Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๓๖๗

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

 

 

อิติปิโส

 

   editor367

 

เมื่อจะกล่าวว่า

บทสวดบทใดขลัง

บทสวดบทใดชุมนุมเทวดามาก

บทสวดบทใดไล่ผีได้ชะงัดนัก

คนส่วนใหญ่เชื่อคำร่ำลือ

เช่น ถ้าได้ผลดังใจ

ก็บอกว่าเด็ดขาดสมคำร่ำลือ

แต่ถ้าไม่ได้ผลขึ้นมา

ก็โทษว่าเพราะบทสวดไม่ศักดิ์สิทธิ์

ไม่โทษจิตผู้สวดว่าห่วย กิ๊กก๊อกแต่อย่างใด

 

เอาเป็นว่า

ถ้าอยู่ในย่านผีดุ

เจอหลอกเจอหลอน

แล้วจะหาคาถาแรงๆ

คนมักพากันนึกถึงบทยาวๆ

สวดดังๆ ฟังแล้วขนลุกขนชันกันตั้งแต่หัวจดเท้า

ไม่นึกถึงบทพื้นฐานที่สวดกันอยู่แล้วเช่นอิติปิโส

 

อิติปิโสมีความขลังตามจิตของผู้สวด

จิตของผู้สวดแบ่งได้เป็นสองชนิดหลักๆ

คือ สวดแล้วจิตมืด กับสวดแล้วจิตสว่าง

 

จิตมืด เกิดจากการหลับหูหลับตาสวด

ด้วยความฟุ้งซ่าน หวาดเกรง

เต็มไปด้วยโทสะแห่งความกลัว

หรือเต็มไปด้วยโลภะแห่งความจะเอาดังใจ

 

จิตสว่าง เกิดจากฐานของความเมตตา

เป็นผู้มีปกติให้ทาน

เป็นผู้มีปกติรักษาศีล

หรือให้สุดยอดคือเป็นผู้มีปกติเจริญสติภาวนา

เมื่อเปล่งวาจาสวด

ก็ไม่คิดอะไรมากกว่าถวายพร

ถวายคำสดุดีสรรเสริญด้วยอาการบูชาคารวะ

กระทั่งจิตรวมเป็นมหากุศลเต็มดวง

เหมือนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสียเอง

ด้วยอำนาจแห่งกุศลธรรมที่กลมกลืนกัน

เหมาะจะเป็นที่ประดิษฐานของพลังทางพุทธได้

 

แต่ถ้าตั้งจิตถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา

จนพลังเมตตาก่อตัวขึ้นเหมือนเกราะแก้ว

แผ่รัศมีสว่าง อบอุ่น ผ่องใส

สิ่งแรกที่เกิดขึ้น

คือ ความกลัวที่เกาะกุมจิตใจหายก่อน

เมื่อผีกลัวภายในหลุดกระเด็นได้เมื่อใด

ผีร้ายนอกตัวก็หลุดกระเด็นได้เมื่อนั้น

 

พูดง่ายๆ ถ้าไล่ ผีกลัวภายในจิตใจตัวเองได้

ก็ไล่ผีของจริงนอกตัวได้

 

สังเกตเถิด

สวดขอพร ขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องพิทักษ์

ความเห็นแก่ตัวไม่หายไปไหน

จิตไม่แผ่ ยังพร้อมหดด้วยอาการกลัว

จึงมืด ไม่เหมาะจะเปล่งอานุภาพของอิติปิโส

 

ต่างจากจิตที่สวดถวายพร

ขอสรรเสริญคุณวิเศษแห่งพระรัตนตรัย

ไม่ได้ตั้งใจขับไสไล่ส่งใคร

ลักษณะจิตจะแผ่ออกเป็นเมตตา

ซึ่งพลังที่ออกไปในลักษณะผูกมิตร

ย่อมยังจิตวิญญาณที่กร้าวกระด้างให้ใจอ่อนลง

อย่างที่หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

เคยกล่าวว่าที่อิติปิโสขลังนัก

ก็เพราะอานุภาพของบทสวด

ปรุงแต่งจิตผู้สวดให้เกิดเมตตา

แผ่เมตตาให้แล้วผีดุที่ไหนก็กลายเป็นมิตรหมด!

 

ดังตฤณ

ธันวาคม ๖๓