Print

ดังตฤณวิสัชชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๔๓๗

 

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๔๓๗

สิงหาคม ๒๔๖๖

 

ถ้าไม่มีศีลจะสามารถเห็นความไม่เที่ยงในกายใจได้ไหม

ถาม – ถ้ารักษาศีลไม่ครบจะสามารถรู้ความไม่เที่ยงในกายใจได้ไหม
และการหายใจเพื่อเห็นความไม่เที่ยงมีลักษณะอย่างไรคะ

ตอบ คือมันมีสองอย่างนะ ศีลทำให้จิตมีความตรง
แล้วก็พร้อมที่จะรู้อะไรตามจริง นี่คือธรรมชาติของศีล
แต่ถามว่ามีศีลกับไม่มีศีล ถ้าไม่มีศีลเห็นความไม่เที่ยงได้หรือเปล่า
มันก็ยังได้อยู่ถ้าคุณเห็นอย่างถูกต้อง มีวิธีรู้ มีมุมมองที่ใช่
ตรงข้ามต่อให้มีศีลถ้ามองผิดหรือเข้าใจผิด ไม่ตั้งไว้เป็นสัมมาทิฐิ
อย่างนี้มันก็เห็นความไม่เที่ยงไม่ได้เหมือนกัน

อนิจจังหรือความไม่เที่ยงเนี่ย
ถูกรู้ได้ด้วยสติของคนที่สามารถเห็นอะไรตามจริง แล้วก็ตั้งมุมมองไว้ถูกต้อง

ยกตัวอย่างเช่นถ้าจะเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ
ไม่ใช่มาสังเกตแค่ครั้งสองครั้ง
แต่ต้องสังเกตจนกระทั่งจิตมีความเป็นปกติที่จะรับรู้ลมหายใจได้ต่อเนื่อง
อย่างน้อยสองถึงสามลมหายใจขึ้นไป
ไม่ใช่พอรู้ลมหายใจเดียว แล้วใจกระโดดไปถึงสิ่งอื่นคิดสิ่งอื่น
หรือมาเกิดความสงสัยว่านี่เราจะดูไปทำไม
แบบนี้เนี่ยไม่มีทางที่จะเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจได้

แต่ถ้าหากว่าใจเบาๆ ใจสบายๆ พูดง่ายๆ ว่าจิตว่าง
ว่างจากความอยากโน่นอยากนี่ ว่างจากความคิดสงสัยโน่นสงสัยนี่
เป็นความว่างที่เป็นไปเอง เกิดขึ้นเองด้วยความรู้สึกว่าใจเบาใจสว่าง
ใจมีความสุขอยู่กับความว่างตรงนี้
ไม่ใช่ติดความว่างนะ แต่มีความพอใจที่จะอยู่กับความว่างตรงนี้
แล้วอาศัยความว่างของจิตแบบนี้ ไปสังเกตลมหายใจด้วยความรู้สึกใจเย็น
ไม่ใช่ว่ารีบเร่งให้เห็น หรือว่าจะอยากดูความไม่เที่ยงเดี๋ยวนี้

แต่แค่มีท่านั่งอยู่อย่างนี้ แล้วในท่านั่งนี้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
แล้วเราก็โอเคเนี่ยเราเห็นทีหนึ่งแล้ว (คุณดังตฤณหายใจเข้า)
เนี่ยเห็นอีกทีหนึ่งแล้ว (คุณดังตฤณหายใจออก)
นี่เห็นอีกทีหนึ่ง (คุณดังตฤณหายใจเข้า)
เห็นโดยที่ไม่คาดหวังอะไรเลยนะ
สังเกตอยู่อย่างเดียวว่ามันเข้าหรือมันออก
แล้วครั้งนี้เนี่ยมันหายใจทั่วท้องไหม
ถ้าหายใจทั่วท้องมันจะเป็นลมหายใจยาวที่ให้ความสุข
แต่ถ้าหายใจสั้น หายใจห้วนๆ แบบนี้มันจะรู้สึกเฉยๆ
หรือไม่ก็มีความอึดอัดทางกายอยู่หน่อยๆ

ด้วยการเห็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ด้วยการตั้งมุมมองแบบนี้
ในที่สุดเนี่ยมีปกติของจิตเป็นสมาธิ ที่จะรู้ว่าลมหายใจแต่ละครั้งเนี่ย
บางทีมันเท่าเดิมไปสักร้อยหนพันหน แต่ในที่สุดมันต้องแสดงความไม่เท่าเดิม

ในครั้งที่หนึ่งพันหนึ่งหรือหนึ่งร้อยหนึ่งให้ดู
ว่ามันสั้นลงได้หรือว่ามันไม่ได้มีไม่ได้นำความสุขเข้ามาเท่าเดิม
อย่างนี้มันถึงจะเป็นมุมมองที่ใช่

แต่ถ้าเรามีศีลแล้ว ใจของเราพร้อมที่จะเห็นอะไรตามจริงแล้ว
แต่ไม่ตั้งมุมมองแบบนี้ ไปมีความอยาก อยากจะเมื่อไหร่จะเห็นความไม่เที่ยง
เนี่ยเห็นลมหายใจแล้ว ทำไมไม่เห็นความไม่เที่ยงสักที
ไปเร่งตัวเองอยู่อย่างนี้ นี่ก็ไม่เห็นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆ ว่าเราจะเห็นความไม่เที่ยงของลมหายใจ
หรือว่าภาวะทางกายทางใจใดๆ ขึ้นมา
ต้องประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกมีศีล
ส่วนที่สองจะต้องตั้งมุมมองที่ใช่เอาไว้ มันถึงจะเห็นนะครับ