Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๑๖๐

การหลับอย่างมีสติ : เรื่องปกติของบรรพชิตสมัยพุทธกาล

dungtrin-160

จำได้ว่าเมื่อครั้งอ่านประวัติหลวงปู่มั่น

ท่านเล่าให้ลูกศิษย์ท่านฟังในครั้งหนึ่ง
ซึ่งสรรเสริญการเอาชีวิตเข้าแลกธรรมของท่าน
ทำนองว่าจะหาใครมีวิริยะอุตสาหะเอาชนะทุกข์เทียบท่านนั้น คงไม่ได้
คือทั้งบุกป่าฝ่าดงเข้าไปลึกๆเหมือนตั้งใจเอาชีวิตไปทิ้ง
ทั้งเดินจงกรม นั่งสมาธิ พิจารณากายใจเป็นฐานสติทุกลมหายใจ
ท่านก็บอกว่าท่านนั้นยังนับว่าน้อย
สู้เมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ไม่ได้
ภิกษุและภิกษุณีสมัยนั้นสู้ตายถวายชีวิต
ท่านใช้คำว่าอะไรผมจำไม่ถนัด
โดยความรู้สึกคือท่านกล่าวแบบถ่อมตัวมากกว่าอย่างอื่น
ใครขยันปฏิบัติเกินหลวงปู่มั่นนี่ดูๆคงเกินมนุษย์ไปสักนิด

แต่มีข้อสังเกตอยู่แห่งหนึ่ง
คือท่านกล่าวว่าท่านเจริญสติอยู่ตลอดวันตลอดคืน
ยกเว้นก็แต่ขณะหลับเท่านั้น

เมื่อลองสืบดูก็พบว่าพระพุทธองค์ตรัสแนะให้พระสาวกสำรวมสติ
โดยตรัสถึงโทษและคุณดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับ ลืมสติ ไม่รู้สึกตัว มีโทษ ๕ ประการ
นี้คือ หลับ เป็นทุกข์ ๑ ตื่นเป็นทุกข์ ๑ เห็นความฝันอันลามก
๑ เทพดาไม่รักษา ๑ อสุจิเคลื่อน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับ
ลืมสติ ไม่รู้สึกตัว มีโทษ ๕ ประการนี้แล.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่นอนหลับ มีสติตั้งมั่น รู้สึกตัวอยู่ มีคุณ ๕ ประการ
นี้คือ หลับเป็นสุข ๑ ตื่นเป็นสุข ๑ ไม่เห็นความฝันอัน
ลามก ๑ เทพดารักษา ๑ อสุจิไม่เคลื่อน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่
นอนหลับ มีสติตั้งมั่น รู้สึกตัว มีคุณ ๕ ประการ นี้แล.

เหตุอันเป็นแรงบันดาลพระทัยให้ตรัสขึ้นมาเช่นนี้ก็เพราะวันหนึ่ง
ขณะดำเนินไปกับพระอานนท์แล้วเห็นตามเสนาสนะ ที่อยู่อาศัยภิกษุ
แล้วเห็นคราบอสุจิเปรอะเปื้อนอยู่
ทราบความว่าภิกษุหลับไหลกันในสไตล์หนังท้องตึง หนังตาหย่อน
คือฉันโภชนาหารดีๆ อิ่มหมีพีมันแล้วเลยนอนกันแบบหมดสภาพ
ซึ่งด้วยสไตล์นอนเช่นนั้นทำให้ฝันเลื่อนเปื้อน เป็นเหตุให้อสุจิเคลื่อน
หรือที่ไทยเราเรียกง่ายๆว่าฝันเปียก
(ซึ่งเอาโทษทางวินัยไม่ได้เลย ทั้งปาราชิกและสังฆาทิเสส)

พระพุทธองค์ไม่ได้เอาโทษทางวินัยแก่ผู้อสุจิเคลื่อนด้วยความฝันก็จริง
เพราะในฝันนั้น ถือว่าบุคคลไร้สำนึกผิดชอบชั่วดียับยั้งชั่งใจกันไหว
อย่างไรก็ตาม โดยเหตุที่เห็นภิกษุอสุจิเคลื่อน
พระองค์ท่านก็รับสั่งเหมือนครูดุลูกศิษย์อยู่กลายๆ
ว่าเป็นเรื่องน่าอาย และตรัสบอกวิธีที่จะเลี่ยงฝันลามกเสีย
ด้วยการก้าวลงสู่ความหลับอย่างมีสติ

