Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๓๕๗

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

 

 

หาทางหายทุกข์

   editor357

 

มีหลายเรื่องในชีวิต

ที่เหมือนหมากปราบเซียน

ต่อให้เป็นผู้มีอายุ

ผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน

ก็ยากจะทำใจรับ

พอถูกกระทบจากเรื่องเดิมๆ

ก็ยังคงปวดแสบปวดร้อนอยู่วันยังค่ำ

 

คนมักหาสูตรสำเร็จในการทำใจ

นึกว่าควรมีอุบายทางความคิดสักอย่าง

ที่นำมาคิด นำมาเตือนสติ ณ จุดเกิดเหตุ

แล้วจะได้ผลเป็นความบรรเทา

เบาใจ หายทุกข์ได้เสมอ

 

ข้อเท็จจริง

คือ อารมณ์จะอยู่เหนือเหตุผลเสมอ

เพราะความรู้สึก

เป็นของที่ติดอยู่กับใจภายใน

กัดกินใจได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

ขณะที่ความคิด

เป็นของแปลกปลอมภายนอก

ที่ห่อหุ้มใจได้ชั่วครั้งชั่วคราว ๒-๓ นาที

 

หากจะเอาชนะความเจ็บปวด

กับเรื่องที่ไม่เคยทำใจได้

จึงต้องอาศัยสิ่งที่มีพลังเทียบเท่ากับอารมณ์

อันได้แก่สติแบบพุทธ

 

เริ่มขึ้นมา ให้ระลึกว่า

ที่คนเราผ่านทุกข์ใหญ่ๆไม่ได้

ก็เพราะเร่งจะออกจากทุกข์ทันที

พอออกไม่ได้ทันที

ใจก็ดิ้นเหมือนจะเป็นจะตายทันทีเช่นกัน

พูดง่ายๆ แทนที่จะดับทุกข์

กลับเพิ่มทุกข์

อันเกิดจากความอยากหายทุกข์

ซ้ำเติมเข้าไปอีก

 

ตัณหาเป็นต้นเหตุทุกข์

เมื่อเพิ่มตัณหาเข้าไป

ทุกข์มีแต่เพิ่ม ไม่ใช่ลด

 

เมื่อเกิดความเจ็บปวดใจ

แทนที่จะอยากหายเจ็บ

แทนที่จะเฟ้นหาความคิดดีๆมาปลอบตัวเอง

ให้ตั้งสติระลึกว่า

เมื่อเกิดทุกข์ ให้รู้ทุกข์

รู้ ณ จุดเกิดเหตุนั่นแหละ

อย่านึกเอาจากการนึกถึงทุกข์ที่ผ่านล่วงมาแล้ว

อย่าจินตนาการเอาจากทุกข์ที่ยังไม่เกิดขึ้น

รู้ทุกข์ก้อนโตๆที่บดบี้จิตวิญญาณอยู่ในบัดนี้เลยว่า

เป็นรสชาติอกกลัดหนอง

เป็นรสชาติแบบมีดกรีด

หรือเป็นรสชาติหอกดาบแทงทะลุหัวใจปานใด

อย่าปฏิเสธ อย่าหาวิธีดับด่วน

วินาทีแรกให้ยอมรับตามสภาพไปก่อน

 

เมื่อรู้ทุกข์ก้อนโต

แบบยอมรับตามจริงได้ทุกครั้ง

จะค่อยๆสะสมนิสัยของนักเจริญสติ

คือ ยอมรับว่ามันเกิดขึ้น

ยอมรับว่ามันพองใหญ่

ยอมรับว่ามันเสียวแปลบ แสบไส้ถึงทรวง

แล้วในที่สุดการยอมรับนั้น

จะแปรเป็นการสังเกตได้ว่า

เริ่มเจ็บที่ลมหายใจสั้นหรือยาว

แล้วค่อยยังชั่วที่ลมหายใจยาวหรือสั้น

 

คุณจะแปลกใจว่า

ทุกข์ท่วมฟ้าท่วมดินนั้น

มันหายไปง่ายๆ

ในไม่กี่ลมหายใจเข้าออกอย่างนี้เองหรือ?

 

ทุกข์มันพร้อมจะหายไปง่ายๆอยู่แล้ว

ความยากคือเรางมหาทางหายทุกข์กันไม่ถูก

ต้องรอพระพุทธเจ้ามาตรัสบอกเท่านั้น!

 

 

ดังตฤณ

สิงหาคม ๖๓