Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๔๐๒

 

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๔๐๒

เมษายน ๒๕๖๕

 

ถาม – เราจำเป็นต้องสวดมนต์หรือเจริญสติในเวลาเดิมทุกวันไหมคะ

ตอบ - มันเป็นความเข้าใจ ขึ้นต้นด้วยความเข้าใจนะครับ
กายนี้ใจนี้สมควรจะได้รับการเห็นได้ถูกมอง
ว่ามันไม่เที่ยงอยู่ตลอดเวลา
อันนี้คือคติแบบพุทธ คติที่แท้จริงแบบพุทธ
คือว่าเราควรพิจารณาอยู่เนืองๆ หรือว่าเสมอๆ นะครับ
ว่ากายนี้ใจนี้ มันไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

ถ้าเรามีรากฐานความรับรู้
ว่าคอนเซ็ปต์ (
concept) ของการเจริญสติ ของการภาวนาคือแบบนี้
หมายความว่าอยู่อิริยาบถไหน เราก็พร้อม
ควรพร้อมที่จะมีสติอยู่กับอิริยาบถนั้นเสมอ
โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นก่อนนอน จะเป็นเวลาอาบน้ำ


พระพุทธเจ้าสอนขนาดที่ว่าถ้าอุจจาระอยู่ ถ้าปัสสาวะอยู่
ก็ขอให้มีสติรู้ด้วยว่ากำลังอยู่ในท่าทางนั้นๆ อยู่ในอิริยาบถนั้นๆ
เรากำลังขับถ่ายแบบนั้นๆ นี่ท่านสอนถึงขนาดนี้
คือถ้าหากมีสติได้ตลอดเวลานะ อย่าเลือกเวลา
แต่ถ้าหากว่าเรายังรู้สึกว่ากำลังใจยังอ่อน
เราขอภาวนาหรือว่าปฏิบัติเจริญสติเป็นพักๆ
ก็อาจจะเลือกในเวลาที่เรากำลังว่างงาน
เรากำลังว่างจากความคิดแบบโลกๆ ไม่มีธุระปะปังอะไรต้องทำ
แล้วก็มามีความสะดวกในการเห็นนะ
ว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่
แค่นี้ตรงที่เรารู้ว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออกอยู่
นี่คือบันไดขั้นแรกที่จะเจริญสติ ที่จะเข้าสู่การภาวนาแล้ว

ทีนี้ถ้าเรามีความรู้ มีความเข้าใจในคอนเซ็ปต์ของการภาวนาอย่างแท้จริง
ว่าที่หายใจเข้า หายใจออกไป ไม่ใช่เพื่อที่จะอยู่กับลมหายใจ
แต่เพื่อที่จะอาศัยลมหายใจเป็นเครื่องสังเกต
ว่ามีอะไรบ้างในกายในใจนี้ ที่มันเหมือนเดิมที่มันเป็นตัวเดิม
ยกตัวอย่างเช่นถ้าหากเรากำลังมีความรู้สึก
วันนี้มีความสุขจัง อยากยิ้ม อยากหัวเราะ อยากเริงร่า
แล้วเราเกิดความรู้สึกขึ้นมาทันทีนั้น ว่าอยากให้มันอยู่นานๆ
อยากให้มันเป็นตัวตนของเราตลอดไป ความสุขความเริงร่าแบบนี้
ถ้าเรามีสติแล้วนึกถึงการภาวนาได้ ณ บัดนั้น
มันจะมีการตั้งคำถามขึ้นมา ย้อนกลับขึ้นมา
ว่าที่กำลังสุข ที่กำลังเริงร่านั้น มันอยู่ได้กี่ลมหายใจ
มันจะอาศัยลมหายใจเป็นเหมือนกับไม้บรรทัดวัดว่ามีขนาดความสุขแค่ไหน
ถ้ามีความสุขมากจริงๆ บางทีเราหายใจไปร้อยครั้งนะความสุขยังเท่าเดิม
แต่ถ้ามีความสุขแบบอ่อนๆ หายใจไปแค่ครั้งสองครั้ง ความสุขนั้นจางลงแล้ว

