Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๑๗๙

dungtrin_cover

ถาม - ตอนนี้ตกงานอยู่ค่ะ เลยไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะทำทาน แต่ว่าตั้งใจรักษาศีล ๕ และเจริญสติปัฏฐาน แบบนี้พอจะได้กุศลบ้างไหมคะ

dungtrin_gru2a

ทรัพยทานนั้น แค่ซัดน้ำข้าวเหลือทิ้งไปแล้วคิดว่าจะให้เป็นทานแก่สัตว์
ก็จัดว่าเป็นทรัพยทานขั้นสมบูรณ์แล้วครับ

 

ชัปปสูตร

ดูกรวัจฉะ ก็เราพูดเช่นนี้ว่าผู้ใดสาดน้ำล้างภาชนะ หรือน้ำล้างขันไป
แม้ที่สัตว์ซึ่งอาศัยในบ่อน้ำคลำ หรือในบ่อโสโครกข้างประตูบ้าน
ด้วยตั้งใจว่าสัตว์ที่อาศัยอยู่ในที่นั้น จงยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้นเถิด
ดังนี้ ดูกรวัจฉะ เรากล่าวกรรมซึ่งมีการลาดน้ำล้างภาชนะนั้นเป็นเหตุ ว่าเป็นที่มาแห่งบุญ

น้ำล้างภาชนะนั้นเรารู้อยู่ว่าอาจมีเศษอาหารปน
ถ้าเพียง "คิด" ว่าขอให้การสาดน้ำไปนี้จงเป็นประโยชน์แก่สัตว์ ก็เรียกว่าเป็นทานแล้ว
ใครอ้างว่าอยากทำทาน แต่ขาดทุนทรัพย์ ก็เป็นอันเลิกอ้างได้ ถ้าทราบหลักที่ถูกต้อง
จิตที่คิดให้ย่อมเป็นบุญในตัวเอง เมื่อทำบ่อยๆก็สั่งสมขึ้นเป็นอาจิณณกรรม
เป็นบุญกองโตได้ ทำให้จิตใจอ่อนโยนมีเมตตา มีแก่ใจเกื้อกูลได้

และนี่ก็เป็นตัวอย่าง เป็นภาพรวมให้เห็นด้วย
ว่าคนสองคนเทน้ำทิ้งเหมือนกัน แต่เจตนาผิดกัน ก็อาจให้ผลต่างกันลิบลับ
คนหนึ่งทิ้งเปล่าไม่ได้อะไรเลย อีกคนหนึ่งทำกรรมชนิดที่เป็นทาน เป็นการให้
ดังนี้คงเห็นชัดเจน ว่าแค่คิดก็สำเร็จเป็นกรรมชนิดหนึ่งแล้ว
การเฝ้ามองเจตนาของตนเอง แม้เล็กน้อยก็ไม่น่ามองข้าม

สูตรนี้เกิดขึ้นเพราะมีคนสำคัญผิด ได้ยินมาว่าพระพุทธเจ้าให้ทำบุญกับพระองค์ท่านเท่านั้น
ถ้าทำกับพระองค์ จึงจะได้ผลมาก พระผู้มีพระภาคท่านแก้ว่าขนาดสาดน้ำในภาชนะ
ขอเพียงมีจิตคิดให้ ก็เรียกว่าเป็นที่มาแห่งบุญแล้ว จะป่วยกล่าวไปใย
กับการให้ทานแก่สัตว์อื่นและมนุษย์
จะป่วยกล่าวไปใยกับการให้ทานแก่มนุษย์ผู้มีศีล
จะป่วยกล่าวไปใยกับการให้ทานแก่ผู้เป็นอริยเจ้าระดับเสขะ
(โสดาบัน, สกทาคามี, อนาคามี)
จะป่วยกล่าวไปใยกับการให้ทานแก่ผู้เป็นอริยเจ้าระดับอเสขะ (พระอรหันต์)
คือพระองค์ตรัสตามจริงว่าบุญก็คือบุญ ไม่ใช่ว่าต้องจำเพาะเจาะจงกับพระพุทธเจ้า
ไม่จำเพาะเจาะจงกับพระอรหันต์ แต่ถ้าว่าตามเนื้อผ้าโดยไม่บิดเบือน
ต้องยอมรับว่ามีผลหลากๆกันไป

แต่ใครไม่ทำก็ไม่ได้เลยครับ แถมกิเลสข้อที่ว่าด้วยความตระหนี่ไม่ลดลงด้วย
ลองมาดูชาดกเรื่องนี้เป็นกำลังใจดีกว่า...

แถมหน่อย ในอาทิตตชาดกก็มีการกล่าวไว้อย่างน่าฟังว่า

[๑๑๘๓] ท่านผู้รู้กล่าวทานกับการรบว่ามีสภาพเสมอกัน นักรบแม้จะมีน้อย
ก็ชำนะคนมากได้ เจตนาเครื่องบริจาคก็เหมือนกัน
แม้จะน้อย ย่อมชำนะหมู่กิเลสแม้มากได้
ถ้าบุคคลเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม ย่อมให้ทานแม้น้อย
เขาก็เป็นสุขในโลกหน้า เพราะการบริจาคมีประมาณน้อยนั้น

นอกจากทรัพยทานแล้ว ยังมีการให้อภัยเป็นทาน
การให้ธรรมเป็นทานอีก ขึ้นชื่อว่า "ให้" แล้ว เป็นทาน เป็นกุศลใหญ่ทั้งนั้นครับ
ถ้าหากทำอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งจิตมีความเป็นเช่นนั้นจริงๆ อยู่ตัวเป็นปกติ

ที่มา http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/003096.htm?1#1