Print

ดังตฤณวิสัชชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๔๓๓

 

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๔๓๓

กรกฎาคม ๒๔๖๖

 

รู้ลมหายใจกับเพ่งลมหายใจแตกต่างกันอย่างไร


ถาม – รู้ลมหายใจกับเพ่งลมหายใจมีความแตกต่างกันไหมครับ

 

ตอบ - การใช้คำมันไม่มีความหมายหรอก
มันอยู่ที่มุมมองภายในของเราต่างหากนะครับ
ว่ามันเห็นอะไร แล้วก็เห็นอย่างไร
อย่างเห็นอะไรก็คือเห็นลมหายใจใช่ไหม
ทีนี้ถ้าเอากันจริงๆ มันจะเห็นเหมือนกับพอหลับตาไปเนี่ย เห็นเหมือนป่ารก
เห็นเหมือนคลื่นความฟุ้งซ่านมันวนเวียนปิดบังลมหายใจอยู่ตลอด
นี่ต่างหากที่เราเห็น

 

ทีนี้แล้วเห็นอย่างไร
ร้อยทั้งร้อย นักทำสมาธิโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบัน
เห็นเพื่อที่จะเอาความสงบ
เห็นเพื่อที่จะกำจัดความฟุ้งซ่านให้มันสิ้นไปจากหัว
ทั้งๆ ที่การนั่งสมาธิแบบพุทธที่ถูกต้อง
คือการเห็นว่าอะไรๆ มันไม่เที่ยง

ตรงนี้เราไม่ได้เน้นกัน พอไม่เน้นมันก็ไม่มีคนทำ
ไม่มีคนทำเป็นประจำ มันก็ไม่เกิดผล


ยุคเรานะที่คนจะมาสนใจดูความไม่เที่ยงในการนั่งสมาธิ
มันแทบจะเป็นศูนย์เลย
เพราะเราพูดกันเรื่องความสงบอย่างเดียว
แล้วการมุ่งหวังความสงบนั่นแหละ มันคืออาการเพ่ง เพ่งจะเอา
แล้วเพ่งด้วยอวิชชาด้วยนะ เพ่งด้วยความโลภด้วยนะ
คือโลภแบบแก่กล้าด้วยนะ มันไม่ใช่โลภธรรมดา
โลภจะเอาให้ได้ โลภจะเอาเจ๋ง
โลภจะเอาแบบว่าตัวเองเนี่ยทำสมาธิเก่ง
หรือว่าทำสมาธิได้เหนือกว่าคนอื่นอะไรแบบนี้
ก็เป็นทิศทางที่จะทำให้เกิดการเพ่ง

 

ส่วนการรู้ลมหายใจ ถ้ารู้จริง อาการรู้มันจะไม่ทำให้เรามีความฝืน
อาการรู้จะทำให้เราไม่มีอาการที่โลภอยากได้
แต่เป็นอาการที่ระลึกได้ตามจริงตามที่มันกำลังปรากฏอยู่
ว่าลมหายใจกำลังเข้าหรือออก ลมหายใจกำลังยาวหรือสั้น
ลมหายใจที่มันกำลังยาว มันมีความสดชื่นมากหรือน้อย
เนี่ยสังเกตรายละเอียดเข้าไป ลมยาวหรือลมสั้น
แล้วแต่ละลมมันเอาความสุขหรือความทุกข์
อึดอัดหรือว่าสบายมากับแต่ละลมนะครับ


สังเกตอยู่แค่นี้เป็นการสังเกตแบบพุทธ
เป็นการเจริญสติแบบพุทธแล้ว
เป็นประตู เป็นปากทางที่จะทำให้เรามีความสามารถทางจิต
ที่จะเห็นกายใจโดยความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตนในเบื้องปลายนะครับ
อันนี้ทำความเข้าใจนะ ระหว่างคำว่า “รู้” กับคำว่า “เพ่ง”
สังเกตง่ายๆ เลย “เพ่ง” จะโลภ แต่ว่า “รู้” จะมีสติ
ความหมายของสติที่แท้จริง คือสามารถยอมรับยอมรู้ตามจริง
ว่ากำลังปรากฏอะไรขึ้นภายในขอบเขตของกายใจ
ณ นาทีนั้นวินาทีนั้นนะครับ