Print

ดังตฤณวิสัชชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๔๔๖

 

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๔๔๖

มกราคม ๒๕๖๖

 

การฝึกนั่งสมาธิแบบหลับตากับแบบลืมตามีความแตกต่างกันหรือไม่

 

ถาม (๑) – การฝึกนั่งสมาธิแบบหลับตากับแบบลืมตา มีข้อดีข้อเสียต่างกันหรือไม่ครับ


ตอบ
(๑) - การฝึกแบบหลับตาทำให้นิมิตมันเกิดแจ่มชัดขึ้นในห้วงมโนทวาร
ซึ่งมันมีข้อดีว่าถ้าหากว่าเราสามารถฝึกจนชำนาญ จนกระทั่งมีสมาธิตั้งมั่นแล้ว
นิมิตติดตานั้น มันจะเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าเราจะลืมตาขึ้นแล้ว
อย่างเช่นลมหายใจ เวลาที่เราเห็นแจ่มชัดอยู่ด้วยมโนทวารนะครับ
มันเป็นสาย มีความสว่าง แล้วก็มีความแยกเป็นต่างหากจากภาวะทางกาย
เวลาที่เราลืมตาขึ้นด้วยสมาธิที่ยังคงอยู่
มันก็จะเห็นแบบนั้น คล้ายๆ แบบนั้น หรือว่าเสมอกันกับแบบนั้น
ซึ่งหมายความว่าเราจะมีเครื่องระลึกหรือว่าวิหารธรรม
คืออานาปานสติ ติดตัวไปตลอดเวลาที่ลืมตาตื่น

 

ส่วนการลืมตามันก็จะมีประโยชน์ในช่วงต้น เวลาเราฝึกไปเนี่ย
ถ้าฝึกลืมตาแล้วสามารถรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกได้
ก็หมายความว่าในชีวิตประจำวัน เราก็สามารถที่จะระลึกถึงลมหายใจ
หรือว่ารู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกได้แบบที่ในขณะที่เราฝึกนั่นเองนะครับ
ฝึกทั้งลืมตาทั้งหลับตาเนี่ย ดีทั้งนั้นแหละ

……………………………………………………………………

ถาม (๒) - เราสามารถนั่งสมาธิโดยเอาหลังชิดกำแพงได้ไหมครับ
เพราะถ้านั่งหลังไม่ชิดกำแพง ผมจะรู้สึกกังวลในการนั่งให้หลังตรงครับ


ตอบ (๒) - คืออย่างผมเองเนี่ย ก็บางทีคือพอมีปัญหาเรื่องหลัง อายุอะไร
มันก็นั่งพิง นั่งพิงเหมือนกันนะ
แต่บางทีถ้ารู้สึกว่าวันไหนไม่ได้ปวดหลังอะไรก็นั่งหยัดตัวอยู่ได้ ก็นั่งไป
ผมก็มีตัวที่นั่งเมมโมรี่โฟม (
memory foam)
ที่มาช่วยค้ำให้หลังมันนั่งตรงได้มากขึ้น อันนี้ก็อยู่ในห้องพระ
แต่ถ้าอยู่ตามสถานที่อื่นๆ อะไร ก็เอนพิงพนักไปให้คอตั้งหลังตรงได้
มันไม่ใช่เรื่องผิด มันไม่ใช่เรื่องที่เราทำนอกกติกาอะไรหรือเปล่านะ
เอาแค่ว่าถ้าเราสามารถอยู่ในท่านั่งคอตั้งหลังตรงได้อย่างมีสติ
แล้วก็รู้สึกถึงลมเข้าออกได้สะดวก อันนี้มันได้หมดนะครับ


……………………………………………………………………

 

ถาม (๓) ผู้ที่ไม่ถึงมรรคผลจากชีวิตก่อนแต่ว่าใกล้เคียงแล้วที่จะบรรลุธรรม
เขาพลาดจากตรงไหนคะ

 

ตอบ (๓) - มีสารพัดเหตุสารพัดปัจจัย ทำไม่ตรงทางบ้าง
หรือว่าอินทรีย์อ่อนบ้าง กำลังใจอ่อนน่ะ
บางทีบอกว่าขอไปชาติหน้าแล้วกัน
ชาตินี้ขอเพลินไปก่อนอะไรแบบนี้ มันสารพัด
ถ้าอยากรู้ว่าคนเราพลาดมรรคพลาดผลกันได้อย่างไร
ดูจากปัจจุบันนี่แหละ
ตรงที่มีเหตุปัจจัยอะไรมาดึงให้เขวบ้าง
มาดึงให้สงสัยบ้าง มาดึงให้เกิดความไม่เต็มใจทำต่อบ้าง
มาดึงให้เกิดความรู้สึกยังไม่อยากไปบ้าง


เหตุปัจจัยในปัจจุบันเป็นอย่างไร เหตุปัจจัยในอดีตก็อย่างนั้นแหละ
แล้วอย่างบางคนเนี่ยคือแน่วแน่มาก
บอกว่าชาตินี้ฉันไม่เอาหรอกนิพพาน ขอไปเอาชาติหน้า
คือนึกว่าตัวตนในชาติหน้าจะต่างจากชาตินี้
ไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่าตัวตนชาตินี้เนี่ย มันชอบใจหรือว่าฝักใฝ่อย่างไร
ตัวตนหน้ามันก็ชอบใจอย่างนี้ ฝักใฝ่อย่างนี้แหละ