Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๙๑

ถาม - สมาธิและวิปัสสนาต่างกันอย่างไรคะ

dungtrin_gru2ใจคนนั้นกวัดแกว่งไปมา
จิตถูกห่อหุ้มอยู่ด้วยความคิดแบบสุ่ม
สังเกตดูความกวัดแกว่งเดี๋ยวนี้ก็ได้
ลองเพ่งจับเหรียญบาทดู
กำหนดว่าขอบเขตที่จะให้รู้อยู่ในวงกลมนั้นไม่คลาดเคลื่อน
แต่เดี๋ยวเดียวความรู้จักวงกลมนั้นก็เคลื่อนไปเป็นอื่น
และเหมือนเราจะต้องออกแรงอย่างมากเพื่ออาการ เพ่ง นั้น

ต่อเมื่อเพ่งจับอารมณ์ที่ละเอียดบ่อยๆ
เช่นสายลมหายใจเข้าออก
ข้ามวัน ข้ามเดือน หรือข้ามปี
จะรู้สึกว่าความกวัดแกว่งของจิตแผ่วลงเรื่อยๆ
แล้วแต่พื้นเพธรรมชาติจิตใจของแต่ละคน
คราวนี้พอกำหนดจับอารมณ์ใด ไม่ว่าหยาบหรือละเอียด
จะเห็นได้ชัดว่าเราออกแรงเพ่งน้อยลงทุกที
กระทั่งถึงจุดหนึ่ง จิตมีธรรมชาติทรงอยู่ในอาการรู้เอง
ไม่จำเป็นต้องออกแรงเพ่งอีกต่อไป
มีแต่อาการกำหนดจับ กำหนดรู้อารมณ์อันเป็นเป้าหมายเท่านั้น
นี่คือเรื่องของสมถะ - สมาธิ

ด้วยผลลัพธ์ที่ได้นั้นเอง
พอเอาไปใช้กำหนดดูกาย
จิตก็รู้กายอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
มีความพอใจอยู่กับอาการรู้รูปพรรณสัณฐานอย่างนั้น
เห็นตามจริงว่าเราไม่ได้สร้าง ไม่ได้ออกแบบ
เป็นคนละอัน เป็นธรรมชาติคนละชนิดกับจิตที่นิ่งรู้เฝ้าดูอยู่
จิตสักแต่นิ่งรู้ ไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตน
มีแต่ความรู้จักธรรมชาติที่ปรากฏตามจริง

และเช่นกัน ด้วยธรรมชาติของจิตที่เด่นรู้มากกว่าเด่นคิด
เมื่อเอากระแสรู้มาจับกระแสคิด
ก็สามารถแยกออกตามนัยของธรรมชาติความคิด
ว่ามีส่วนหนึ่งหมายรู้ขึ้นก่อน เป็นอาการชนิดหนึ่งของจิต เรียกว่าสัญญา
คือหมายจำ หมายรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง
จากผัสสะภายนอกกระทบหรือผัสสะภายในที่ผุดขึ้น
กับทั้งแยกได้ว่าอีกส่วนหนึ่งมีอาการ ผลิต เจตจำนง
ซึ่งลักษณะผลิตนามธรรมให้เป็นกุศล อกุศล หรือเป็นกลางนั้นเอง
เรียกว่าสังขาร

กระแสรู้ยั่งยืนพอจะเห็นความไม่เที่ยง
เห็นธรรมดาของสัญญาและสังขารที่เปลี่ยนสภาพไป
เมื่อเกิดขึ้นต้องดับลงเป็นธรรมดา
เห็นตามจริงจากสิ่งที่ปรากฏแก่ความรู้ภายใน
ราวกับมีผู้ดูซึ่งว่างจากตัวตน กำลังชมภาพยนตร์สามมิติ
เป็นภาพยนตร์ที่ฉายในมิติที่แปลกประหลาด
เพราะสิ่งที่เป็นฉากคือแสงสี สิ่งที่ได้ยินคือส่ำเสียง
แถมมีสัมผัสที่คมชัด (อันเกิดจากคุณภาพของจิตที่ไม่กวัดแกว่ง)
กับทั้งมีสิ่งลอยมาลอยไปอยู่ในหัว ที่จิตจับแยกได้ว่าเป็นสัญญา สังขาร
เมื่อจับได้ว่าสัญญาและสังขารเป็นต่างหากจากกระแสรู้
จิตที่เด่นรู้นั้นลืมสนิทว่าเคยมีความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนมาอย่างไร
กายแบบนี้ ใจแบบนี้ เคยมีชื่อแซ่ให้เรียกขานว่าอย่างไร
ถ้าคิดถึงตัวตนหรือชื่อแซ่แล้ว ก็จะเห็นเป็นเรื่องตลกอย่างยิ่ง
ที่เห็นนั้นมีแต่รูปกายอันปราศจากผู้สร้าง
และนามธรรมซึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเหมือนพยับแดด
อาการรู้โดยปราศจากตัวตนนั้น
เห็นสุขทุกข์ ความนึกคิดที่ผุดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเหมือนพยับแดดจริงๆ
ดูตรงไหน ก็เห็นความเลือนดับไปตรงนั้น

เมื่อสั่งสมความกำหนดหมาย เห็นแต่รูปนามเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปนานเข้า
ก็มีสัญญา หรืออาการที่ใจปกติมีความกำหนดหมายอย่างใหม่
คือสักแต่เห็นทุกสิ่งเป็นอนิจจัง เรียกว่าอนิจจสัญญา
สักแต่เห็นทุกสิ่งเป็นอนัตตา เรียกว่าอนัตตสัญญา
แต่จิตอันถูกย้อมด้วยกิเลสมานาน
ก็โดนดูดกลับมาสู่ความเห็นเป็นตัวเป็นตนเรื่อยๆ
จึงต้องหมั่นทำสมาธิ เพื่อตั้งตัวรู้ให้ดำรงอยู่อย่างง่ายๆไปเรื่อย
จนกว่าอนัตตสัญญาจะแก่กล้า
คือจิตมีธรรมชาติแหลมคมพอจะสละรูปนาม
เหมือนปล่อยของที่ถือไว้หนักๆลงพื้นเบามือ
ไม่ยึดทั้งรูปหยาบนามละเอียดใดอีกเลย
จึงเป็นเป้าหมายปลายทางของวิปัสสนา
คือรู้แจ้งเห็นจริงในนิพพานเป็นครั้งแรก
บรรลุซึ่งโสดาปัตติผล
อันเที่ยงที่จะได้ถึงซึ่งอรหัตตผลต่อไปเบื้องหน้า

?