ในเรื่องการหลับอย่างมีสตินี้น่าสนใจว่าทำอย่างไรจึงเรียกว่ามีสติก้าวลงสู่ความหลับ
ลองดูที่ฝ่ายสกวาทีขยายความไว้นิดหนึ่งเมื่อ ๒๓๕ ปีหลังพุทธปรินิพพาน

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเป็นปุถุชน ถึงพร้อมด้วยศีล มีสติสัมปชัญญะ
ก้าวลงสู่ความหลับ อสุจิของภิกษุเหล่านั้น ย่อมไม่เคลื่อน
แม้ฤาษีนอกศาสนาเหล่าใดเป็นผู้ปราศจากราคะในกามแล้ว
อสุจิของพวกฤาษีเหล่านั้น ก็หาเคลื่อนไม่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่อสุจิของพระอรหันต์จะพึงเคลื่อนนี้
มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะเป็นไปได้ ดังนี้ เป็นสูตรมีอยู่จริงมิใช่หรือ?

ความตามที่สกวาทียกมานี้เพื่อถามต่อฝ่ายปรวาที
ซึ่งทั้งสองฝ่ายลงให้กันว่าใช่แล้ว มีพระสูตรนี้อยู่
ผมสืบดูก็ได้เค้าจากเรื่องที่ยกมาข้างต้นในเบื้องแรกนั้น
แต่ต้องประกอบกันกับที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในแหล่งอื่น
ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะอ่านผ่านตา เนื่องจากเป็นคำเล็กๆที่ปนอยู่กับคำอื่น
ดังเช่นในมหาสติปัฏฐานสูตรส่วนของสัมปชัญญบรรพ...

[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมทำความรู้สึกตัวในการ
ก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก
ในการทรงผ้าสังฆาฏิบาตรและจีวร ในการฉัน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ใน
การถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง
การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ฯลฯ

และมีหลายแห่ง เช่นที่พระพุทธองค์ตรัสกับพระมหากัสสปะบ้าง
ตรัสกับพ่อค้าประชาชนทั่วไปบ้าง
พอให้เห็นว่าศีลขันธ์ (การรักษาศีล) อินทรียสังวร (ระวังกิเลสที่เข้ามาทางอายตนะต่างๆ)
และสติสัมปชัญญะนั้น มีความผูกโยงเชื่อมลำดับกันอยู่
ดังนั้นสกวาทีและปรวาทีเมื่อสอบสวนความเห็นกัน
จึงได้คำสรุปว่าในชั้นของการสังคายนาครั้งที่ ๓
แม้มีถ้อยคำขาดๆเกินๆบ้าง ไม่ลงตัวเป๊ะ ก็พอสืบจากของเดิมได้ลงกัน
อันนี้ใครจะคิดว่าพระสูตรเดิมขาดหล่นไปบ้าง
หรือเป็นการผสมสูตรของฝ่ายสกวาที ก็คงเป็นเรื่องความเชื่อเฉพาะรายไป
ไม่นับว่าเสียหายอะไร แต่ที่นับว่าน่าพิจารณาใส่ใจ
คืออุบาย หรือวิธีตรงตัวที่จะก้าวลงสู่ความหลับด้วยสติสัมปชัญญะนั่นเอง

ถ้าพูดว่าเป็นอุบาย สมัยนี้ก็ต้องเรียกเป็นเทคนิกวิธี
ซึ่งฝรั่งก็ทำวิจัยกันอยู่ เช่น Lucid Dreaming
อันนั้นเขาให้ทำเครื่องหมายไว้ในใจ เช่นระหว่างวันยกมือดูลายมือบ่อยๆ
ถามตัวเองว่าหลับหรือตื่นอยู่ ถ้าตื่นเส้นลายมือจะชัดคงเส้นคงวา
ถ้าหลับเส้นลายมือจะโย้ไปเย้มา ซึ่งหากรู้ตัวว่ากำลังหลับ
ก็สามารถควบคุม หรือถือหางเสือจับทิศทางฝันได้ตามใจชอบ
นี่เรียกว่าเป็นสติรู้ตัวขณะฝัน