นี่เมื่อใดก็ตาม เราเห็นว่าความสุขหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจของเรา
มันแสดงความต่าง มันแสดงความไม่เหมือนเดิม
มันแสดงความไม่เที่ยงออกมา เป็นอนิจจัง
เมื่อนั้นจิตของเราจะเกิดความฉลาด
ไม่ไปมองว่าความสุขนั้นเป็นตัวของเรา หรือว่าเป็นของของเรา
จะมองว่ามันเป็นสภาวะชั่วคราวภาวะหนึ่ง ที่เดี๋ยวมันก็ต้องผ่านไป
แล้วถ้าผ่านไปก็ไม่ได้น่าเสียดายอะไร
เดี๋ยวมันก็กลับมาใหม่ แล้วก็ต้องหายไปอีก
ตัวนี้แหละเป็นปัญญา เป็นสิ่งที่เรียกว่าได้จากการภาวนา
เรียกว่าได้จากการปฏิบัติแท้จริง

ซึ่งมันจะอยู่ในอิริยาบถไหนก็ได้ นอนก็ได้ เดินก็ได้ แม้กระทั่งขับถ่ายอยู่ก็ได้
อันนี้พระพุทธเจ้าสอน ผมไม่ได้พูดเองนะ
พระพุทธเจ้าสอนว่าแม้กระทั่งเรากำลังขับถ่ายอยู่ อุจจาระปัสสาวะ
ก็ให้รู้ว่าภาวะทางกาย ภาวะทางใจ มันกำลังเป็นอย่างไรอยู่นะ
อันนี้เข้าใจไหมครับ

 

ถาม – ชัดเจนค่ะ ขอบคุณอาจารย์มากนะคะ
เห็นภาพเลยว่าแค่เราอยู่กับลมหายใจ
และให้นำพาจิตเราไปเห็นว่าเราอยู่อย่างไร เราทำอะไรอยู่ มีอะไรรอบตัวเรา
รู้สึกว่าเหมือนมันง่าย มันไม่ต้องคิดอะไรเยอะ

ตอบ - มันไม่ต้องคิดอะไร ใช่ ถ้าเริ่มแบบง่ายๆ และจับจุดถูกนะ
บางทีมันก้าวหน้าได้ไว แล้วก็ไปได้ไกลกว่าคนที่ทำมาเป็น ๑๐-๒๐ ปี
แล้วจับจุดตรงนี้ไม่ถูกนะ
คือผมขอเน้นอีกทีนะ ไม่ใช่ว่าเรารู้ลมหายใจ แล้วเรารู้สิ่งรอบตัวนะ
แต่รู้ลมหายใจ แล้วรู้ว่าที่กำลังหายใจอยู่ ณ บัดนั้น
มันเป็นลมหายใจแห่งความสุข หรือว่าลมหายใจแห่งความทุกข์

ถ้าเราจับจุดตรงนี้ถูกก่อน มันจะได้เห็นก่อนว่าทั้งสุขทั้งทุกข์ มันไม่เที่ยง
สามารถวัดได้แน่นอนเลย
เป็นว่ามันสุขได้นานกี่ลมหายใจ ทุกข์ได้นานกี่ลมหายใจ
จากนั้นมันจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ
มันจะแอดวานซ์
(advance) ขึ้นไปเรื่อยๆ นะ
เห็นว่าตอนโดนกระทบ โดนโลกกระทบ
มันไม่ได้มีแต่ความสุขมาให้ บางทีมันมีความทุกข์มา แล้วทุกข์เยอะด้วยนะ
แต่ทั้งทุกข์ทั้งสุขเหล่านั้น มันวัดได้ด้วยเทปวัดคือลมหายใจ เหมือนๆ กัน
เหมือนๆ กันหมดเลยนะว่ามันอยู่ได้กี่ลมหายใจ

ตรงนี้มันจะกลายเป็นการสะสมความเห็นว่าไม่เที่ยง
หรือที่เรียกว่าอนิจจสัญญา ความรู้สึกว่าไม่เที่ยง
พอเรารู้สึกว่าอะไรๆ ไม่เที่ยงได้
มันจะมีวิถีจิตที่ถูกทางแบบพุทธ คือมีความยึดมั่นถือมั่นต่ำ
แล้วมีความรู้สึกเป็นตัวเป็นตน มีความรู้สึกในตัวตนน้อยลงเรื่อยๆ

ความรู้สึกถือตัวถือตน หรือว่าความรู้สึกว่าต้องมีเราอยู่แน่ๆ มันจะน้อยลงๆ
แล้วความสุข มันจะเพิ่มขึ้นแบบสวนทางเป็นทวีคูณ

ยิ่งตัวตนน้อยลง ยิ่งมีความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง
ความสุขมันยิ่งเบ่งบาน มันยิ่งมีอะไรขึ้นมาแทนที่ความยึดมั่นถือมั่น
คือความปล่อย ความวาง ความเป็นอิสระของจิต