Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๔๑๒

 

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๔๑๒

กันยายน ๒๕๖๕

 

ควรฝึกขณิกสมาธิหรือไม่

ถาม – เราควรฝึกขณิกสมาธิไหมคะ

ตอบ - สมาธิเป็นสิ่งที่ควรฝึก และสมาธิมีหลายระดับ
มีทั้งขณิกสมาธิคือเป็นสมาธิขึ้นมาชั่วคราว
อุปจารสมาธิคือเฉียดฌาน
และก็ถึงขั้นฌานคืออัปปนา จิตใหญ่ จิตเป็นมหัคคตะ

คำว่าขณิกสมาธิ จิตเป็นสมาธิชั่วคราวก็มีได้พิสดารหลายแบบอีก

ส่วนใหญ่คนเข้าใจกันว่าขณิกสมาธิ คือสมาธิอ่อนๆ สมาธิแป๊บเดียว
แต่จริงๆ แล้วขณิกสมาธิ แม้แต่ครูบาอาจารย์ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น
ท่านก็กล่าวถึงไว้โดยความเป็นของดีว่าท่านพักสงบอยู่ในขณิกสมาธิ
หมายความว่าท่านทำอะไรอยู่
แล้วท่านก็หลบมาอยู่กับภาวะขณิกสมาธิชั่วคราว
เพื่อที่จะเป็นการพักผ่อน เพื่อที่จะเป็นการให้จิตได้กลับเข้าที่เข้าทาง
และพร้อมที่จะเจริญวิปัสสนาต่อ
อย่างนี้เรียกว่าเป็นขณิกสมาธิ

ซึ่งขณิกสมาธิของแต่ละคน มันขึ้นอยู่กับใครฝึกสมาธิแบบไหน
ถ้าฝึกสมาธิมาแบบบริกรรมพุทโธอย่างเดียว
ขณิกสมาธิอาจหมายถึงการที่จิตของเราไม่วอกแวกเลย
พุทโธๆ พุทโธๆ พุทโธๆ ไม่คิดถึงเรื่องอะไรเลย
นอกจากพุทโธได้หนึ่งนาที อย่างนี้ก็เรียกว่าขณิกสมาธิ
หรือถ้าเราฝึกมาตามแนวเห็นลมหายใจเข้าออก โดยความเป็นของไม่เที่ยง
เห็นว่ามันเข้ามันออกอยู่ตลอดเวลา ไม่วอกแวกไปไหนเลยหนึ่งนาที
นี่ก็เรียกว่าขณิกสมาธิ

แต่ถ้าหากว่าขณิกสมาธิของเรามันเริ่มดิ่ง มันเริ่มเพลิน จิตรวมเข้ามานะ
จิตรวมเข้ามาในลักษณะผนึกเข้ามาอยู่ตรงศูนย์กลางความว่าง
แล้วก็ขยายแผ่ออกไป เป็นความขยายออกไปแบบไม่มีจำกัด
แบบนี้มันก็เริ่มพัฒนาจากขณิกสมาธิเป็นอุปจารสมาธิ
นี่ต้องทำความเข้าใจกับนิยามของคำให้ถูกต้องชัดเจนนะครับ

เราควรฝึกสมาธิ ไม่ว่าจะแบบไหนก็ตาม มันควรได้ฝึกทั้งนั้นแหละ
เพื่อที่จะเอาจิตที่เป็นสมาธิมาเจริญวิปัสสนาต่อ
แต่ที่มันจะเป็นสมาธิชั่วคราว อย่างที่เรียกว่าขณิกสมาธิ
หรือว่าเป็นสมาธิชั้นดี ประณีต
มีความสุข วิเวก กว้างใหญ่ เป็นอุปจารสมาธิ
แบบนี้ก็เป็นพัฒนาการของมัน อันนี้ทำความเข้าใจนะครับ