Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๓๘๕

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๓๘๕

กันยายน ๒๕๖๔ 

 

ถ้าต้องประกอบอาชีพที่ก่อให้เกิดอัตตาและโทสะมาก ควรเจริญสติอย่างไร

ถาม – ดิฉันมีอาชีพที่ก่อให้เกิดอัตตาและโทสะมาก
แบบนี้จะเป็นเครื่องขวางการเจริญสติ ทำให้ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควรไหมคะ
ขอคำแนะนำในการปฏิบัติให้เหมาะสมด้วยค่ะ

ตอบ - เหมือนกับชีวิตมีสองภาคนะ
ถ้าหากว่าเราทำภาวนาบ่อยๆ นะครับ เรานั่งสมาธิ เราเจริญสติบ่อยๆ
หรือแม้กระทั่งว่าเอาการเจริญสติไปอยู่ในระหว่างวันด้วย
มันจะเหมือนมีชีวิตสองภาค
ภาคหนึ่งเป็นภาคแบบโลกๆ นะ
ที่มันจะต้องมีอัตตา มันจะต้องมีความหนัก
มันจะต้องมีภูเขาเลากาแห่งความรู้สึกในตัวตน
อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ คือรู้ทีก็ละที อะไรแบบนี้

หรือว่าถ้าเรายังปะปนอยู่กับผู้คน อยู่ในห้องประชุม
หรือว่าอยู่ในที่ถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องการงานอะไรต่างๆ
มันก็อาจไปลดน้ำหนักของตัวตนตรงนั้นยังไม่ได้
แต่พอออกจากที่ประชุมแล้ว ไม่ได้ต้องเจอหน้าผู้คนแล้ว
มาอยู่กับตัวเองตามลำพังแล้ว
เราก็กลับมาเจริญสติต่อนะ และต้องให้ถี่ให้บ่อย ให้เกิดความเคยชิน

ไม่ใช่ว่าอยู่ที่ทำงาน ไม่ต้องเจริญสติเลย กลับมาบ้านค่อยเจริญสติ
อย่างนี้ก็จะอย่างที่คุณว่านั่นแหละ คือโอกาสก้าวหน้าจะยาก

แต่ถ้าทุกครั้งที่เราว่างอยู่กับตัวเอง แม้ว่าตัวจะยังอยู่ที่ออฟฟิศ
แต่ว่าใจว่างอยู่กับตัวเองแล้ว ไม่ต้องเกี่ยวข้อง ไม่ต้องคุยอะไรกับผู้คนแล้ว
ก็เอาเวลานิดๆ หน่อยๆ นั้น มาดูลมหายใจบ้าง
มาดูอิริยาบถปัจจุบันบ้าง มาดูสภาวะทางใจบ้าง
ว่ากำลังปรุงแต่งไปถึงไหนแล้ว
มีความหนักทางอัตตามามากขึ้นขนาดไหนแล้ว
ดูอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี

ในที่สุดมันเกิดความเคยชิน เกิดความชำนาญขึ้นมา
ที่จะเห็นความไม่เที่ยงของการปรุงแต่งจิตในแต่ละวาระ

เช่นออกจากที่ประชุม โอ้โห! หนักอึ้ง
พอเห็นความหนักอึ้งเข้าไปตรงๆ ว่า มันมีอะไรเป็นก้อนๆ
หน้าตาของเราเหมือนยักษ์เหมือนมาร
พอดูเห็นปุ๊บว่า เออ มีการปรุงแต่งจิตในทางที่เป็นอกุศลอยู่
อาจเบาลงทันที เพราะสติคือกุศลจิตที่มาแทนที่อกุศลจิต
สติปรุงแต่งจิต เป็นของปรุงแต่งจิต
ให้เปลี่ยนจากภาวะอกุศล เป็นภาวะกุศลได้ง่ายๆ

เปลี่ยนจากความรู้สึกหนักๆ ในตัวตน เป็นความเบาของอนัตตาได้ถ้าเคยชิน

ช่วงต้นๆ อาจค่อยๆ ลดระดับลง ไม่ลดระดับพรวดพราด
แต่พอชำนาญแล้วมันจะเห็นเลยนะว่ารู้เข้ามาปุ๊บ มันหายเลย
แล้วถ้าเกิดภาวะแบบนั้นขึ้นบ่อยๆ ในที่สุดจิตของเราก็มีคุณภาพ
จิตของเรามีความเป็นกุศลมากกว่าที่จะโน้มเอียงเป็นอกุศล
และนั่นแหละ คือความพร้อมที่จะก้าวหน้าในการเจริญสติภาวนา แบบไม่จำกัดนะครับ