Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๓๙๘

 

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๓๙๘

มีนาคม ๒๕๖๕

 

ปฏิบัติธรรมแล้วเห็นว่ารูปและนามเหมือนกับพยับแดด ควรพิจารณาต่ออย่างไร

ถาม – ผมปฏิบัติธรรมแล้วเห็นว่ารูปและนามล้วนเหมือนกับพยับแดด
ที่เกิดจากเหตุปัจจัย ไม่มีตัวตน
ถ้าผมจะพิจารณาว่าทุกสรรพสิ่งล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
อย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ครับ

ตอบ - จริงๆ คำถามนี้ ถ้าได้คุยกันน่าจะดีกว่าแค่อ่านแล้วก็ตอบนะ
พอไปถึงจุดที่รู้สึกว่าเป็นพยับแดด
เราต้องดูก่อนนะว่าก่อนที่จะมาถึงจุดนั้น เราเห็นอะไรจริงๆ นะ
อย่างบอกว่ารู้สึกเป็นพยับแดด
มันอาจจะเห็นตัวความเป็นอิริยาบถปัจจุบันที่ตั้งอยู่นั้น
เหมือนกับหุ่นที่ตั้งขึ้นหลอกๆ
หรือว่าเราเห็นรูปความคิดที่มันกำลังปรากฏในหัว
ปรากฏขึ้นมาแล้วก็หายไป ราวกับว่าเป็นของหลอกเป็นมายากล

ถ้าหากว่าเรามองเห็นไปถึงจุดที่เห็นความคิดในหัวเหมือนกับพยับแดดได้
เกิดขึ้น แล้วหาย เกิดขึ้น แล้วหาย เหลือแต่จิตที่รู้
เนี่ยตัวนี้นี่นะ ไม่ต้องไปพิจารณาอะไรนะ
ให้รู้อยู่อย่างนั้นแหละว่าความคิดผ่านเข้ามาแล้วหายไป
ตอนแรกมาเหมือนกับทำให้รู้สึกมีตัวตน
แต่พอรู้ผ่านไป ความรู้ที่ตั้งอยู่เห็นความคิดมันผ่านไป
มันจะเหมือนกับอะไรที่เกิดขึ้นมาลวงตา แล้วก็หายไปนะ
โดยที่ใจไม่ถูกลวง ไม่ถูกหลอก
ใจยังเป็นผู้ตื่น ผู้รู้ความจริงอยู่ว่ามันเกิดขึ้นแล้วมันก็หายไป
ถ้าอย่างนี้นะ ถ้ากรณีนี้ อยู่กับรู้ต่อ ไม่ต้องพิจารณา

เพราะถ้าพิจารณาว่า มันเกิดจากเหตุปัจจัยอะไร
มันจะกลับเข้าโหมด (
mode) ความคิด

แต่ถ้าหากว่าคำถามของคุณเกิดขึ้นมาจากการที่จิตมันกำลังคิดๆ นึกๆ อยู่อย่างนี้
มันไม่ได้ตั้งรู้ เห็นแบบไทม์ไลน์ (
timeline) นะ
นี่จุดเกิดขึ้น นี่จุดกำลังตั้ง นี่จุดดับไป แล้วจิตยังรู้อยู่
ถ้าไม่ใช่ภาวะแบบนี้ เป็นภาวะคิดๆ นึกๆ ธรรมดานะ
รู้ว่าความคิดเกิดขึ้น เราก็คิดไปว่าความคิดตอนนี้นี่มันหายไป
ราวกับเป็นพยับแดด เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส
แล้วเราควรจะทำอย่างไรต่อ
อันนี้ถ้าอยู่ในภาวะอย่างนี้นะ คิดๆ นึกๆ อยู่ พิจารณาแบบที่คุณว่าได้
คือเห็นว่ามันล้วนแต่เกิดจากเหตุนะครับ
อย่างเช่นว่าความคิดที่ผ่านแวบเข้ามาในขณะนี้
มันมีสาเหตุมาจากการที่มีใครคนหนึ่ง หรือมีเหตุการณ์อะไรอย่างหนึ่ง
เข้ามากระทบใจเรา แล้วเราจำได้ แล้วมันผุดขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ราวกับเหตุการณ์นั้นมันปรากฏขึ้นอีก
อย่างนี้ เรียกว่าเป็นการพิจารณาโดยแยบคาย
เรียกว่าเป็นการโยนิโสมนสิการ

สรุปคำตอบนะครับ ขอแยกเป็นสองกรณี
ถ้าหากว่าอาการรู้ รู้พยับแดดนั้น เกิดขึ้นด้วยจิตที่ตั้งมั่น
แล้วก็เห็นภาวะนั้นจริงๆ ผ่านมา แล้วผ่านไป
เหลือแต่จิตที่ว่าง เบา เงียบ ไม่มีความคิด ไม่มีความฟุ้งซ่าน
อย่างนั้นให้อยู่กับรู้ต่อ ดูไปว่ามันจะมีอะไร มาให้รู้อีก
อยู่กับรู้นั้นไปเลย
มันไม่มีทางว่างไปชั่วกัปชั่วกัลป์หรอก
มันว่างไปได้อย่างมาก ๑๐ นาที ๒๐ นาที ตามกำลังสมาธิ
แล้วเดี๋ยวก็มีภาวะอย่างอื่น ลอยเข้ามากระทบจิตอีก
แต่ถ้าหากว่าจิตอยู่ในภาวะคิดๆ นึกๆ
แล้วมีการเห็นเป็นพยับแดดแบบนี้ขึ้นมา
ก็ให้ดูไป คิดพิจารณาไป โดยอาศัยโยนิโสมนสิการ
ตามหลักที่พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้แล้ว