Print

จากใจ บ.ก.ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๒๗๓

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

 

 

ข้ามพ้นเรื่องรวยเรื่องจน

 

editor273

 

คนจนแบ่งเป็นสองประเภท
ประเภทแรก คือ มีไม่พออยู่พอกิน
ประเภทสอง คือ มีไม่พอใช้ตามใจอยาก

ส่วนคนรวยก็แบ่งเป็นสองประเภทเช่นกัน
ประเภทแรก คือ มีพอใช้เกินใจอยาก
ประเภทสอง คือ มีแค่ไหนก็ไม่พอ

เมื่อแบ่งตามนี้
ดูดีๆ ฐานะมีอยู่จริงเพียงหนึ่งเดียว
คือ ‘จนจริง’ จากการมีไม่พออยู่พอกิน
นอกนั้นจิตถูกปรุงแต่ง
ให้ตัดสินตัวเองไปต่างๆนานา
ชนิดที่ไม่อาจหามิเตอร์ใดในโลก
มาวัดถูกวัดผิดให้แน่นอนได้

เด็กๆในประเทศที่อดอยาก
ร่างเหลือแต่หนังหุ้มกระดูกบางๆ
รอความช่วยเหลือจากนานาชาติ
เมื่อเห็นคนใส่เสื้อผ้าดีๆ
เดินเอาของบริจาคมาให้
ก็แยกไม่ออกหรอกว่าใครรวยกว่าใคร
ความรู้สึกคือ ถ้าใส่เสื้อผ้าดีๆได้
เอาอาหาร เอาหยูกยามาให้พวกตนได้
ก็แปลว่าน่าจะรวยพอๆกันนั่นแหละ

แต่คนมีเสื้อผ้าดีๆใส่
เกินครึ่งโลกไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองรวย
เพราะแค่ปรายตาแลกันเอง
มองเสื้อผ้าปราดเดียวก็รู้แล้วว่า
ใคร ‘รวยกว่า’ ตนบ้าง
หนำซ้ำยังมีที่หนักกว่านั้น
บางคนตื่นขึ้นมาในห้องนอนหรู
ก็รู้สึกว่าฉันมั่งมีศรีสุขอยู่ในวิมาน
แต่บ่ายๆเจอเพื่อนที่ไม่พบมานาน
เห็นเขาฟู่ฟ่ากว่าตน
ไม่มีหนี้ท่วมหัวเหมือนตน
ก็ห่อเหี่ยวใจ ตัวลีบลง
รู้สึกเหมือนยังขาด
อาจต้องตะเกียกตะกายอีกหลายยก

หนักที่สุดคือเย็นๆค่ำๆเจอข่าวร้าย
ทราบจากลูกน้องว่ารายได้สะดุด
มีสิทธิ์ฉุดเลขในบัญชีลงเหว
หาเงินใช้หนี้ไม่ทัน
ต้องดั้นด้นไปหาความช่วยเหลือกลางดึก
ความรู้สึกเลยไม่ค่อยต่างจากขอทานนัก

ยุคที่อะไรๆเชียร์ให้ทุกคนในโลกเป็นหนี้
ยุคที่ผู้คนนึกถึงหนี้แล้วไม่สบายใจ
คือยุคที่แทบไม่มีคน ‘รู้สึกรวยจริง’

วิธีจัดการกับความรู้สึกที่ดีที่สุด
คือ สำรวจตัวเอง
ถ้าไม่ได้ ‘ยากจนจริง’ ขนาดมีไม่พอซื้อข้าว
ให้ตัดคำว่า ‘รวย’ กับ ‘จน’ ทิ้งออกจากใจ
เหลือแต่คำว่า ‘พอ’ หรือ ‘ไม่พอ’ เท่านั้น

แค่ไหนเรียกว่า ‘มีพอ’?
แค่ที่ใจไม่มีความดิ้นรน
เพราะคนที่ไม่ดิ้นรน
ไม่ตะกายเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องตะกายเอา
มักไม่ค่อยเป็นหนี้
หรือเป็นหนี้ก็น้อยแบบไม่อนาทรร้อนใจ
ไม่ต้องแปลงร่างเป็นขอทานในบางคราว

แค่ไหนเรียกว่า ‘เกินพอ’?
แค่ที่มีแก่ใจเผื่อแผ่ให้คนอื่นได้
เพราะคนที่เผื่อแผ่คนอื่นบ่อยๆ
จะรู้สึกว่ามีเกินจนต้องแจกบ้าง
เดินอยู่ในบ้านดีๆ
ก็มีของให้เห็นว่านี่ไม่ใช้แล้ว แจกได้อีก

เมื่อความรู้สึก ‘มีพอ’ กับ ‘เกินพอ’
เกิดขึ้นบ่อยๆจนตั้งมั่น
คุณจะรู้สึกว่าชีวิตตัวเองเป็นของจริงแบบหนึ่ง
แบบที่ข้ามพ้นเรื่องรวยเรื่องจน
ไม่มีคำว่าจนหรือรวยอยู่ในหัว
ถ้าจะมี ก็มีแต่คำว่า ‘ไม่ได้คิดไปเอง’ เท่านั้น!


ดังตฤณ
เมษายน ๖๐