Print

จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๓๐๐

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

  

 

สวดมนต์ให้เกิดปัญญา


editor300

 

บางคน ‘เสพติด’ การสวดมนต์ยาวๆ
เพราะเป็นช่วงที่มีความสุขที่สุดของวัน
ขณะที่บางคน ‘ฝืน’ สวดมนต์ยาวๆ
เพราะอยากได้รางวัลที่ต้องการ
หรือสวดตามความเชื่อที่สืบๆกันมาว่า
ยิ่งสวดยาวขึ้นเท่าไร ยิ่งได้บุญมากขึ้นเท่านั้น
วัดกันด้วยปริมาณท่าเดียว ไม่สนคุณภาพเลย

สรุปแล้ว คนสวดมนต์ยาว
ต้องมีเหตุผลบางอย่างเสมอ
ไม่มีหรอกที่อุตส่าห์สวดตั้งยาวเพราะ
‘อยากสวดไปอย่างนั้นเอง’

ปัญหาที่มักเกิดขึ้น คือ
ถ้าเอาบ่อยเข้าว่า
โดยไม่สนว่าจิตใจไปถึงไหนแล้ว
พอสะสมอาการสวดแบบนกแก้วนกขุนทอง
ต่อเนื่องยาวนานหลายปีเข้า
ถึงจุดหนึ่งก็อาจเบื่อหน่าย
สวดไปก็คิดไปว่าเมื่อไหร่จะจบ
ยิ่งคิดยิ่งโมโห เลยเลิกสวดไปเลย เพราะกลัวบาป

เพื่อให้เกิดการสวดที่ถูกต้อง
ก่อนอื่นต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายของการสวดที่แท้จริง
คือ เราสวดมนต์ไปเพื่อให้ใจเป็นกุศล
ซึ่งใจเป็นกุศลนั้น ลักษณะที่เห็นง่ายๆ
ได้แก่ สบาย สงบ สว่าง โล่งแจ้ง
จิตมีอาการแผ่ผายออกเปิดรับ
ความยิ่งใหญ่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เหนือกว่าชีวิตเรา
และเมื่อจิตตั้งมั่นอยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว
จะปฏิบัติการทางศาสนาใดๆ
ในที่สุดก็มักสำเร็จ ราวกับมีตัวช่วยที่ใหญ่กว่าตัวเรา
เช่น นั่งสมาธิ เจริญสติ
ก็เกิดความสว่าง นำทางถูกทางตรงตั้งแต่ต้น
จิตรวมลงสงบอย่างใหญ่ได้ง่ายดาย
หรือบางคนไม่ทันต้องนั่งสมาธิด้วยซ้ำ

เอาแค่สวดมนต์อย่างเดียว
ตั้งใจง่ายๆว่า จะถวายแก้วเสียงเป็นพุทธบูชา
ก็ไปถึงตรงนั้นแล้ว เกิดสมาธิอย่างใหญ่แล้ว
หรือกระทั่งเกิดปัญญาเห็นจิตไม่เที่ยงแล้ว

เมื่อรู้ว่าสวดมนต์เพื่อให้จิตเป็นกุศล
หากสวดแล้วจิตไม่เป็นกุศล
ก็แปลว่าบางอย่างต้องผิดไป
หากสวดน้อยบทลงแล้วจิตกลับมาเป็นกุศล
ก็แปลว่าที่ผ่านมาสวดมากไป
หากสวดอิติปิโสบทเดียวแล้วเป็นสมาธิ
ก็แปลว่าเอาอิติปิโสบทเดียวพอ
หากสวดหลายรอบแล้วเกิดปัญญา
เห็นความฟุ้งในแต่ละรอบไม่เท่ากัน
จนได้ข้อสรุปว่าจิตไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน
ก็แปลว่ายิ่งสวดหลายรอบยิ่งเกิดปัญญามาก

ด้วยการพิจารณาโดยแยบคายดังที่กล่าวมา
คุณจะได้กติกาในการสวดมนต์ให้ตนเอง
โดยไม่ต้องเอาตามความเชื่อของใคร
ไม่ต้องเอาบรรทัดฐานของใครมาก๊อบปี้
ไม่ต้องไปสนว่าใครแนะให้นาน ให้หลายบทอย่างไร
เพราะแน่ใจได้ว่า เหตุแบบเรา
ได้ผลแบบพุทธแน่แล้ว!


ดังตฤณ
พฤษภาคม ๖๑