Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๙๖

ถาม - จิตรวมและจิตสว่างเป็นอย่างไรครับ

dungtrin_gru2จิตปกติที่นึกคิด
จะมีอาการแกว่งไปแกว่งมา โยนตัวแรง
เมื่อโยนตัวแต่ละครั้งจะไม่รู้สึก
เพราะแกว่งเป็นนิตย์ โยนตัวเป็นนิตย์อยู่แล้ว

ธรรมชาติจิตของคนมีการศึกษานั้น
จะรู้สึกว่าตัวเองฉลาดเมื่อคิด
ถ้าไม่คิด เอาแต่รู้อะไรทื่อๆอย่างเดียว
จะเหมือนโง่ลง
ไม่ชอบใจที่จะปราศจากความคิด
อยากกลับไปหาความเคยชินที่จะคิด

การจะรู้จักจิตรวมได้
ต้องยอมโง่ เหมือนถอยไปตั้งหลักเพื่อพัฒนาปัญญาระดับสูง
ปัญญาที่ดีกว่าความฉลาดทางความจำ ความคิดอันเป็นตรรกะ
ต้องยอมเอาจิตไปฝากไว้กับที่ใดที่หนึ่งอย่างเดียวจริงๆ
ไม่กระโดดไปกระโดดมา หรือมีความพะวงตกค้าง

อย่างถ้าฝากใจไว้กับลมหายใจเข้าออก
ก็ต้องรู้อาการเข้าออกอย่างเดียว
อย่างอื่นไม่ต้องไปนึกถึง
หรือถ้าพยายามจับลมหายใจแล้วรู้สึกจิตเลื่อนไป เลื่อนมา
ตามดูยากนัก
ก็ลองเอาแค่อย่างเดียว จุดเดียว
ปักใจลงไปกับตำแหน่งที่สุดลมหายใจกลางอกเท่านั้น

ธรรมชาติของใจเมื่อนึกอะไรอย่างเดียวสักพัก
จะเหมือนนึกออกถึงสิ่งนั้นเพียงหนึ่งเดียว
ยิ่งถ้ามีอาการประคอง ไม่เหลาะแหละลดเลี้ยวไปไหน
ลักษณะนึกออกอย่างเดียวนั้นก็จะแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ
จนเหมือนศูนย์กลางการรับรู้ทั้งหมดไปอยู่ที่นั่นแห่งเดียว

นั่นคือจิตรวม
เป็นจิตรวมอ่อนๆ
ลักษณะของจิตรวมที่แตกต่างจากจิตนึกคิดซัดส่ายธรรมดาอย่างเห็นได้ชัด
คือเมื่อมีการแกว่งตัว หรือเสียศูนย์ไปตามความคิดจร
จะเห็นอาการได้
กับทั้งเมื่อนึกดึงกลับมาสู่ศูนย์ใหม่ ก็ทำได้ไม่เหลือวิสัย

อีกอย่างหนึ่ง ในขณะของจิตรวม
จะเห็นว่าสายความคิดเบาบางลงมาก
เบาบางพอที่จะจับรู้ แยกออกเป็นต่างหากจากจิตผู้ดู ผู้เฝ้ารู้
เรียกว่าจิตรู้เด่นกว่าอาการของจิตคิด
เพราะจิตคิดก็ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากอาการกระเพื่อมของจิต
กระเพื่อมด้วยสัญญากำหนดหมายเก่าๆ ผุดความจำเก่าๆ

เมื่อนามละเอียดคือผู้รู้ รวมดวง แยกจากนามหยาบคือความคิดจรได้เด็ดขาด
ความรู้สึกในตัวตนก็หายไป
เมื่อความรู้สึกในตัวตนหายไป
เห็นความคิดสักแต่เป็นธรรมที่ผุดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วขณะ
แล้วดับไปเยี่ยงสิ่งมีอายุขัยทั้งหลาย
ก็เรียกว่าเป็นการเห็นไตรลักษณ์ได้อย่างเต็มภูมิ

สำหรับจิตสว่างนั้น
เฉียดกันกับจิตรวมนิดเดียว
บางคนจิตรวมมาหลายครั้งแต่ไม่เคยสว่าง
วิธีก็ง่ายนิดเดียว เมื่อจิตรวมดวง
ให้แผ่ความรู้สึกออกมาเสียบ้าง
กำหนดความกว้างเป็นอาณาเขตว่างรอบกาย
ไม่ต้องให้กว้างมาก
แต่ให้เหมือนคลี่ตัวออกมาจากความแน่นหนาตรงใจกลางบ้าง
เมื่อไม่เสียศูนย์ และสามารถเบิกบานเหมือนยิ้มออกมาจากภายในได้พักหนึ่ง
ก็จะรู้สึกสว่างขึ้นเองด้วยความอิ่มใจ ปีติจิตนั้นเอง