Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๓๙๗

 

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๓๙๗

กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

 

เจริญอานาปานสติตลอดเวลาได้ไหม

ถาม (๑) – ดิฉันปฏิบัติธรรมมายี่สิบกว่าปีแล้วค่ะ โดยปกติจะทำอานาปานสติตลอดเวลา
เช่น ตอนนอน ตอนเข้าห้องน้ำ หรือขับรถ ฯลฯ สามารถทำได้ใช่ไหมคะ

ตอบ - ใช่ เพราะว่าลมหายใจเป็นสิ่งที่ติดตัวเราตลอด ๒๔ ชั่วโมง
เพราะฉะนั้นเราก็สามารถที่จะฝึกให้มันเกิดความเคยชิน
ที่จะอยู่กับลมหายใจได้เช่นกัน
แต่ว่าอานาปานสติไม่ใช่อยู่กับลมหายใจอย่างเดียว
แต่เป็นการสังเกตว่าแต่ละลมหายใจ
เราสามารถรู้อาการทางกาย รู้อาการทางใจแบบไหนได้บ้าง
เช่น ในขณะนี้เรากำลังนั่งฟังอยู่
แล้วถ้าหายใจ รู้ว่าอยู่ในท่านั่งแบบนี้ไปด้วยนะครับ
มันก็จะเกิดความเห็นว่าร่างกาย ณ เวลาที่กำลังฟังอยู่นี้
มีความผ่อนคลายหรือมีความเกร็งตรงไหนไหม
ถ้าหากว่ารู้ว่ามีอาการผ่อนคลาย
นั่นแสดงว่ากำลังฟังอยู่ด้วยอาการเป็นสุข
ลมหายใจนี้เป็นลมหายใจแห่งความสุข

แต่ถ้าหากว่าเรารู้ว่าลมหายใจนี้ มันมีอาการเหมือนกับตื้นๆ มันมีอาการเหมือนตันๆ
นั่นแสดงว่าเป็นลมหายใจแห่งความอึดอัด
หรือเป็นลมหายใจของความรู้สึกเฉยๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง มันเกิดขึ้นตลอดเวลา
เพียงแต่ว่าถ้าเราเข้าใจว่าอานาปานสติเป็นการเห็นแต่ลมหายใจ
เราก็จะไม่สังเกตความแตกต่างพวกนี้
ต่อเมื่อเราทำความเข้าใจอานาปานสติตรงจุด
เราจะสังเกตเสมอว่าแต่ละลมหายใจมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์
มีความอึดอัดทางกาย หรือว่ามีความสบายทางใจ
แตกต่างกันอย่างไรในแต่ละขณะนะครับ

 

..................................................................

 

ถาม (๒) – ดิฉันสังเกตว่าขณะนั่งสมาธิ จิตของตัวเองกลับสงบน้อยกว่าตอนที่นั่งเสร็จ
แล้วมาขอพรและอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นคะ

ตอบ - ที่เป็นอย่างนั้นเพราะเราเลิกคาดหวัง
ที่ผ่านมาตอนเรานั่งสมาธิ มันอาจจะเข้าที่แล้ว
แต่เนื่องจากว่าความคาดหวังของเรามันมาเป็นหัวหอกนำหน้า
มันมาเป็นกำแพงขวางไม่ให้เราไปถึงจุดที่จะสงบได้
จำไว้นะ ความคาดหวังนะไปสังเกตตัวเองให้ออกนะ
ลักษณะหน้าตาความคาดหวัง
คือ ฉุดตัวเรา ฉุดจิตของเราไปข้างหน้าไปเรื่อยๆ
ไปสังเกตดูนะครับ มันจะมีอาการฉุดไป
แล้วใจมันจะไปพะวงกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น
แทนที่จะมารับรู้อยู่กับสิ่งที่มันกำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้แล้ว

อย่างตอนที่เราเลิก คิดว่าเลิกดูลมหายใจ เลิกภาวนา แล้วจะมาขอพรแล้ว
ใจเราเนี่ยมันจะมาสวิตช์ (
switch) มาอยู่กับภาวะขอพร
ซึ่งมันไม่ได้คาดหวังว่าจะสงบ
มันคาดหวังว่าจะยกบุญอุทิศส่วนกุศลให้ใคร หรือว่าจะขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ตัวตรงนั้นความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มันก็ทำให้เย็นใจ
เพราะมันไม่คาดหวังแล้วว่าจะสงบ
จริงๆ ใจพร้อมจะสงบอยู่แล้ว
เพียงแต่ว่าถูกความคาดหวัง ถูกภวตัณหามันฉุดดึงไปข้างหน้าไม่หยุด
จำไว้ ภวตัณหา พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นต้นเหตุของความกระสับกระส่ายทางจิต
เป็นต้นเหตุของความทุกข์ทั้งปวง
แม้กระทั่งตัณหาอยากได้ความสงบ
ก็เป็นตัณหาชนิดหนึ่งที่ทำให้ไม่สงบ โอเค นะครับ

 

ถาม (๓) – น่าจะเป็นคำตอบเลยค่ะ เพราะว่าตอนที่ขอพร ดิฉันไม่ได้คิดจะอยากสงบ
แต่ตอนนั้นจิตนิ่งมาก นิ่งกว่าตอนที่นั่งสมาธิมาทั้งหมดเลยค่ะ

ตอบ - นั่นแหละ ตอนนั่งสมาธิเราก็สามารถสงบได้อย่างนั้น
เพียงแต่ไม่คาดหวัง แล้วก็ยอมรับตามจริง
ว่ากำลังเกิดภาวะดีหรือไม่ดีอย่างไรเกิดขึ้น
ภาวะฟุ้งซ่าน เราก็ยอมรับว่าฟุ้งซ่าน
เพื่อให้เห็นว่าความฟุ้งซ่านมันไม่เที่ยง
ตอนที่ยอมรับไปตามจริง แล้วไม่มีความคาดหวัง
ไม่มีความอยากให้สงบ นั่นแหละคือภาวะที่พร้อมจะสงบแล้วนะครับ