Print

ดังตฤณวิสัชชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๔๔๓

 

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๔๔๓

พฤศจิกายน ๒๕๖๖

 

พื้นฐานของกรรมฐานคืออะไร


ถาม – ในการทำกรรมฐานที่ต้องมีพื้นฐานคือจิตเป็นสุขนั้น
คุณดังตฤณใช้อะไรทำให้จิตเป็นสุขครับ

 

ตอบ - จริงๆ ฐานของกรรมฐาน
ต้องบอกเจาะจงนิดหนึ่งว่าไม่ใช่ความสุขนะครับ
แต่เป็นจิตที่ตั้งมั่น จิตที่มีความพร้อมจะรู้มากกว่าพร้อมจะคิด

เพราะว่าจิตที่พร้อมจะฟุ้งซ่านไป มันจะไม่สามารถที่จะเห็น
ว่าภาวะไหนเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ภาวะไหนดับไปเมื่อไหร่
แต่ถ้าจิตมีความรู้แล้วไม่คิดอะไรเลย มันสามารถเห็นเลย

เหมือนกับอยู่ในห้องว่าง อยู่ในห้องว่างเปล่าๆ
มีควันธูปเข้ามา ลอยเข้ามาในหน้าต่าง
สามารถเห็นได้ว่ามันเข้ามาตอนไหน แล้วมันสลายตัวจางตัวไปเมื่อไหร่

 

แต่ถ้าหากว่าห้องรกรุงรัง มืด มืดทึบ ไม่สามารถเห็นได้
แม้กระทั่งแมวกระโจนเข้ามา บางทีมันยังมองไม่เห็น
ก็เปรียบเหมือนกับจิตที่ฟุ้งซ่าน แล้วก็มืดดำอยู่ด้วยอกุศล
โอกาสที่จะเห็นอะไรที่มันแสดงความไม่เที่ยง
เกิดขึ้นเมื่อไหร่หายไปเมื่อไหร่ เกือบจะเป็นศูนย์เลย
ขณะที่ถ้าจิตมีความว่างมีความสว่างเหมือนกับห้องว่าง
อันนี้อะไรเกิดขึ้นเมื่อไหร่แล้วหายไปเมื่อไหร่ สามารถเห็นได้ง่ายๆ นะครับ

 

เพราะฉะนั้นคือไม่ใช่ความสุขนะที่เป็นพื้นฐานของกรรมฐาน
แต่เป็นจิตที่ตั้งมั่น จิตที่ว่างจากความฟุ้งซ่านต่างหาก

ซึ่งจิตที่ว่าง จิตที่มันมีความสว่าง ปราศจากความฟุ้งซ่าน
มันก็มีความสุขอยู่จริงๆ
แต่ความสุขในแบบที่จิตว่างจิตสว่าง
มันยังมีความละเอียดประณีตขึ้นไปถึงระดับที่เฉยเป็นอุเบกขา
อุเบกขาในที่นี้ไม่ใช่รู้สึกเฉยๆ จืดๆ นะ
แต่เป็นจิตใหญ่ ตั้งมั่น ที่มีความนิ่งเป็นอุเบกขา

ไม่ตื่นเต้น ไม่มีความรู้สึกซาบซ่าน เย็น มีความสุข
แต่ว่าจะมีความรู้สึกว่าง ว่างราวกับเป็นหลอดไฟ
ที่แสงสว่างมันส่องไปทั่วทั้งโลกทั่วทั้งจักรวาลโดยไม่มีสี ส่องสว่างแต่ไม่มีสี
เหมือนกับจิตที่มันโปร่งใส ไร้ความรู้สึกว่าเป็นสีขาวสีอะไร
มันมีแต่ความใส มันมีแต่ความกระจ่าง มีความเห็นชัด มีความคมชัด

 

ทีนี้ถามว่าผมใช้อะไรทำจิตให้เป็นสุข
คือผมไม่ได้สนใจความสุขนะ คือมันไม่อยากให้จิตเป็นทุกข์นะ
แต่ไม่สนใจว่าเมื่อไหร่เราถึงจะทำให้ความสุขที่ยิ่งใหญ่มันเกิดขึ้น
แล้วก็ไม่สนใจว่าเนี่ยตอนนี้มีความสุขอ่อนๆ แล้ว มันจะหายไปเมื่อใด
แต่สนใจว่าลมหายใจไหนที่มันมีความสุข มันพาเอาความสุขเข้ามา
แล้วลมหายใจไหนที่ความสุขนั้้นมันแสดงอาการสลายตัวไป
คือสนใจแค่ว่าความสุขเนี่ยมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แล้วหายไปตอนไหน
สนใจอยู่แค่นั้นจริงๆ แล้วก็กลายเป็นความเคยชินไปแล้ว
คือปฏิบัติจนเคยชินที่จะเห็นอย่างนี้นะ
ว่าสุขเกิดขึ้นเมื่อไหร่ สุขหายไปเมื่อไหร่
สุขมากขึ้นเมื่อไหร่ สุขน้อยลงเมื่อไหร่

 

การสังเกตอยู่อย่างนี้จะทำให้เกิดข้อสรุปทางจิต
ว่าความสุขไม่เที่ยง ไม่น่าให้ค่า ไม่น่าให้ความสำคัญ
แต่น่าสังเกตว่ามันไม่เที่ยง

แล้วการเห็นความไม่เที่ยงของความสุขนี่แหละ
ที่จะพาเราออกจากความทุกข์

เพราะว่าพอไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่เกิดอุปาทานแล้วว่าจะต้องเอาสุขให้ได้
มันก็ไม่แคร์ว่ามันจะมาเมื่อไหร่หรือว่าไปเมื่อตอนไหนนะครับ
เพราะว่าถ้าหากจะคาดหวังนะ อย่างหลายคนเลยทำสมาธิ
แล้วคาดหวังว่าจะได้มีความสุขแบบเมื่อวันก่อนที่ทำได้แบบสุขล้นหลามเลย
แล้วมันมีความทุกข์ขึ้นมาทันทีว่าทำไมวันนี้ทำไม่ได้


ความทุกข์จากการคาดหวังที่จะได้เป็นสุขเนี่ย
ตัวนี้แหละที่มันทำให้เราเกิดความกระวนกระวาย
แล้วความกระวนกระวายเนี่ยแหละคือความทุกข์ตัวใหญ่เลย
ตัวความสุขมีขึ้นเพื่อให้เราสังเกตว่ามันไม่เที่ยงเท่าๆ กับความทุกข์
เมื่อไหร่ที่ความทุกข์กับความสุขถูกมองว่ามีค่าเท่ากัน
คือมาแสดงความไม่เที่ยง
เมื่อนั้นคุณจะมีสติและอุเบกขา

ความรู้สึกเป็นกลางว่ามันไม่มีอะไรที่ควรคาดหวังเลย
ตัวนี้แหละที่เป็นความสุข
ความสุขจากการไม่คาดหวังว่าจะได้มีความสุข
นั่นแหละคือความสุขที่แท้จริง