Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๓๖๓

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ผลแห่งอาจิณณกรรม 

 

   editor363

ถ้าคุณนั่งอยู่ในส้วมสาธารณะ

กำลังเล่นโทรศัพท์มือถือเพลิน

แล้วได้ยินเสียงเด็กร้องอยู่หน้าห้องว่า

ปวดอึ! ปวดอึ!

คุณนึกรู้ขึ้นมาทันทีว่าห้องน้ำเต็ม

ทุกประตูขึ้นป้าย ไม่ว่าง

จึงมีผลให้เด็กส่งเสียงร้อนรนเช่นนั้น



ปฏิกิริยาทางใจ ที่จะเกิดขึ้นได้ในคุณ

มีอยู่ ๓ อย่าง ได้แก่

๑) กุลีกุจอ รีบออกจากห้องน้ำเพื่อให้ที่แก่เด็ก

๒) เฉื่อยๆ เฉยๆ คิดว่าเดี๋ยวก็มีคนอื่นลุก คุณไม่ต้อง

๓) แค่นยิ้ม อยากได้ยินเด็กร้องว่า โอ๊ย! อึราดแล้ว!



เจอสถานการณ์ใด

แล้วจิตเกิดปฏิกิริยา

ลงมือโต้ตอบสถานการณ์นั้นทันใด

โดยไม่ลังเล ไม่ตริตรองคิดหน้าคิดหลัง

นั่นแหละ! สะท้อนถึงอาจิณณกรรม



อาจิณณกรรม คือ กรรมที่ทำเป็นประจำ

จนเกิดนิสัยหยั่งลงตั้งมั่น

อย่างน้อยก็เป็นเดือนๆ เป็นปีๆ

หรืออย่างมากคือตลอดชีวิต

เราจะเห็นอาจิณณกรรมสะท้อนออกมา

ด้วยการตัดสินใจฉับพลันทันทีที่มีเหตุกระตุ้น

โดยไม่มีการเลือกใหม่เป็นครั้งๆ



อย่างเช่นกรณีให้ที่ให้ทางบรรเทาทุกข์แก่ผู้อื่น

ผู้ใช้บริการส้วมสาธารณะ

ที่เห็นๆอยู่ว่ามีผู้รอใช้บริการกันชุกชุม

ส่วนใหญ่ต่างก็นั่งจ่อมก้น

เล่นมือถือตามสบาย

น้อยคนที่จะคำนึงว่ามีใครรอใช้บริการต่อหรือไม่



ต่างคนก็ต่างใจ

และที่ใจต่างกันก็ตามกรรมที่สะสมจนชิน

บางคนทนเห็นใครเดือดร้อนไม่ได้เลย

บางคนคิดว่าช่างมัน ไม่เกี่ยวกับฉัน

ขณะที่บางคน คึกขนาดเห็นเป็นเรื่องสนุก

มองความเจ็บปวดของคนอื่นเป็นเรื่องตลก

ขี้แกล้ง ชอบเป็นฝ่ายได้รังแกคน

แม้คนแปลกหน้าซึ่งไม่เคยทำอะไรให้



และเมื่อต่างจิตต่างใจ

พอกอาจิณณกรรมของตนจนหนาเตอะ

ก็จะเหมือนอยู่คนละโลก คนละมิติกัน

ซึ่งนั่นก็คือคนละภพ คนละภูมิ

มองกันด้วยความไม่เข้าใจ

ฝ่ายชอบช่วยคน

ก็จะมองพวกขี้แกล้งว่า

จิตใจทำด้วยอะไร

ทำไมถึงเห็นเป็นเรื่องเล่นอย่างนี้

ส่วนฝ่ายขี้แกล้ง

ก็จะมองพวกชอบช่วยคนว่า

คงโตมาในทุ่งดอกไม้

น่าโดนดีให้มันมือเรา



เริ่มต้นขึ้นมาไม่มีใครรู้ว่า

ผลแห่งกรรมมีจริงหรือไม่

ฉะนั้น เมื่อฟังเรื่องกรรมและวิบาก

จึงไม่แปลก หากจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง

หรือกระทั่งไม่เชื่อเลยแม้แต่นิดเดียว

ต่อให้ชี้ว่า ทุกคนกำลังเสวยผลกรรมอยู่เดี๋ยวนี้

ในร่างที่เกิดจากพ่อแม่คู่นี้

ทำให้เกิดการแตกต่างกัน

ราวฟ้ากับดินไปทั้งโลกอย่างนี้



แต่ถึงบรรทัดนี้

คุณรู้วิธี สำรวจกรรมหลักของตัวเองแล้ว

อย่างน้อยรู้ว่าอาจิณณกรรมมีจริง

แต่วิบากหรือผลแห่งอาจิณณกรรมนั้น

จะมีอยู่จริงหรือเปล่า

ถ้ามีจริงจะเข้าคิวให้ผลเร็วช้าปานใด

อันนั้นเป็น อจินไตย
คือ คิดคะเนด้วยจิตที่ฟุ้งซ่านไม่ได้

จะรู้แจ้งรู้จริงก็ต่อเมื่อมีจิตที่ทรงอภิญญา

สามารถชั่งตวงวัดน้ำหนักกรรมได้

เห็นนิมิตกรรมและนิมิตวิบากได้แจ่มชัด



ฉะนั้น ถ้าเลือกที่จะเป็นพุทธ

ก็ต้องอาศัยศรัทธาแบบพุทธเป็นหลักใจไว้ก่อน

นั่นคือ เลือกสะสมเจตนาดี

เท่ากับเลือกทางไปดี

เลือกสะสมเจตนาร้าย

เท่ากับเลือกทางไปร้าย



คติภพ หรือภาวะที่เหมาะสม

ย่อแล้วเหลือหลักๆแค่ ๒ ประเภท

คือ ภพแห่งความเกื้อกูล

และภพแห่งการกลั่นแกล้งซ้ำเติม

ยิ่งสำรวจเข้ามาในใจตน

เห็นอาจิณณกรรม

ตามสถานการณ์ต่างๆของตัวเองมากขึ้นเท่าไร

ใจจะยิ่งเกิดสัญชาตญาณรู้ขึ้นมาว่า

ถ้าต้องตายตอนนี้

คุณมีสิทธิ์ตีตั๋วไปอยู่แบบไหน

ในระหว่างแห่งภพดีร้ายเหล่านั้น!

 

 

ดังตฤณ

ตุลาคม ๖๓