Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๙๙

{audio}audio/dm04_visachana/dm04_099.mp3{/audio}

ถาม - ความต่างระหว่างการเข้านิโรธสมาบัติกับการเสวยวิมุตติสุข คืออะไรครับ

dungtrin_gru2ถ้าหากดูจากพระสูตร
จะเห็นว่า วิมุตติสุข นั้นดูเหมือนสงวน
หรือจองไว้ให้บรรดาพระอรหันต์ท่านเท่านั้น
และไม่จำเพาะว่ากำลังเข้าสมาธิหรือเดินจงกรม
แต่ขณะกำลังลืมตาอยู่ดีๆนี่ก็เสวยวิมุตติสุขได้
ยกตัวอย่างเช่น

ภเวสีภิกษุได้คิดว่า เราแลเป็นผู้ได้ตามความปรารถนา
ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ซึ่งวิมุตติสุขอันเป็นธรรมชั้นเยี่ยมนี้

ก็สมัยนั้นแล ท่านพระวังคีสะ เป็นผู้บรรลุพระอรหัตแล้วไม่นาน
เสวยวิมุตติสุขอยู่ ได้กล่าวภาษิตคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า...

แต่ก็มีหลายแห่งที่ใช้คำว่าวิมุตติสุขเป็นรสอันได้ขณะนั่งสมาธิ เช่น

...ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข
โดยบัลลังก์เดียวตลอด ๗ วัน...

อันนี้แสดงให้เห็นว่าวิมุตติสุขเป็นคำกลางๆ
แสดงโดยเน้นนัยของความเป็นสุขเวทนาอันคนทั่วไปเข้าใจได้
กล่าวคือจัดเข้าข่ายความสุขชนิดหนึ่ง เป็นความสุขอันเกิดแต่ใจที่หลุดพ้น
ใจที่ไม่ยึดเอารูปนามทั้งหยาบและละเอียดทั้งหลายไว้เป็นตัวตนแม้แต่น้อยหนึ่ง

พูดง่ายๆใช้ขณะลืมตาหรือหลับตา ขณะอุทานภาษิต หรืออย่างไรก็แล้วแต่
ขออย่างเดียวให้อุปาทานขันธ์ขาดสิ้นไปจากขันธสันดานแล้วเป็นพอ
ความขาดสิ้นไปอย่างสนิทแห่งอุปาทานขันธ์นั้นเองให้ผลเป็นวิมุตติสุข

ส่วนนิโรธสมาบัตินั้น ประการแรกไม่สงวนไว้เฉพาะพระอรหันต์
กล่าวคือพระอนาคามีก็เข้านิโรธสมาบัติได้
โดยมีข้อแม้ว่าต้องทำสมาบัติ ๘ ได้บริบูรณ์
เพราะเงื่อนไขของการถึงนิโรธสมาบัติคือจิตต้องละเอียดใกล้ดับสัญญา
แล้วใช้ความละเอียดระดับนั้นก้าวล่วงความมีสัญญาไปสู่การดับสัญญา
และไม่เสวยเวทนา แม้อุเบกขาเวทนาก็ไม่มี
ความไม่ถูกขันธ์กระทบอย่างเด็ดขาดนั้นเองคือนิพพาน
ตำรากล่าวว่าเป็นนิพพานตรง (นิปปริยายนิพพาน)
เพราะพระพุทธองค์เคยแสดงไว้สำหรับผู้อยากเห็นนิพพานของแท้
ว่าเป็นไปได้ด้วยการเข้าให้ถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ (ดูในเรื่องสันทิฏฐิกนิพพาน)

เมื่อเป็นสภาวะที่ไม่ถูกขันธ์กระทบ
จะลืมตา จะเดินจงกรม หรืออุทานภาษิตใดๆนั้นย่อมไม่ใช่วิสัย
มีแต่พระอริยะชั้นสูงระดับอนาคามีหรืออรหันต์
ที่นั่งสมาธิถึงสมาบัติ ๘ แล้วล่วงสมาบัติทั้งหมดเสียได้นั่นแหละครับ
จึงจะ ถึงนิพพาน จริงๆ

อย่างไรก็ตาม นิพพานเป็นอายตนะภายนอกชนิดหนึ่ง
เพราะถูกจิตรู้ได้ เสวยอารมณ์ได้
ดังนั้น เมื่อใครเห็นนิพพานแล้ว นับแต่บรรลุมรรคผลเป็นพระโสดาบันขึ้นไป
ก็ย่อม หมายจำ ได้ว่าเป็นอย่างไร
(ใครมาหลอก มาชักจูงว่าเป็นอื่นนอกจาก "ความเป็นเช่นนั้น" เป็นไม่สำเร็จ)
ประกอบกับที่สักกายทิฏฐิขาดสูญ อันเป็นผลจากญาณล้างผลาญสังโยชน์
มีใจใสเบา ละอุปาทานขันธ์ได้ด้วยการกำหนดกายใจเป็นไตรลักษณ์
พวกท่านก็เสวยวิมุตติสุขเหมือนกัน
เพียงแต่ไม่ใช่วิมุตติขนานแท้และดั้งเดิมเหมือนอย่างพระอรหันต์
โบราณาจารย์ท่านไม่ให้การรับรองในการใช้คำนี้กับอริยเจ้าชั้นต่ำกว่าอรหันต์ลงมา

อีกประการหนึ่ง
ขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ ถูกเห็นเป็นไตรลักษณ์
จิตหมดความอาลัยถือมั่นได้ชั่วคราวในระดับหนึ่ง แม้ในปุถุชน
อันนี้พระพุทธเจ้าก็เคยตรัสบอกกะพระอานนท์ไว้
ว่าถ้าใครถามถึงนิพพานชั่วคราว ก็ให้ดูตอนราคะ โทสะ และโมหะดับไป
(เน้นกิเลสข้อโมหะเป็นสำคัญ ว่าดับไปในระดับละเอียด
ไม่ใช่แค่ดับไปแบบหยาบๆเช่นตูเก่ง ตูหล่อ ตูสวย
แต่ดับไประดับละเอียด เห็นแจ้งตามจริงว่ากายนี้ใจนี้สักแต่เป็นสภาวธรรม)
ตรงนี้ปุถุชนที่ยังไม่เข้าใจการดับทุกข์อย่างสนิท
ก็สามารถอนุมานได้ รู้ได้ว่าจิตที่ปราศจากทุกข์คือจิตที่ขาดจากอุปาทาน
เมื่อใดอุปาทานขาดชั่วคราว ก็ปราศจากทุกข์ชั่วคราว
เมื่อใดอุปาทานขาดถาวร ก็ปราศจากทุกข์ถาวร
เป็นความเห็นแจ้งชนิดไร้ข้อกังขา
แม้ยังไม่เห็นนิพพาน ก็รู้ว่าทางเดียวที่จะไปนิพพานคือหมดความยึดถือขันธ์

อย่างนี้ก็พอเรียกว่าแตะๆต้องๆวิมุตติสุขบ้างเล็กน้อย
คงเปรียบเทียบได้กับคนที่เหาะไม่ได้ ยังทำตัวเบาและบินไปในอากาศแบบนกไม่ได้
แต่ถ้าเคยนั่งรถไฟเหาะ หรือโดดร่มมาก่อน
แม้ยังมีน้ำหนักที่ดูดให้ดิ่งลง จมลง
ก็พอสัมผัสได้ล่ะว่าลอยอยู่เหนือโลกมีความสุขล้นปรี่ปานไหน