Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๑๐๓

ถาม - ทำความเพียรแค่ไหนจึงจะเรียกว่าพอดีคะ?

dungtrin_gru2cพวกเราที่ยังต้องอยู่ในเมือง
ต้องทำมาหากินหรือร่ำเรียนหนังสือเอาปริญญากันนี่
โดยมากเป็นพวกปฏิบัติธรรมแบบ part-time กันทั้งนั้นแหละครับ
คงไม่ใช่ประเภท full-time เหมือนพระป่า (ขนานแท้) ท่าน

หลายคนรู้สึกผิด เมื่อทำสมาธิไม่ขึ้น หรือวางกิเลสไม่ลง
นั่นก็เป็นเรื่องดี ถ้ามองในแง่มาตรวัดความเพียรเพื่อพ้นทุกข์
ในฐานพุทธบริษัทที่สมควรสืบทอดพระศาสนาด้วยการปฏิบัติจริงให้เห็นแจ้ง
เพื่อเป็นหลักฐาน เป็นพยานการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์
ใครเหนียมอาย หรือมัวแต่พะวงว่าตนมีกิเลสแรง
พูดเรื่องมรรคผลไม่ได้ เห็นเป็นจุดหมายไกลตัวที่ต้องไขว่คว้าในชาติต่อๆไป
นั่นแหละถึงจะน่าต่อว่า
ในฐานที่มีส่วนบั่นทอนผลขั้นสูงสุดตามพระพุทธประสงค์
ที่พระพุทธองค์ทรงก่อตั้ง สถาปนาพระศาสนาขึ้นมา
ก็เพื่อให้เวไนยสัตว์ที่มีวาสนาทั้งหลาย ได้ถึงที่สุดทุกข์ในชาติปัจจุบัน
ชาติอันประกอบพร้อมด้วยเครื่องมือคือกายใจของมนุษย์อันสมบูรณ์
ตั้งสติได้ คิดอ่านเป็นเหตุเป็นผล หยั่งจิตเข้ารู้สภาวธรรมตามจริง
เพื่อแหนงหน่ายคลายความยึดมั่นถือมั่น วางอุปาทานในรูปนามลง
สามารถรู้ทะลุรูปนามเห็นนิพพานได้

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนของการถึงที่สุดธรรมนั้นมีอยู่เป็นธรรมดา
ไม่ต่างกับการทำงานทางโลก
ที่ไม่มีใครกระโดดพรวดพราดขึ้นเป็นประธานบริษัทในก้าวเดียว
ในเมื่อฟังธรรมโดยดีแล้วไม่บรรลุมรรคผล
ก็ต้องตระหนักรู้ว่าตนเองมีศักยภาพยังไม่เต็มอัตรา (ที่ถูกกำหนดไว้ในธรรมชาติสังสารวัฏ)
ต้องหมั่นสั่งสม หมั่นสร้างเสริมไปวันต่อวัน
ตอนแรกเหมือนทึบๆ มืดแปดด้านอยู่
แต่หากกำหนดใจไปตามทางศีล สมาธิ ปัญญา
ถ้าฉลาดขึ้นมานิด ก็จับเคล็ดได้ว่าศีล สมาธิ ปัญญามารวมที่ใจดวงเดียว
ดวงที่ไม่ก่ออาการแปลกปลอมอื่นใด นอกจากรู้อย่างเป็นกลาง
มาตรวัดความเป็นกลางก็อยู่ตรงที่เห็นใจ เคลื่อน ออกจากฐานที่มั่น
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้หรือไม่

ฐานดังกล่าวได้แก่กายใจนี้เอง
บางคนอาจคิดว่าทำไมอยู่ดีๆต้องเอาความรู้สึกนึกคิดมาเกาะไว้กับกาย
จะได้ประโยชน์อะไร
บางคนอาจคิดว่าทำไมอยู่ดีๆต้องเอาสติไปจดจ่ออยู่กับสภาพของจิตใจ
ไม่เห็นมันจะน่าเสียกำลังงานไปเปล่าๆปลี้ๆ
ทางพ้นทุกข์อย่างเด็ดขาด
การได้ประโยชน์สูงสุดจากค่าของความเป็นมนุษย์
ก็แค่เอาสติมาจ่อกับกายใจเท่านี้เองหรือ?

คนที่เขาเอาสติมาจ่อกับฐาน คือกายนี้ใจนี้
ถึงบางอ้อว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัสนั้นเป็นจริงแน่นอน
ไม่ว่าจะปีก่อน ปีนี้ หรือปีหน้า
นั่นคือถ้าไม่เอาสติมาจ่อไว้
ใจมันก็นึกไปว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวตนเราเขา
มองไม่เห็นตามจริงหรอกว่ากายเป็นแค่โครงกระดูก เนื้อหนัง
น้ำเลือดน้ำหนองมาประชุมกัน
ธาตุสกปรกเหล่านั้นมีความเป็น มนุษย์ ได้ก็เพราะวิญญาณที่ครองนั้น
มีระดับบุญญาธิการสูงส่งพอ ประกอบด้วยธาตุสติ ธาตุปัญญา
เพียงพอจะสื่อภาษา

