Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๔๒๓

 

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๔๒๓

กุมภาพันธ์ ๒๔๖๖

 

 

การดูจิตในการเจริญสติคืออะไร


ถาม (๑) – ดิฉันเกิดความสงสัยว่าการตั้งจิตหรือดูจิตในการเจริญสติคืออะไร
หมายถึงว่าเราเอาอะไรไปตั้งหรือว่าจิตเราไปอยู่ที่ไหนคะ

ตอบ (๑) - ยกตัวอย่างนะที่คุณบอกว่าฝึกหายใจรู้ที่จมูก ท้องพองยุบ
เสร็จแล้ววันต่อมา มันละเอียดขึ้นรู้สึกถึงหลอดลมอย่างนี้ นึกออกใช่ไหม
ที่ถามมาทั้งหมดนั่นแหละคือการตั้งจิตไว้อยู่กับลมหายใจ
และรายละเอียดของลมหายใจ คราวนี้เข้าใจนะ
คือการตั้งจิตไว้ก็คือการโฟกัสเข้าไปที่ใดที่หนึ่ง
เวลาที่เราอยู่กับงาน เราอยู่กับข้อความที่อยู่ในเอกสาร
หรือว่าอยู่กับข้อความที่พูดคุยกับผู้คน นั่นก็คือตั้งจิตไว้ที่คำพูด

 

ทีนี้เวลาที่เรามาพูดถึงเรื่องการตั้งจิตไว้ในการภาวนาในการเจริญสติ
มันก็คือการโฟกัสอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
อย่างเช่นอันนี้เนี่ยลมหายใจเนี่ย
ถ้าเอาตามความเข้าใจแบบพุทธก็คือไม่ใช่ให้ดูแต่ลมหายใจอย่างเดียว
แต่ให้รู้ว่าลมหายใจที่เรากำลังมีสติรู้อยู่
เป็นส่วนหนึ่งในกายทั้งหมดที่มีรายละเอียดมากกว่านี้


คือพระพุทธเจ้าท่านตรัสถึงลมหายใจ โดยความเป็นส่วนหนึ่งของกาย
กายมีอะไรมากไปกว่านี้ มีทั้งอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน
กายมีทั้งตับไตไส้พุง
กายมีทั้งความเป็นสภาพศพ ที่มันจะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ในวันหนึ่ง
จะต้องเน่าเปื่อยผุพังแน่ๆในวันหนึ่ง
รวมเรียกว่าเป็นกายานุปัสสนา
หมายความว่าเป็นความจริงทางกายที่เราจะต้องฝึกรับรู้ไป
จนกว่าจะได้เห็นแจ้งว่า เออ มันไม่ใช่ของเรา
ร่างกายนี้ไม่ใช่ของเราจริงๆ ร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ

ที่เรามาเห็นรายละเอียดของลมหายใจในวันแรกๆ เป็นแค่ประตู เป็นแค่จุดเริ่มต้น
ที่จะพาไปสู่การเห็นกายที่มันมีรายละเอียดมากกว่านี้ยิ่งๆ ขึ้นไป

 

……………………………………………………………………

 

ถาม (๒) – ถ้าทำสมาธิแล้วอยู่ดีๆ ก็น้ำตาไหล
เกิดจากความรู้สึกภายใน หรือเกิดจากร่างกาย หรือว่าคิดไปเองคะ

 

ตอบ (๒) ขอให้สังเกตนะ อาการน้ำตาไหล
มันจะมีหลักๆ คือว่าเรารู้สึกดี เรารู้สึกเบา
เรารู้สึกเหมือนกับว่าภาวะทางกายมันเปลี่ยนไปในทางที่ประณีตขึ้น
พูดง่ายๆ ว่าถ้าโล่งเบา ถ้าจิตแจ่มใสในแบบที่มีความสุขอย่างมโหฬาร
น้ำตามันออกมาเนี่ยเป็นเรื่องปกติมาก
เขาเรียกว่าเกิดการหลั่งน้ำตาจากโสมนัสอย่างใหญ่

แต่บางคนยังไม่ได้มีโสมนัสอย่างนั้นเลย
ยังไม่ได้ปีติอย่างใหญ่หลวงแต่น้ำตาไหล มันเกิดจากอะไร
ตรงนี้เนี่ยกลไกการทำงานที่ซับซ้อนของจิต แต่ละคนมันไม่เหมือนกัน

 

ยกตัวอย่างบางคนเนี่ย เกิดความรู้สึกว่าพออยู่นิ่งๆ
ปกติเนี่ยมันไม่นิ่ง นิ่งไม่ได้ มีความฟุ้ง ยุ่งๆ ยุ่ง
แล้วตอนที่ฟุ้งยุ่งๆ ยุ่ง มักจะเป็นเรื่องไม่ดี ไปฟุ้งเรื่องแบบที่มันคิดไม่ดี
คิดโน่นคิดนี่ในทางที่จะรู้สึกทรมานใจในภายหลัง
หรือรู้สึกผิดจากความผิดอะไรที่ทำมา
ทีนี้พอแค่มารู้สึกว่า เออ มันหยุดได้ หยุดได้แค่จังหวะสั้นๆ
แล้วเกิดความรู้สึกว่าไม่ต้องคิดอะไรแย่ๆ เนี่ยมันดีนะ
แค่นี้น้ำตาก็ไหลได้แล้ว สำหรับบางคนนะ
หรือสำหรับบางคนเกิดความรู้สึกว่าเหนื่อย เหนื่อยมาทั้งชีวิต
อยากจะหยุดแต่หยุดไม่ได้


แล้วเสร็จแล้วพอมาทำสมาธิ เออ มันหยุดได้นี่
ไม่ใช่หยุดที่ร่างกาย ไม่ใช่หยุดที่ทำงาน
แต่ว่าหยุดที่จิต หยุดที่อารมณ์ที่มันแบบว่าเหนื่อย
หยุดที่อารมณ์ที่มันอยากร้องไห้
หยุดที่อารมณ์ที่มันอยากแบบว่าไปให้พ้นๆ โลกนี้สักทีอะไรอย่างนี้
พอมันหยุดแล้วมันเกิดความรู้สึกว่าจริงๆ ว่างอยู่เฉยๆ ก็ได้
ยังไม่ต้องหยุด ยังไม่ต้องอะไรภายนอกนะ มาหยุดอยู่ที่ใจ
แค่นี้ก็น้ำตาไหลได้เหมือนกัน
มันขึ้นอยู่กับว่าความปรุงแต่งของแต่ละคนมีต้นเหตุ
มีเหตุปัจจัยอะไรเป็นตัวบันดาล
มันไม่ได้แน่นอน มันไม่ได้ตายตัวนะครับ