Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๓๘๑

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๓๘๑

กรกฎาคม ๒๕๖๔ 

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเคยผูกกรรมอะไรมากับคนใกล้ตัว

ถาม – ดิฉันรู้สึกเหมือนกับตัวเองผูกกรรมไว้กับคนใกล้ตัวบางคน
ทำให้ต้องเป็นทุกข์เพราะเขาอยู่เสมอ
ที่ผ่านมาก็ได้ถือศีล ๘ อยู่ที่บ้าน และพยายามอุทิศบุญกุศลให้เขาทุกครั้ง
ทำอย่างไรถึงจะรู้ได้ว่าเคยทำกรรมอะไรกับเขาไว้
และจะมีวิธีลดหรือตัดกรรมนั้นให้หมดสิ้นไปในชาตินี้ได้ไหมคะ

ตอบ - โอกาสที่เราจะรู้ว่าเราเคยผูกกรรมอะไรกันมากับคนใกล้ตัวนะ
ง่ายๆ เลย ถามตัวเอง อันดับแรกเลยนะ อย่าไปถามถึงเหตุการณ์
ถามอาการทางใจว่าเรากำลังถูกบีบคั้นหนักด้วยความทุกข์แค่ไหน
ระดับความทุกข์นั้นหนีได้หรือหนีไม่ได้ เลี่ยงได้หรือเลี่ยงไม่ได้
เอาแค่นี้ก่อน เอาอาการทางใจก่อน อย่าไปเอาเหตุการณ์
ทบทวนนะ อันดับแรกนะ ดูว่าความทุกข์นั้นเหนียวแน่นแค่ไหน
หนาแน่นแค่ไหน เข้มข้นแค่ไหน
เบาบางหรือว่ามันบีบคั้นหัวใจแทบเป็นแทบตาย เอาตรงนี้ก่อนข้อแรก

อันดับสองคือ เลี่ยงได้หรือเลี่ยงไม่ได้
คำว่าเลี่ยงไม่ได้ หมายความว่าต่อให้เราพยายามหลบ พยายามอะไรอย่างไรก็ตาม
พยายามจะดีแล้ว พยายามจะทำให้สถานการณ์มันคลี่คลาย ผ่อนคลายอะไร
แล้วมันไม่ดีขึ้นเลย มันหลบเลี่ยงไม่ได้เลย
แล้วต้องเผชิญหน้ากันกับความทุกข์แบบนั้น บีบคั้นอยู่จริงๆ
โดยที่เราทำอะไรให้ดีขึ้นไปกว่านั้นไม่ได้แล้ว นี่เรียกว่าเลี่ยงไม่ได้
แต่ถ้าเลี่ยงได้ หมายความว่าเราไม่ต้องอยู่ใกล้ แต่เราก็ยังเอาตัวเข้าไปอยู่ใกล้
เราไม่ต้องคิดถึง แต่เราก็ยังเอาใจเข้าไปคิดถึง
อย่างนี้เรียกว่าเลี่ยงได้แต่ไม่ยอมเลี่ยง

ถ้าหากว่าเราอยากรู้ว่าต้นเหตุของความทุกข์แบบนี้มาจากไหน
ให้สันนิษฐานไว้ว่าเราเคยไปบีบคั้นให้คนเกิดความทุกข์ระดับนั้นขึ้นมา
แล้วบีบคั้นในแบบที่ว่าให้โอกาสเขาที่จะเลี่ยงได้หรือเลี่ยงไม่ได้
ถ้าหากว่าเราเคยบีบคั้นมาในแบบที่ไม่เปิดโอกาสให้เขาเลี่ยง
เวลาที่เราจะโดน เราก็โดนแบบที่เลี่ยงไม่ได้เหมือนกัน

ทีนี้เพื่อที่จะให้หลุดพ้นจากตรงนี้นะครับ
ก็คือทำอย่างไรให้ความรู้สึกทางใจของเรา มันคลี่คลายออกมาก่อน
อย่าเพิ่งไปคลายใจเขา อย่าเพิ่งไปตั้งความหวัง
ว่าจะให้เขามาดีกับเรา หรือว่ามามีท่าทีอย่างโน้นอย่างนี้
อย่าเพิ่งไปตั้งความหวังไว้แบบนั้น
เพราะการตั้งความหวังไว้แบบนั้น มันเป็นการพยายามไปควบคุมเขา
พยายามที่จะทำให้อนัตตาภายนอก มันเป็นดั่งใจเรา
ทั้งๆ ที่ขนาดอนัตตาภายใน คือกายคือใจของเรา
เรายังทำให้เป็นไปอย่างใจของเราตลอดไม่ได้เลย
เราจะไปทำให้อนัตตาภายนอกคือคนอื่น มาเป็นอย่างใจเราได้
มันเป็นความคาดหวังที่มันเกินตัว มันผิดวิสัย

ทีนี้ถ้าหากว่าเรามองด้วยความเชื่ออย่างนี้นะ
ว่าการเจริญสติให้กับตัวเอง ทำให้ใจตัวเองคลายลงได้ วางลงได้
ทุกข์น้อยลงได้ มีความเบา ใจของเรามีความเบาลงได้
เราตั้งความเชื่อไว้ว่าด้วยใจที่เบาลงแบบนี้จะสามารถช่วยผ่อนคลาย
หรือว่าคลี่คลายปมกรรมที่ทำมากับเขาได้เช่นกัน

เพราะว่าหลักการของการให้ผลกับคู่เวรที่เคยทำอะไรไม่ดีต่อกันมา
ก็คือว่าถ้าหากเปรียบเทียบนะ คนหนึ่งเป็นขั้วหนึ่ง อีกคนเป็นอีกขั้วหนึ่ง
แล้วมีเชือกคือเวร มาขึงให้ตึงอยู่ แน่นหนา
ต่างฝ่ายต่างอยู่ในอาการที่เรียกว่า
ทำให้เส้นนั้นเนี่ย มันตึง มันเครียด อยู่ในจุดเดิมของตัวเอง
มันก็เครียดอยู่อย่างนั้น มันตึงอยู่อย่างนั้น
แต่ถ้าหากว่ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้มันหย่อนลงได้
คือเปลี่ยนจุด เปลี่ยนตำแหน่งของตัวเอง วางลง
อาจทำให้ใจเราเนี่ยทิฐิมานะมันเตี้ยลง
หรือความคาดหวังในตัวเรามันน้อยลง เชือกมันก็หย่อนได้

พูดง่ายๆ ทำที่ตัวเราให้มันเปลี่ยนจุด เปลี่ยนตำแหน่ง
ลดระดับความตึง ความเครียดลง ทำใจให้มีธรรมะ แล้วทำใจให้เบาลงได้

คือไม่ใช่ทำด้วยศีลแปดนะ
ทำด้วยการเจริญสติ ทำด้วยการเห็นว่าใจของเราไม่เที่ยง
พอใจรู้ว่าภาวะของตัวเองไม่เที่ยง
มันก็จะได้เลิกยึดมั่นถือมั่นว่านี่มันเป็นตัวของเรา มันเป็นตนของเรา

มันเกิดปัญญาขึ้นมาทันทีก็เบาลงทันทีเช่นกัน
ส่วนการถือศีลคือการควบคุมตัวเอง บังคับตัวเองไม่ให้ทำอะไรตามใจชอบ
ตรงนั้นอาจดีตรงที่ทำให้ใจของเราพร้อมจะเป็นสมาธิ
แต่ไม่ได้ช่วยให้ใจของเราเบาลงทันที เหมือนกับการเจริญสติอย่างถูกวิธีนะครับ