Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๑๐๕

ถาม - ศรัทธากับงมงายต่างกันอย่างไร แล้วเราจะแยกแยะกันออกจากกันได้อย่างไรคะ

dungtrin_gru2cศรัทธาที่ปราศจากการพิจารณาประกอบ โน้มเอียงที่จะเป็นความงมงายครับ
ส่วนศรัทธาที่มีการพิจารณาแล้ว
(หรือให้ดีกว่านั้นคือเห็นตามจริงจากประสบการณ์แล้ว)
ว่าสิ่งที่ศรัทธามีคุณอย่างไร มีโทษอย่างไร

เมื่อใดพิจารณาแล้วว่าสิ่งที่ศรัทธา เช่นพระพุทธเจ้าและคำสอนของท่าน มีแต่คุณ
คือเอื้อให้ดำรงตนอย่างเป็นสุข มีชีวิตโดยไม่ต้องหวาดกลัว
กับทั้งไม่มีโทษ คือไม่ต้องเอาความเชื่อทางศาสนาไปเป็นข้ออ้างเบียดเบียนใคร
มีชีวิตโดยไม่ต้องเป็นที่หวาดผวาของใครๆ

พอตรึกตรองรอบคอบแล้วจึงยึดพระพุทธเจ้ากับคำสอนของท่านเป็นสรณะ
อย่างนั้นเรียกว่าศรัทธาอันประกอบด้วยปัญญา

ความเชื่อในช่วงเริ่มต้นเพียงน้อยนิดนั้น
คือศรัทธาที่เปรียบเหมือนเปลวไฟดวงน้อยบนหัวไม้ขีด

แต่ก็อาจกลายเป็นชนวนความสว่างที่ยั่งยืน
ขอเพียงนำเปลวไฟน้อยไปประดิษฐานให้ถูกที่
เช่นไส้เทียนใหญ่คือปัญญาอันตั้งลำ มั่นคง สติปัญญา ความมีเหตุผล
และประสบการณ์ประจักษ์แจ่มแจ้งเท่านั้น

จะรักษาศรัทธาไว้ได้ตลอดรอดฝั่ง กระทั่งตัวตายไปพร้อมกับศรัทธา
เปรียบเหมือนคนตาบอดที่ผ่าตัดได้ดวงตาแล้ว
ลืมตาขึ้นเห็นสีสันและความจริงทั้งหลายแล้ว

ก็ย่อมไม่มีคนตาบอดและคนตาดีที่ไหนมาหลอกได้ว่า
โลกและสีสันความจริงเป็นอย่างอื่น ไม่ใช่อย่างที่กำลังเห็น

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของศรัทธาในศาสนาแล้ว
เมื่อยังไปไม่ถึงจุดที่ ได้ดวงตาเห็นความจริง
ก็อาจมีหลายสิ่งที่คลุมเครือก้ำกึ่งกันอยู่

บางครั้งแม้ศรัทธาอย่างมีปัญญาประกอบแล้ว ก็เหมือนจำต้องงมงายเชื่อไว้ก่อน
ยกตัวอย่างเช่นศาสนาพุทธบอกว่ากรรมวิบากมีจริง ทุกสิ่งมีเหตุผลที่มาที่ไปเสมอ
เราส่งใจพิจารณาตามแล้วก็คล้อยตามได้

โดยไม่รู้สึกว่าตัวเองเหมือนคนโง่ที่ใครพูดมาก็เชื่อหมด
แต่กรรมวิบากก็เป็นเรื่องอจินไตย

ถ้าขาดสมาธิผ่องแผ้ว ขาดตาทิพย์ทะลุมิติกรรมวิบาก
เราก็ไม่อาจพิสูจน์จะแจ้งด้วยจิตตนเองอยู่ดี

ตรงนี้แหละ ตรงที่ตระหนักว่ายังต้องฟังผู้อื่นพูด ก็ต้องอาศัยศิลปะ
อาศัยหลักการแยกแยะว่าเรารับฟังอย่างงมงาย
หรือรับฟังด้วยศรัทธาที่ประกอบปัญญา

เอาง่ายๆอย่างนี้เลยครับ หากศรัทธาแล้วเราถูกปล้นปัญญา
ปล้นเหตุผล ปล้นความเป็นตัวเราไปหมด

เขาใช้วิธีบีบคอ บอกอะไรเราต้องเชื่อหมด ขู่อะไรเราต้องหงอหมด
อย่างนั้นเขาวางตัวเป็นผู้ทำเราให้เชื่ออย่างงมงายแล้ว

แต่หากศรัทธาแล้วเรายิ่งมีปัญญาคิดอ่านอะไรทะลุปรุโปร่ง
อ่านปัญหาขาด แก้ข้อติดขัดได้หมด

กับทั้งยังคงเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องตกอยู่ในภาวะพึ่งพา
เป็นผู้ได้เหตุผลที่ทำให้ชีวิตเป็นสุขขึ้นเรื่อยๆทั้งทางใจและทางกาย

อย่างนี้เขาส่งเสริมให้เรามีศรัทธาในแบบที่เป็นขาตั้งให้ปัญญาแข็งแรง ยั่งยืน
ยิ่งฐานศรัทธากว้างขวางมั่นคงเพียงใด ปัญญาก็ยิ่งต่อยอดขึ้นสูงได้มากขึ้นเพียงนั้น

ทั้งหมดที่กล่าวก็กล่าวตามเนื้อผ้านะครับ
ไม่ใช่ข้อตัดสินแบบจำเพาะเจาะจงลงไปที่ศาสนาไหนหรือคนกลุ่มใด

พระพุทธองค์เคยให้หลักการไว้ ว่าจะเชื่อนั้นอย่าเชื่อเพราะเหตุผลอื่นใด
ขอให้คำนึงเพียงประการเดียวว่าเชื่อแล้วเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ
มีผลเป็นสุขหรือเป็นทุกข์กับตนเองและผู้อื่น

นี่แหละครับจึงจะกล่าวได้เต็มปากว่าเรามีศรัทธาแบบพุทธ