Print

จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๓๒๓

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

 

 

 

กรรมที่ทำให้มีบริวารมาก

editor322

 

พระพุทธเจ้าตรัสถึงกรรม
อันเป็นเหตุให้ท่านมีบริวารดี
บริวารมาก คือ ครั้งที่ท่านเป็นมนุษย์ในชาติก่อนๆ
ท่านได้นำความสุขมาให้แก่ชนเป็นอันมาก
บรรเทาความหวาดกลัวและความสะดุ้ง
จัดการรักษาป้องกันคุ้มครองอย่างเป็นธรรม
ตลอดจนให้ทานด้วยทรัพย์อันชอบธรรม
พุทธพจน์นี้ มีที่มาในพระสุตตันตปิฎก
ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค
ว่าด้วยเรื่องการพยากรณ์มหาบุรุษ

ส่วนที่พูดกันบ่อย
จนกลายเป็นความเชื่อแบบตายตัวไปแล้ว
คือ เพื่อจะมีบริวารมาก
ต้องชักชวนให้ผู้อื่นร่วมทำบุญ
ความเชื่อนี้มาจากไหน?
หาดูจะพบว่ามีมาในชั้นอรรถกถา
ว่าด้วยเรื่องเศรษฐีชื่อพิฬาลปทกะ
(หมายเหตุ - ผมค้นหาไม่พบในพระไตรปิฎก
ซึ่งก็คือไม่มีหลักฐานว่าพระพุทธเจ้าตรัสไว้จริง
หากใครทราบเนื้อความตามนี้ในพระไตรปิฎก
รบกวนช่วยบอกกล่าวด้วย
จะขอบพระคุณครับ เพื่อใช้ในการอ้างอิงต่อไป)
เรื่องมีอยู่ว่า ชาวเมืองสาวัตถีพากันถวายทาน
แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
และพระศาสดาก็อนุโมทนาว่าดีแล้ว ชอบแล้ว
โดยตรัสเป็นใจความว่า

"บุคคลบางคนในโลกนี้ให้ทานเอง
แต่ไม่ชักชวนผู้อื่น
เขาย่อมได้โภคสมบัติ แต่ไม่ได้บริวารสมบัติ

บางคนไม่ให้ทานเอง
แต่ชักชวนแต่คนอื่น
เขาย่อมได้บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้โภคสมบัติ

บางคนไม่ให้ทานเองด้วย
ไม่ชักชวนคนอื่นด้วย
เขาย่อมไม่ได้โภคสมบัติ และไม่ได้บริวารสมบัติ
เป็นคนเที่ยวกินเดน

บางคนให้ทานเองด้วย
ชักชวนคนอื่นด้วย เขาย่อมได้ทั้งโภคสมบัติและบริวารสมบัติ"

หลักฐานที่ว่า
พระพุทธเจ้าตรัสไว้แน่หรือเปล่าขอให้ยกไว้
มาดูข้อเท็จจริงทางใจที่รู้กันได้เดี๋ยวนี้ก่อน
การชักชวนผู้อื่นทำบุญนั้น
มีปฏิกิริยาได้หลายแบบ
แบ่งได้คร่าวๆตามที่เจอๆกัน คือ

๑) เราชักชวนดี และพวกเขามีความยินดีร่วมด้วย
ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เหมือนได้พวก ได้เพื่อน
(บางคนถูกชักชวนก็จริง แต่เป็นพ่องานแม่งาน
มีใจ และลงแรงยิ่งกว่าคนชวนเสียอีก)

๒) เราชักชวนดี แต่พวกเขามีความอึดอัด
ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เหมือนเป็นคนละพวก
หรือกระทั่งได้คนที่ไม่อยากเจอหน้า ไม่อยากคุยกัน

๓) เราชักชวนไม่ดี แต่พวกเขาเกิดความยินดี
ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เหมือนหลอกให้คนเชื่อได้
ทั้งที่เราไม่ได้อินมาก แต่ทำให้คนอื่นอินได้

๔) เราชักชวนไม่ดี และพวกเขาก็อึดอัด
ความรู้สึกที่เกิดขึ้น มีแต่แย่กับแย่
ไม่มีความเคารพในการบุญสุนทานด้วยกันทั้งคู่