ประกอบด้วยธาตุมโนธรรม
เพียงพอจะมีสามัญสำนึกร่วมกับสังคมที่อยู่ร่วมกันดีๆ

เมื่อไม่มองเข้าไปที่การทำงานของใจ รายละเอียดของใจตรงๆ
ก็มองไม่เห็นตามจริงหรอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอก เนื่องด้วยกายหยาบก็มิติหนึ่ง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน เนื่องด้วยใจและความรู้สึกนึกคิดก็อีกมิติหนึ่ง
จะมีโลภะ โทสะ หรือโมหะ อาจไม่จำเป็นต้องถูกชักจูง
หรือเหนี่ยวนำจากเหตุการณ์ภายนอกเสมอไป
แรงขับดันในการคิด พูด ทำต่างๆ
ยืนพื้นอยู่บนฐานที่มั่นและมุมมองโลกของแต่ละคน
กรรมวิบากอันหลากหลายจึงปรากฏแตกต่าง
พิสดารพันลึกไม่รู้จบรู้สิ้น

หากตัดอุปาทานว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเป็นตนของใครออกเสียได้
กรรม อันเป็นพฤติของจิตในภายใน
ก็ได้ที่ยืนใหม่ ได้ความมุ่งหมายในการใช้ชีวิตแบบใหม่
แบบที่จะพ้นออกไปจากอุปาทานในตัวตน
สลัดคืนเหตุแห่งทุกข์ทิ้งไปเสีย

เมื่อไหร่ที่ยังมีสติจ่ออยู่กับกายใจ
เมื่อนั้นเรียกว่าเป็นผู้มีจิตวิญญาณของนักปฏิบัติ
การประคองให้เกิดการจ่อกับกายใจอันแสดงความแปรปรวน
เรียกได้ว่าเป็นความเพียร
แต่เมื่อไหร่เกิดความทุกข์ขึ้นจากความเพียร
แล้วยังฝืน ยังขืนเคี่ยวเข็ญตัวเองไม่เลิก
ก็นับว่าแสดงให้เห็นความเป็นผู้ปราศจากสัมมาทิฏฐิอันถ่องแท้

การเป็นสัมมาทิฏฐินั้น ใช่จะวัดแค่ว่าศรัทธา
หรือเชื่อมั่นพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นรก สวรรค์ นิพพาน
แต่ต้องหมายถึงความเข้าใจแจ่มแจ้ง
ว่าพระพุทธศาสนานั้น มีขึ้นก็เพื่อความดับทุกข์ด้วยประการทั้งปวง
ถ้ายังเป็นทุกข์แม้เพื่อพระศาสนา เพื่อการปฏิบัติ
ก็กล่าวได้ว่าสัมมาทิฏฐิไม่ประดิษฐานอยู่ในใจขณะนั้นแล้ว

ศิลปะในการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
โดยดำเนินอยู่บนวิถีที่เป็นสุข และว่างจากความคาดหมาย
ว่างจากความหมายมั่นยึดถือใดๆนั้น
เป็นเรื่องยากสำหรับผู้เริ่มต้น
หรือแม้แต่สำหรับผู้ที่คร่ำหวอดกับการปฏิบัติมานับสิบๆปี
ทุกท่านจึงควรสำรวจตนเอง
ว่าเบี่ยงเบนจากการถูกครอบงำด้วยทุกข์หยาบๆตามครรลองโลก
มาถูกครอบงำด้วยทุกข์ละเอียดตามครรลองธรรมหรือเปล่า

หากทราบว่าวิธีรู้อยู่ที่จิตตั้งมั่นสักแต่เห็นทุกสิ่งเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ
แม้ความคิด ความกังวล และความอะไรต่อมิอะไรอันเป็นพฤติของจิต
ก็เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ
นั่นแหละ ความเพียรจึงจะสามารถเข้าที่เข้าทาง
เหมือนนักกีฬาที่เข้าใจการเคลื่อนไหวแขนขา
ให้ยืดหยุ่นตามจังหวะจะโคนอย่างถูกต้อง

ตระหนักออกมาจากความรู้ภายใน
ว่าความเครียด ความเกร็ง หรือการร้อนตัวร้อนใจไปก่อนการณ์
ล้วนเป็นอุปสรรค ไม่ใช่แรงเร่งให้เกิดความคืบหน้า

ใจที่เงียบนิ่ง หยัดสติตั้งได้ง่ายๆก่อนจับอารมณ์มาขึ้นแท่นพิจารณานั้น
แน่นอนว่าไม่ได้สร้างกันในวันสองวัน
ไม่ได้สร้างด้วยทางอื่นนอกจากศีล สมาธิ ปัญญา
การถูกโลกภายนอกทุบตีหรือทะนุถนอม
ล้วนใช้เป็นแบบทดสอบได้ ว่าใจเรากำลังประกอบความเพียร
เพียงพอที่จะเป็นกลางอยู่ได้เสมอๆหรือไม่
ไม่จำเป็นต้องไปเร่งความเพียรเพิ่มขึ้น
ให้มากกว่าที่ควรรักษาใจเป็นกลางไว้ตลอดวันเลย

การนั่งสมาธิ การเดินจงกรม การพลิกแพลงพิจารณาไตรลักษณ์ของขันธ์
ล้วนเป็นเพียงส่วนปรุงแต่งให้ใจวาง ใจว่าง
และปล่อยความยึดมั่นถือมั่นถึงที่สุด
ท่าทางปฏิบัติภาวนาทั้งหลาย ไม่น่าจะถูกยกย่องว่าดีด้วยปริมาณชั่วโมงที่ทำ
แต่ควรถูกยกย่องว่าดีด้วยคุณภาพใจที่เป็นผล
หากคุณภาพใจดี เห็นแจ้งในรูปนามจนปล่อยวางสนิท
จะสิบชั่วโมง สองชั่วโมง หรือกระทั่งห้านาที
ก็เป็นที่น่าพอใจยิ่งแล้ว
สำหรับนักปฏิบัติ part-time อย่างพวกเรา

http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/000846.htm