Print

ดังตฤณวิสัชชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๔๓๖

 

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๔๓๖

สิงหาคม ๒๔๖๖

 

การเข้าภวังค์คืออะไร

ถาม – ผมนั่งสมาธิแล้วคอยจะหลับอยู่เรื่อย เรียกว่าเข้าภวังค์หรือเปล่าครับ

 

ตอบ - ก็นั่นแหละครับ ความหมายของภวังค์ คือไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ไม่สามารถที่จะรู้ตามปกติทางตา รู้ตามปกติทางหู

แล้วจิตใจมีลักษณะบิดเบี้ยว มีลักษณะที่เหมือนกับเลือนราง พร่าเลือน
หรือว่าจะรู้ก็ไม่ใช่ จะไม่รู้ก็ไม่เชิง นั่นก็นับเป็นภวังค์อ่อนๆ แล้ว
แต่ภวังค์ที่เป็นภวังค์สมบูรณ์แบบจริงๆ
ที่เป็นภวังค์ร้อยเปอร์เซ็นต์ตามนิยาม
หมายความว่าจิตไม่ยกขึ้นสู่วิถีทางการเสพอารมณ์ใดๆ เลย
ทั้งทางหู ทางตา หรือแม้กระทั่งว่าความคิดทางใจอะไรต่างๆ
ที่มันจะทำให้รู้สึกว่าเรากำลังเป็นผู้คิด มันจะดับหมดเลย

เหลือแต่ความรู้สึกแบบคนสลบ สลบจริงๆ นะ
คือไม่มีอาการแบบว่าคิดอ่านหรือว่านึกอะไรเองได้
นั่นน่ะตัวนี้ที่เรียกว่าภวังค์

 

ทีนี้ตัวที่เป็นอาการหลับในขณะนั่งสมาธิ มันก็เป็นภวังค์ชนิดหนึ่ง
ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ใช่ภวังค์แบบดับหาย หายจ้อย อะไรแบบนั้นนะ
แต่จะเป็นหายไปบางส่วน
คือมันจะไม่ตรงกับนิยามของภวังค์ที่แท้จริง แต่มักจะใช้คำนี้กัน
เช่น ภวังค์สมาธิ ภวังค์หลับ หรือว่าเข้าภวังค์ จ้องเหม่อ
เห็นคนสวยอะไรแบบนี้แล้วตกภวังค์ชั่วขณะ
เหมือนตกหลุมอากาศทางสติ
นี่ก็มาใช้กันโดยนิยามของคนทั่วไป
ที่เข้าใจว่าการไม่รู้เนื้อรู้ตัวก็คือภวังค์นั่นเอง ภวังค์ชนิดหนึ่ง

 

ถ้าคอยจะหลับอยู่ เพื่อที่จะออกจากภวังค์ได้ง่ายๆ เลย
ก็คือเตรียมใจไว้ก่อนว่าเราจะรู้ว่าอาการที่เหมือนกับโงกเงกที่มันเกิดขึ้น
เกิดที่ลมหายใจไหน มีแรงกด แรงกดให้อยากจะมุดหน้าลงสู่พื้นไปนอน
ถ้าหากว่าเรารู้ว่ามันเกิดภาวะที่มีแรงกดให้ก้มหน้าก้มตา
หรือว่าตัวเนี่ยมันคอยจะม้วนลงพื้น ลงไปนอน
แล้วเราสามารถเห็นได้ว่าอาการจะม้วนแบบนี้ จะม้วนเสื่อแบบนี้
มันสามารถดีขึ้นได้ไหมในลมหายใจต่อมา
ถ้าหากตั้งใจไว้ล่วงหน้า เตรียมไว้ล่วงหน้าว่าเราจะดูอย่างนี้
ว่าความง่วงหรือว่าอาการที่มันเหมือนจะเข้าภวังค์ไม่รู้เนื้อรู้ตัว
มันสามารถเปลี่ยนได้
อันนี้แสดงว่าไม่ภวังค์จริง ยังมีสติหลงเหลืออยู่มาก
แล้วถ้าเตรียมใจไว้ล่วงหน้า มันจะเป็นตัวกำหนดให้ใจ
เป็นทิศทางให้ใจเกิดการสังเกตว่าความง่วงของเรา
อาการเข้าใกล้ลงสู่ภวังค์ของเรา มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง
ในแต่ละลมหายใจมันเหมือนกันหรือเปล่า มันต่างกันแค่ไหน



ส่วนใหญ่คนที่สามารถเห็นความไม่เที่ยงของอาการโงกง่วงได้
หลายๆ ครั้ง สักสามสี่รอบ บางทีมันจะมีบางรอบที่ยาว
เหมือนกับจะไม่รู้เนื้อรู้ตัว
แต่พอสติมันถูกสะกิดขึ้นมานิดหนึ่งว่าอันนี้เนี่ย
ในแต่ละลมหายใจ ลมหายใจนี้มันมีความโงกง่วงแค่ไหน
มันเหมือนจะไม่รู้เนื้อรู้ตัว เหลืออยู่แค่นิดเดียว กำลังจะหลับอยู่แล้ว
แล้วพอได้หายใจยาวๆ ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
มันเหมือนกับถูกสะกิดว่า เออ สำรวจดูนะว่ามันต่างไปจากเมื่อกี้หรือยัง



ถึงจุดหนึ่งจิตจะเปลี่ยนจากภวังค์หลับ เป็นภาวะรวมขึ้นมาได้แบบง่ายๆ
โดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมากนะครับ
อาศัยแค่ธรรมชาติของจิตที่พอมันภวังค์แล้ว พอมันใกล้ภวังค์แล้ว
ถ้าไม่คว่ำเป็นหลับ มันจะหงายเป็นตื่น
และเป็นตื่นอีกแบบหนึ่งที่มันดีกว่าภาวะสมาธิแบบอ่อนๆ ปกตินะ
มันจะเป็นสมาธิแบบรวม

เพราะภวังค์เนี่ย เพราะว่าคำว่าภวังค์
มันคืออาการที่จิตไม่ออกรับรู้ แส่ส่ายไปตามอายตนะต่างๆ แบบมั่วๆ แล้ว
มันจะพร้อมที่จะเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียว
ซึ่งถ้าตรงนั้นมันมีอาการรวม แล้วก็แผ่ออก ก็จะเกิดเป็นสมาธิขึ้นมา
แทนที่จะเป็นอาการฟุ้งซ่านแส่ส่ายตามปกตินะครับ