Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๓๙๒

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๓๙๒

ธันวาคม ๒๕๖๔

 

 

ทำอย่างไรจึงจะดูแลพ่อแม่ในวัยสูงอายุได้โดยที่ตนเองไม่เป็นทุกข์

ถาม – ดิฉันต้องดูแลคุณพ่อคุณแม่ที่สูงอายุแล้ว
หลายครั้งที่ท่านดื้อและไม่ยอมรับฟัง
จนบางครั้งดิฉันก็เผลอใช้คำพูดที่รุนแรง จนตัวเองก็จิตตกมาก
เพราะรู้ว่าไม่ควรพูดออกไปอย่างนั้น ควรวางจิตอย่างไรดีคะ

ตอบ – เวลาวางจิตกับผู้ใหญ่
อย่าไปคาดหวังว่าเราจะไม่จิตตก อย่าไปคาดหวังว่าเราจะไม่โกรธ
ให้คาดหวังว่าเราได้รับแรงกระทบมาอย่างไร
จิตมันก็จะบุบสลายหรือว่าบอบช้ำตามนั้น ให้คาดหวังอย่างนี้
เสร็จแล้ว ด้วยความคาดหวังนั้นมาประกอบกับสัมมาทิฐินะครับ
คือความเห็นที่ถูกต้อง
ว่าความทุกข์ ทุกขเวทนาจะเกิดขึ้นหนักหนาสาหัสแค่ไหนก็ตาม
ด้วยเหตุปัจจัยอันใดก็ตาม
เมื่อเหตุปัจจัยนั้นหมดลง ในที่สุดผลลัพธ์คือความบอบช้ำ
คือความเจ็บช้ำใจนั้น ก็ต้องหายไปด้วย
ตั้งมุมมองไว้อย่างนี้

ทีนี้เวลาเอาไปปฏิบัติจริง มันไม่ง่าย
อย่างเวลาโดนกระทบกระแทกด้วยสีหน้าสีตาของท่าน หรือว่าคำพูดของท่าน
รู้สึกจุก รู้สึกเหมือนถูกชก ถูกฮุกด้วยกำปั้นของนักมวยเฮฟวีเวท (
Heavyweight)
แล้วเรารู้สึก โอ้โห มันบอบช้ำ ตอนที่รู้สึกทนไม่ได้นั้นน่ะ
ให้ฝึกมองว่าความเจ็บปวด ความบุบสลายของจิตตรงนั้น
มันตั้งต้นที่ลมหายใจไหน

อันนี้สำคัญนะ ถ้าเราสามารถระลึกได้จริงๆ ว่ามันตั้งต้นที่ลมหายใจนี้
แล้วเรานับต่อไปเรื่อยๆ อีกกี่ลมหายใจ
ความบุบ ความบอบช้ำนั้น มันถึงค่อยๆ คลายตัวลง
อาจจะเป็นลมหายใจที่ร้อยก็ได้นะ มันอาจจะใช้เวลาหน่อย

แต่พอยท์ (
point) คือจะนานแค่ไหน ในที่สุดความบุบสลาย ความบอบช้ำนั้น
มันจะค่อยๆ กลับฟื้นกลับฟูขึ้นมา

ตรงนี้แหละที่เราจะเข้าใจว่าเมื่อเหตุดับ เมื่อต้นเหตุคือห่างตัวเราไปแล้ว
ไกลตัวเราออกไปแล้ว เสียงด่าไกลหูออกไปแล้ว
ในที่สุดผลลัพธ์คือความบอบช้ำ มันก็จะค่อยๆ กลับฟื้น
กลับกลายเป็นสลายหายไป
นี่คือธรรมชาติ นี่คือธรรมดา ตามกฎกติกาที่ว่าเมื่อเหตุดับผลย่อมดับตาม
แต่ความเจ็บช้ำน้ำใจ หรืออาการจิตตกจะไม่หายไป
ถ้าหากว่าเหตุดับไปแล้ว เราสร้างเหตุใหม่ขึ้นมา

คือตรึกนึกถึงมัน ด้วยความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ
ด้วยความรู้สึกว่าทำไมทำดีไม่ได้ดี
ทำไมกตัญญูแล้วได้ผลตอบแทนราวกับเราเป็นลูกเนรคุณขนาดนี้
ด้วยความคิด ด้วยความวิตกไป ด้วยความรู้สึกไม่สบายใจไป
อันนี้มันกลายเป็นเหตุใหม่
คือเหตุที่เป็นต้นเหตุแท้ๆ มันดับไปแล้ว พ่อแม่ห่างตัวเราไปแล้ว
แต่มันมีเหตุใหม่ คือความน้อยเนื้อต่ำใจของเรา
มาเป็นอาหารหล่อเลี้ยงความเจ็บช้ำน้ำใจนั้นให้ยืดเยื้อต่อไปอีก
ไปต่ออายุให้มันด้วยความเจ็บช้ำน้ำใจ
ไปต่ออายุให้มันด้วยความตรึกนึกถึง คิดน้อยเนื้อต่ำใจไปต่างๆ นานา
ความคิดนั้นแหละที่มันเป็นต้นเหตุใหม่ แล้วทำให้ผลลัพธ์ไม่ดับไปสักที

ต่อเมื่อเรามาพิจารณาอย่างนี้นะ
ว่าลมหายใจนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความเจ็บช้ำน้ำใจ
หน้าตาความเจ็บช้ำน้ำใจนะ มันมีภาพ
เหมือนผีน้อยที่มันหงอย ที่มันอยู่ในห้องมืดคนเดียว
แล้วผีน้อยนั้น มันอยู่ไปได้กี่ลมหายใจ
มันยังมีลมหายใจของมนุษย์นับอายุมันอยู่
เราจะพบว่ายิ่งหายใจไปโดยไม่ไปนึกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว
มีแต่ปัจจุบันตรงนี้ ที่เป็นลมหายใจเนี่ย
มันจะค่อยๆ ทำให้ผีน้อยตัวนั้น กลับลุกขึ้นมา
แล้วก็กลายร่างกลับเป็นมนุษย์มนา
มีเนื้อมีหนัง มีกำลังวังชากลับขึ้นมาได้อีก