การชักชวนคนทำบุญ
ในแบบที่ทำให้เป็นผู้มีบริวารนั้น
ไม่ต้องเอาหลักฐานที่ไหน
เอาแค่ใจเราเองเป็นที่ตั้งก็ได้
หากเราเป็นใหญ่ เป็นคนจัดการ
เป็นผู้ออกทุน พาลูกจ้าง พาลูกน้อง
หรือพาญาติที่ต้องพึ่งพาเรา
ไปทำดี ไปให้ทาน ไปรักษาศีล
ชวนอย่างดีให้เขาพากันอิ่มใจ
ได้มีส่วน ได้มีหน้าที่ร่วมไปด้วย
เห็นค่าการสละแรงกายไปด้วย
ไม่ใช่ไปนั่งพนมมือท่าง่อย
รับส่วนบุญจากเราถ่ายเดียว
อันนั้นแหละจึงนับว่าได้บริวารบุญ
(ซึ่งไม่ได้หมายความว่า
ในกาลหน้าพวกเขาจะต้องมาเป็นบริวารเรา
เพราะถ้าใจเขาใหญ่กว่า ออกแรงมากกว่า
บุญเขาก็เกินเรา เกินกว่าจะมาอยู่ใต้เรา)

ยิ่งประเภทเอาซองมาเคาะๆไหล่
ให้ร่วมบริจาคทำบุญ
โดยไม่มีที่มาที่ไป
ไม่พูดให้เขาชื่นใจ
มีแต่พูดเหมือนขอเงินดื้อๆให้อึดอัดกัน
อันนี้ยิ่งไม่ใช่แน่ๆ
พระพุทธเจ้าท่านตรัสสรรเสริญ
ผู้ชักชวนผู้อื่นทำความดีไว้
คือ ต้องดีเอง และชวนให้ผู้อื่นดีตาม
เช่นที่มีหลักฐานปรากฏชัด
ก็ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
สัปปุริสวรรคที่ ๑ ของพระสุตตันตปิฎก
นิยามของผู้มีธรรมอันงาม เป็นคนดี
ได้แก่ ผู้ที่รักษาศีลด้วย
ชักชวนผู้อื่นรักษาศีลตามตนด้วย
ส่วนนิยามของผู้มีธรรมลามก เป็นคนเลว
ได้แก่ ผู้ที่ผิดศีลด้วย
ชักชวนผู้อื่นให้ผิดศีลตามตนด้วย เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปก็คือ
กรรมที่ทำให้มีบริวารมาก
ต้นเหตุต้องมาจาก ‘น้ำใจคิดช่วยคนหมู่มาก’
ไม่ใช่ตั้งต้นจาก ‘โลภอยากได้บริวารมากๆ’
ลองคิดง่ายๆ คนชอบเรี่ยไรบ่อยๆ
แต่ไม่มีน้ำใจช่วยใครเลย
จะถูกมองด้วยสายตาแบบไหน
ใครบ้างอยากไปเป็นบริวาร
ตรงข้าม แม้ไม่เรี่ยไร ไม่บอกบุญเลย
แต่เป็นผู้มีน้ำใจประเสริฐ
รับใช้พ่อแม่ให้อยู่ดีมีสุข
ปรนนิบัติพระดีให้มีกำลังปฏิบัติธรรม
เลี้ยงลูกให้ได้ดี เลี้ยงให้เขารู้สึกสำนึกคุณเอง
หรือเลี้ยงลูกน้องดี มีเมตตา
มีไอเดียสร้างงาน มีความคิดสร้างคน
เป็นแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครอยากดีตาม
อย่างนี้ผู้ใหญ่ก็อยากอุปถัมภ์เต็มที่
ผู้น้อยก็อยากให้การช่วยเหลือเต็มกำลัง

กฎแห่งการให้ผลของกรรม
เป็นเรื่องที่เรารู้สึกถึงความชอบธรรม
ตามเหตุตามผลได้
ฉะนั้น อย่าจำง่ายๆเพียงว่า
ชักชวนคนทำบุญ
จะช่วยให้เป็นผู้มีบริวารมาก
หากจดจำไว้เพียงเท่านี้
ก็จะมีวิธีปฏิบัติแบบผิดๆ
ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ตามมาได้มาก!

ดังตฤณ
มีนาคม ๖๒