Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๑๓๙

ถาม - ผมมีโรคปวดหลังและปวดคออยู่เสมอ เวลานั่งนานๆ จะเป็นอุปสรรคสำคัญ การภาวนาจึงมักทำตอนกลางคืนในอิริยาบถนอน โดยกำหนดลมหายใจไปเรื่อยๆ แต่แล้วตอนท้ายก็ผลอยหลับไปทุกที จึงไม่รู้แน่ชัดว่าการทำเช่นนั้นเป็นสิ่ง "เสียเปล่า" หรือไม่ จึงอยากทราบว่าถ้าเราจะปฏิบัติโดยใช้วิธีการนอนบนเตียงแล้วภาวนาไป จะสามารถปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จตามจุดหมายของสมถะได้หรือเปล่าครับ คือความสุขสงบได้อุปจารสมาธิ (ระงับนิวรณ์) อัปปนาสมาธิ (ฌาน) เป็นต้น

dungtrin_gru2aในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น
จะสังเกตว่าหมวดเวทนา จิต ธรรม
ไม่ได้ระบุไว้ว่าควรทำที่อิริยาบถไหน
เพราะความจริงก็คือการปฏิบัติภาวนา
ทำกันที่วิถีทางกำหนดจิต
ไม่ใช่อิริยาบถของกาย

หลังที่ตั้ง คอที่ตรง เป็นอิริยาบถเกื้อต่อการภาวนา
เพราะเป็นเครื่องหยัดตั้งของสติและความรู้ตัว
แต่เมื่อรู้ตัวจนชิน เหมือนอิ่มพลังสติ พลังรู้อยู่ภายในดีพอ
ก็เอาไปใช้กับระนาบที่หลังและคอวางราบก็ได้

อิริยาบถนอนอาจถูกใช้เป็นฐานภาวนาพิเศษกว่าอิริยาบถอื่น
ยกตัวอย่างเช่นเมื่อนอนราบลง
เราสามารถกำหนดดูความเป็นกาย
ด้วยจินตนาการว่าเมื่อวิญญาณออกจากร่าง
กายก็วางนอนเป็นท่อนไม้ไร้เจตนา กระดุกกระดิกไม่ได้
หรือเมื่อรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออก ก็เพียงเห็นว่าเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงศพ
ทำให้ศพๆหนึ่งยังคงเป็นที่อาศัยของสำนึกคิดอ่านได้ชั่วคราว

เมื่อทำจริงก็อาจถึงจุดหนึ่ง
ที่เห็นตามจริงว่ากายเป็นแค่ก้อนธาตุที่รอเวลาแตกดับ
เมื่อเห็นจริงก็อาจกลัวจริงจัง
เพราะรู้ตัวแล้วว่ากำลังแอบอาศัยอยู่ในเครื่องประหารตนเอง
วิธีแก้คือดูเข้ามาที่ภาวะรู้ หรือตัวของจิตเอง
เห็นให้ได้ว่าความกลัวเป็นสิ่งหุ้มห่อจิตชนิดหนึ่งเท่านั้น
โดยตัวของจิตเองจะถูกหุ้มห่อด้วยอะไรก็ได้
แล้วแต่วิธีกำหนด

เมื่อความกลัวลดลง
ลองกำหนดง่ายๆ สบายๆ ว่ากายนี้ผ่อนพัก
เมื่อไม่มีความเครียด ความเกร็งที่ส่วนใด
นั่นคือเครื่องหมายของความรู้สึกเป็นสุข
พอจับความสุขได้ ก็จะรู้สึกว่าจิตสว่างขึ้นมานิดหนึ่ง
หน่วงน้อมเอาความสุขนั้นเป็นอารมณ์
สร้างความรู้สึกให้มาก จนความสุขเหมือนสายน้ำที่หลั่งจากใจเราได้
แล้วกำหนดให้น้ำนั้นหลามไหลท่วมกาย แจกออกไปรอบทิศ
อย่าฝืนนึกให้ไกลเกินขอบเขต
เพราะจิตจะนึกถึงอาณาบริเวณได้จำกัดเท่าที่รัศมีจิตขณะนั้นแผ่ไปถึงจริง
ถ้าได้แค่รอบเตียงก็เอาแค่รอบเตียง
พอจิตเป็นอิสระ แน่วนิ่งมาก มีกำลังมาก ขอบเขตจะขยายวงออกไปเอง

จะทำอะไรมาแค่ไหนก็ตาม
ก็อาจกำหนดดูตามจริง
ว่าเมื่อนอนนิ่งแล้ว กายสงบแล้ว
ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่ในภายใน
เป็นความคิดในหัว เป็นความรู้สึกที่กลางอก
เห็นอะไรได้ จิตก็แยกแยะตัวเองออกมา
รู้ตัวว่าไม่ใช่ความเป็นเช่นนั้น
จะเริ่มเห็นจากภาวะหยาบทางความรู้สึกนึกคิด
พอความรู้สึกนึกคิดถูกแยกเป็นต่างหาก
จิตก็พ้นจากการยึดติดว่าตนเป็นความรู้สึกนึกคิด
พอจิตเป็นอิสระ เกิดความอิ่มสุข
จิตเห็นความอิ่มสุขนั้นได้ ก็แยกแยะออกว่าเป็นคนละส่วนกับจิต
จิตก็พ้นจากการยึดติดว่าตนเป็นความสุข
พอจิตเป็นอิสระ เหลือแต่ความรู้ ว่าง สว่างไสว
จิตเห็นรู้ว่างนั้นได้ ก็แยกแยะออกว่าเป็นคนละส่วนกับจิต
ก็อาจถึงรสของความว่างได้ ในอิริยาบถนอนนั้นเอง

http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/000591.htm?18#18