แต่ที่กำลังกล่าวถึงกันอยู่นี้ คือการหลับแบบผู้ปฏิบัติธรรมแนวพุทธแท้
เพราะฉะนั้นต้องเรียกว่าเป็นวิธีการตรงตัว ไม่ใช่อุบายวิธี
กล่าวคือท่านว่าต้องมีศีล มีความระวังกิเลสหยาบที่ผ่านเข้ามาทางอายตนะต่างๆ
แล้วก็มีสัมปชัญญะอยู่กับปัจจุบันขณะแห่งอิริยาบถเป็นปกติ
จิตในแบบนั้นน่าจะสะอาดด้วยอำนาจศีล นุ่มนวลด้วยอำนาจอินทรียสังวร
กับทั้งตื่นเต็มอยู่เองอย่างต่อเนื่องด้วยอำนาจสัมปชัญญะ
เมื่อก้าวลงสู่ความหลับโดยไม่เผลอไผล ไม่หลงหลับด้วยอาการอิ่มตื้อ
ก็น่าจะเข้าสูตร "หลับอย่างมีสติ" ของพระพุทธองค์
ซึ่งการหลับมีสตินี้ ใช่ว่าพระองค์ท่านจะตั้งเงื่อนไขว่าต้องหลับสนิทไม่ฝันเอาเลย
พระองค์เพียงตรัสว่าถ้าหลับอย่างมีสติ จะหลับอย่างเป็นสุข และไม่ฝันลามกเท่านั้น
ส่วนจะฝันดีหรือเงียบเชียบอย่างไร ก็คงเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล

ในประสบการณ์ตรงของผู้ปฏิบัติยุคเรา
ก็จะกล่าวตรงกันว่าถ้าอยู่ในช่วงขยัน
ดูเหมือนตอนหลับจิตไม่หลับด้วย แต่สว่างโพลนเหมือนตื่น
ต่างตรงที่ตื่นแบบเงียบ ไม่คิด ไม่พะวง ไม่หลงฟุ้งไปไหนๆ
ซึ่งก็มีความสุขดีจริงๆ หรือถ้าฝัน ก็จะเป็นฝันชัด มีสีสันแจ่มแจ้ง
ผูกเรื่องผูกราวสนุกสนานเหมือนท่องไปในเทพนิยายอาหรับราตรีอย่างไรอย่างนั้น
อันนี้คงเป็นการยืนยันผ่านช่องว่างเวลาเกือบสามพันปี
ว่าสัจจะเกี่ยวกับการหลับอย่างมีสตินั้น ยังคงเดิมยืนทนอยู่ได้

ในทัศนคติของนักภาวนาที่คล้อยตามพระพุทธองค์
เมื่อถามถึงอาการหลับและอาการตื่น
จะไม่จำแนกเพียงด้วยความรู้ตัวหรือการเข้าภวังค์นิทรา
แต่ละเอียดลงไปถึงว่าจิตใจนั้น ตื่นรู้ แจ่มแจ้งในความเป็นจริงเพียงใด
โดยเอาอินทรีย์ ๕ (กำลัง ๕ ชนิดซึ่งเสริมส่งการภาวนา ได้แก่ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา)
และนิวรณ์ ๕ (ความตรึกนึกพอใจในกาม ความพยาบาท ความฟุ้งซ่านรำคาญ ความหดหู่ง่วงงุน
และความลังเลสงสัย)

หมายเหตุ - ความลังเลสงสัยในการภาวนานั้น
เกิดขึ้นได้ทั้งจากไม่แน่ใจในแนวปฏิบัติ หรือบางทีเกิดจากการติดขัดอารมณ์
แล้ววนคิดวนย้ำอยู่ตรงนั้นไม่ไปไหน โดยมากจะเป็นอุปสรรคหลักของมือใหม่

เทวดาทูลถามว่า...
เมื่อธรรมทั้งหลายตื่นอยู่ ธรรมประเภทไหนนับว่าหลับ เมื่อ
ธรรมทั้งหลายหลับ ธรรมประเภทไหนนับว่าตื่น บุคคลหมัก
หมมธุลีเพราะธรรมประเภทไหน บุคคลบริสุทธิ์เพราะธรรมประเภทไหน ฯ

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า...
เมื่ออินทรีย์ ๕ อย่างตื่นอยู่ นิวรณ์ ๕ อย่าง
นับว่าหลับ เมื่อนิวรณ์ ๕ อย่างหลับ
อินทรีย์ ๕ อย่าง นับว่าตื่น บุคคลหมักหมมธุลีเพราะ
นิวรณ์ ๕ อย่าง บุคคลบริสุทธิ์เพราะอินทรีย์ ๕ อย่าง ฯ

สมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์
พระสาวกท่านปฏิบัติกันเอาเป็นเอาตาย ถึงพริกถึงขิงกันจริงๆครับ
ดูตัวอย่างจากพระเถระรูปหนึ่งนาม อุสภะ...
เราฝันว่าได้ห่มจีวรสีอ่อนเฉวียงบ่า นั่งบนคอช้างเข้าไปบิณฑบาตยังหมู่บ้าน
พอเข้าไปก็ถูกมหาชนพากันมารุมมุงดูอยู่ จึงลงจากคอช้าง กลับลืมตาตื่นขึ้นแล้ว
ครั้งนั้น ได้ความสลดใจว่า ความฝันนี้เราไม่มีสติสัมปชัญญะนอนหลับฝันเห็นแล้ว
ครั้งนั้น เราเป็นผู้กระด้างด้วยความมัวเมาเพราะชาติสกุล ได้ความสังเวชแล้ว
ได้บรรลุความสิ้นอาสวะ.

ข้อนี้แม้ท่านไม่ได้อานิสงส์จากการหลับอย่างมีสติ
แต่ก็ได้เห็นกิเลสที่ผุดเด่นขึ้นมาในฝัน
ซึ่งก็ถือว่าเป็นจิตที่ยังย้อมด้วยกิเลสเช่นขณะตื่น
ได้ตระหนักว่าตัวท่านเองยังผูกพัน ยังอาลัยกับอัตตาแบบเก่าๆ
เกิดความสังเวชกิเลสตนเองแล้วละได้ จึงถึงความสิ้นอาสวะไป
นับเป็นการเสริมส่งมรรคผลทางอ้อมจากฝันนั่นเอง

สรุปคือถ้าจะหลับอย่างมีสติแบบพุทธ
หลับเงียบ หลับเป็นสุข หลับฝันดี
ก่อนอื่นขณะตื่นอย่างน้อยต้องมีศีล มีสติสัมปชัญญะอยู่ไม่ขาด
กระทั่งจิตตื่นเป็นอัตโนมัติ จึงสามารถกำหนดก้าวล่วงลงสู่ความหลับโดยสวัสดิภาพ
สำคัญคือคงต้องกำหนดใจไว้ตอนเอนด้วย
เพราะบางคนมีครับ ที่ศีลสัตย์ดีแล้ว สติสัมปชัญญะเกือบพรักพร้อมแล้ว
แต่พอถึงเตียงก็ปล่อยทอดหุ่ยเหมือนเรือขาดหางเสือ
อย่างนี้ก็เรียกว่าหลับแบบขาดสติเหมือนคนธรรมดาทุกประการ

แต่ถ้าใครยังศีลไม่สะอาดรอบ สติสัมปชัญญะยังไม่แข็งแรง
อาจใช้วิธีกำหนดนอนราบ นิ่ง สบาย แล้วประคองจิตให้เงียบนิ่ง
ไม่คิด ไม่ขยับ ไม่เกร็ง ไม่สร้างความอึดอัดทางใดทางหนึ่ง
เหมือนทอดร่างศพไว้ในที่ที่ไร้คนเหลียวแล
และเหมือนความรับรู้ทั้งมวลคือความว่างเปล่า
อันนี้ถ้าใครยังฟุ้งอยู่มากๆคงดึงใจ หน่วงใจไว้ในอาการดังกล่าวไม่ได้
ถ้าพยายามก็อาจกลายเป็นความเครียดไป
ฉะนั้นเหมาะแล้ว ถ้าจะใช้เครื่องช่วย คือตามลมหายใจเข้าออกสบายๆไปเรื่อย
หรือถ้าลมหายใจยังเอาไม่อยู่ ก็อาจเคาะนิ้วชี้กับนิ้วกลางสลับกันเร็วๆกับฟูก
รู้เฉพาะผัสสะกระทบด้วยจิตใจสบาย เงียบเฉย
และร่างกายส่วนต่างๆที่ไม่เครียดเกร็งแม้แต่น้อย

หากหลับอย่างมีสติได้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือฐานกำลังหนุนสติในเช้าวันต่อไป

ที่มา http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/001886.htm?