าเกร็งไหม

ฝ่ามือกำไหม

ทั่วใบหน้าตึงไหม

 

คุณจะพบว่า เมื่อสามจุดนี้ผ่อนคลาย

จะเกิดความสบายทั่วร่าง

และรับรู้อิริยาบถ

ในท่าที่กำลังเป็นอยู่

เต็มตัวขึ้นมาชั่วขณะหนึ่ง

อย่างน้อยเป็นชั่วขณะ

ที่นานพอจะเริ่มมีสติ

รู้ลมเข้าออกอย่างถูกต้องได้

 

รู้อย่างถูกต้องนานไป

ใจก็นิ่ง

เหมือนสามารถเห็นได้ง่ายๆว่า

ความฟุ้งซ่านเหมือนน้ำขุ่น

ที่ถูกเขย่าอยู่ในแก้ว

ไม่เห็นต้องเดือดเนื้อร้อนใจ

พอเลิกเขย่า ก็สงบนิ่ง ใสสะอาด

ไม่เห็นต้องดีใจ

 

ที่ตรงนั้น

คุณค่อยเข้าถึงเป้าของอานาปานสติ

คือ เห็นว่าลมหายใจเข้าออกไม่เที่ยง

เข้าแล้วต้องออก ออกแล้วต้องเข้า

ไม่เคยซ้ำลมเดิม

แล้วสุขสงัดอันเกิดจาก

การระงับความกวัดแกว่งทางกายก็ไม่เที่ยง

กายผ่อนคลายไม่นานเดี๋ยวก็เกร็งใหม่

และแม้จิตสงบก็ไม่เที่ยง

เดี๋ยวเหมือนน้ำในแก้วถูกเขย่าใหม่

ตามรอบอันเป็นธรรมดาของจิตที่ยังไม่เสถียร

 

ถ้ารู้อิริยาบถถูก

จะตั้งจิตรู้สึกถึงลมหายใจถูก

และถ้ารู้ลมหายใจถูก

ก็จะรู้ไปถึงอิริยาบถด้วยเสมอ

รู้แบบนั้นแหละ

จะพาไปเห็นความไม่เที่ยง

ไม่ใช่ตัวตนของกายใจ!

 

ดังตฤณ

เมษายน ๖๔