Print

จากใจ บก.ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๒๗๘

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

 

 

สอนลูกเรื่องศีล 

editor278

มีคนอยู่ประเภทหนึ่ง
โกรธแรง เจ็บแค้นแรง
เวลาจับได้ไล่ทันว่า
ใครโกหกหลอกลวงตน
ใครทำให้รู้สึกว่าตนเสียเหลี่ยม

แต่เวลาตนจับแพะชนแกะ
พูดอ้อมค้อมไม่ตรงไปตรงมา
เจตนาให้คนฟังไขว้เขว
ได้ข้อสรุปที่ตัวเองขุดหลุมล่อไว้
อย่างนี้ไม่เป็นไร
ถือว่ามีเหตุผลสมควรที่จะหลอกเขา
แล้วเขาก็ไม่สมควรที่จะถือสาตน
เขาน่าจะเข้าใจความจำเป็นของตนได้
ประมาณว่า น่าจะรู้ๆกันอยู่

ปฏิบัติอย่างไรกับคนนอกบ้าน
ก็ยากที่จะไม่ปฏิบัติกับคนในบ้าน
คนประเภทนี้เวลาสอนลูก
ดุลูก หรือพยายามบังคับลูกว่า
อย่าหลอกพ่อ อย่าโกหกแม่
มักโดนลูกจ้องหน้า
นัยน์ตาฉายให้เห็นเลยว่า
ลูกคิดโต้ตอบอยู่ในใจ
ทีพ่อ/แม่ทำไมโกหกได้?

แน่นอน
โลกนี้เต็มไปด้วยสารพัดเหตุบีบคั้น
ให้ต้องผิดศีลข้อโน้นนิดข้อนี้หน่อย
เหมือนจะอยู่ไม่ได้ หรือต้องตายไปเลย
ถ้าอยากรักษาศีลให้ครบ ให้เป๊ะ

ประเด็นคือ
หากไม่เต็มใจรักษาศีลข้อไหน
หรือผิดศีลข้อใดให้ลูกเห็นบ่อยๆ
อย่าพยายามสอนลูกให้รักษาศีลข้อนั้น
เพราะศีลเหมือนสมบัติ
เมื่อยังไม่มีสมบัติติดตัว
ก็อย่าเพิ่งริไปให้สมบัติกับลูก
ผลร้ายจะเกิดกับลูก
ที่รับเพียงลมปากพ่อแม่มาเป็นสมบัติ

เมื่อผิดศีลข้อใดให้ลูกเห็นเป็นประจำ
แล้วไม่พูดกับลูกเกี่ยวกับศีลข้อนั้นเลย
ลูกอาจเลือกเองถูกว่า
จะเอาอย่าง หรือไม่เป็นเยี่ยงเดียวกับคุณ
แต่ถ้าคุณผิดศีลข้อไหนแล้วพยายามสอนลูก
อันนั้นคุณกำลังแพร่โรคร้ายให้ลูกแล้ว
โรคนั้นคือโรค ‘ปากว่าตาขยิบ’
โรคนี้ทำให้คนเรารู้สึกว่า
การเสแสร้งแกล้งพูดเป็นเรื่องดี
ตนมีความชอบธรรมที่จะโกหก
แล้วก็ไม่ใช่เรื่องตลก
ถ้าจะสอนลูกให้พูดแต่คำจริง

สิ่งที่ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้
คือ พูดกับลูกอย่างตรงไปตรงมาว่า
อย่าเป็นอย่างพ่อ อย่าทำอย่างแม่เลย
พ่อ/แม่ไม่ได้รู้สึกดีกับตัวเองหรอก ที่ทำอย่างนี้
คำจากใจจริง รู้สึกอยู่จริงๆนั้น
อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้ลูกพลอยรู้สึกไปด้วยว่า
การผิดศีลผิดธรรมไม่ใช่เรื่องดี
ไม่ทำให้ชีวิตใครน่าภูมิใจขึ้นมาได้!

ดังตฤณ
มิถุนายน ๖๐