Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๔๐๔

 

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๔๐๔

พฤษภาคม ๒๕๖๕

 

จะดูแลรักษาใจในช่วงวิกฤติของชีวิตได้อย่างไร

ถาม (๑) – จากข้อความที่ว่า "การผ่านเรื่องร้ายด้วยจิตดีๆ"
"ใจดีดวงเดียวเปลี่ยนเรื่องร้ายให้กลายเป็นดี"
"ในวันที่ทุกสิ่งดูผิดพลาดไปหมด ขอเพียงเหลือใจที่ถูกต้องไว้ดวงเดียวก็พอ
แล้วใจจะพาทุกอย่างกลับเข้าที่เข้าทางเอง"
ผมอยากสอบถามว่าในช่วงเวลาเกิดวิกฤตของชีวิต
การที่จะให้รักษาและดูแลใจนั้น ควรทำอย่างไรครับ

ตอบ - ตรงนี้แหละ คือถ้าเราเจริญสติเจริญสมาธิ
ให้มีความผ่องใส ให้จิตเป็นกุศล อยู่เสมอๆ
อย่างน้อยจิตที่เป็นกุศลชนะอกุศลจิต
มีช่วงที่เรามีจิตปลอดโปร่ง มีความสว่าง มีความสบาย
มากกว่าจิตที่มันหม่นหมองนะ
แค่นั้นชีวิตก็จะฝากไว้อยู่ในมือของกุศลจิต
แต่ถ้าหากว่าเราปล่อยจิตปล่อยใจ
ให้มันไหลลงต่ำตามสถานการณ์ หรือว่าสิ่งบีบคั้นภายนอก
ก็เท่ากับเราฝากชีวิตทั้งชีวิตของเราไว้ในมือของอกุศลธรรม
ตัวนี้ถ้าท่องไว้ มันก็จะเกิดความเข้าใจมากขึ้นๆ

ช่วงนี้มันไม่ใช่ช่วงว่าเราจะรักษาดูแลใจอย่างไร
ควรจะมาตั้งโจทย์ใหม่ดีกว่า
ว่าทำอย่างไรเราจะมีความชอบใจที่จะทำสมาธิบ่อยๆ
มารู้ลมหายใจให้ได้เรื่อยๆ แค่นี้มันก็เป็นประกันแล้วว่า
จิตของเราไม่ไปฝากไว้ในมือของอกุศลธรรมแน่นอน

..................................................................

 

ถาม (๒) – จิตรับรู้ได้ทีละอย่าง หรือรู้พร้อมๆ กันได้ด้วยครับ

ตอบ - นี่ก็เป็นคำถามเชิงอภิธรรม
ซึ่งในมุมมองของผมมันไม่มีประโยชน์กับการปฏิบัติเท่าไหร่

เอาเป็นว่าคุณคิดง่ายๆ นะ
อย่างเราขับรถไป เรารู้ทั้งมือที่มันขยับพวงมาลัยใช่ไหม
รู้ว่าเรากำลังใช้เท้าเหยียบคันเร่ง
รู้ว่าเรากำลังมองเห็นสิ่งกีดขวางชนิดใด
เนี่ยมันพร้อมกันหรือต่างกันล่ะ
มันทีละอย่างหรือว่ารู้พร้อมกัน เอาไปลองตรองดูนะ
พระพุทธเจ้าไม่เคยมาบอกเลยนะว่าจิตรับรู้ได้ทีละอย่างเท่านั้น
พระพุทธองค์เคยทำในสิ่งที่ฤๅษีอื่นทำไม่ได้ด้วยซ้ำ
พระองค์ทำได้คนเดียวในจักรวาล คือให้มีทั้งกสิณไฟและกสิณน้ำเกิดขึ้น
บันดาลทั้งไฟ บันดาลทั้งน้ำออกมาพร้อมกัน

ก็คือพูดไปเดี๋ยวก็มันเป็นความคิดเห็นนะ
มันเป็นความขัดแย้งกันทางทฤษฎีมานมนาน
แต่ไม่รู้จะไปเอาตรงนั้นทำไม
เพราะบางคนก็บอกว่าเพื่อที่จะฝึกให้ถูกต้องนะครับ
อย่างเช่น มองดูด้วยตาก็ให้รู้อย่างเดียวว่าตาเห็นรูป
จริงๆ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้นนะ
ท่านให้ดูว่าตามองรูปแล้ว มันเกิดสังโยชน์
มันเกิดความยึดติดถือมั่นอะไรขึ้นมาหรือเปล่า
ถ้าเห็นปฏิกิริยาทางใจเป็นสังโยชน์
ก็ให้รู้ว่าสังโยชน์นั้นมันไม่เที่ยง หรือไม่ก็หาทางดับสังโยชน์นั้นนะครับ
อันนี้คือหลักของอายตนบรรพะ

แต่คนปัจจุบัน นักวิชาการจะมามองว่า
ถ้าหากว่าเราจะปฏิบัติให้ได้ผลจริง มันต้องรู้ทีละอย่าง รู้เป็นเรื่องๆ
ถ้าตาไปบวกกับรูปใด ต้องเห็นแต่รูปนั้นอย่างเดียว ห้ามไปรู้อะไรอย่างอื่น
ทางเสียง ทางจมูก ทางปาก ทางกาย อะไรเนี่ย ห้ามเห็น
ไม่ใช่นะ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอย่างนั้น
ท่านสอนให้ดูสังโยชน์ในแต่ละอายตนะ คู่อายตนะนะครับ