Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๓๗๖

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๓๗๖

เมษายน ๒๕๖๔ 

 

 

พระพุทธศาสนาสอนให้วางใจกับความสุขอย่างไร

ถาม – พระพุทธศาสนาสอนให้วางใจกับความสุขอย่างไรครับ
ทั้งความสุขจากครอบครัว คนรัก และทรัพย์สินเงินทอง

ตอบ - พระพุทธเจ้าเวลาที่จะสอนให้ดูความสุข
ตอนแรกท่านให้ดูความสุขจากการหายใจยาวเป็นก่อน

หายใจยาวมีความสุขอย่างนี้
แล้วเราดูว่าความสุขนี้เที่ยงหรือไม่เที่ยง

มันง่าย เพราะว่าเป็นความสุขจากอะไรที่เรารู้สึกว่าไม่ค่อยมีค่าเท่าไหร่
มันเป็นแค่ลมหายใจเข้าออกนะ
ถ้าเห็นได้ว่าหายใจเข้ายาวแล้วมีความสุข มีความสดชื่น
แล้วพอหายใจสั้นลง มีความสุขน้อยลง
อย่างนี้มันจะทำให้เริ่มที่จะมีเบสิก (
basic) ที่จะเห็นความสุขไม่เที่ยง
แล้วก็ไม่แคร์ที่จะเห็นความสุขนั้นแตกดับหรือว่าหายไป

แต่พอเราได้มีความชำนาญนั้นแล้ว จะพบความจริงอย่างหนึ่งว่า
แม้ความสุขที่มันใหญ่กว่านั้น ที่มันดูมีค่ามากกว่านั้น
อย่างเช่น ความสุขจากครอบครัว หรือว่าความสุขจากคนรัก จากทรัพย์สินเงินทอง
เราย้อนเข้ามาดูข้างใน โอ้! มันมีความสุขน้อยเสียกว่าที่ตอนเราทำสมาธิ
แล้วก็หายใจยาวๆ ได้มีความต่อเนื่องเสียอีก
ขนาดความสุขจากลมหายใจยาวเรายังไม่แคร์
ความสุขที่มันเกิดขึ้นที่มันน้อยกว่านั้น มีระดับที่เล็กกว่านั้น เราจะไปแคร์ทำไม

เราก็สามารถที่จะเห็นว่ามันแปรไปเรื่อยๆ ตามเหตุปัจจัยได้เช่นกัน
เหมือนกับอย่างตอนที่เราหายใจยาว แล้วเรามีความสุขสดชื่นมาก
พอหายใจสั้นลง ความสุขมันก็ลดระดับลง เราไม่แคร์ใช่ไหม
เหมือนกัน ความสุขจากครอบครัว วันหนึ่งทุกคนดี เราเกิดความสุขเต็มเปี่ยม
แต่อีกวันหนึ่งทุกคนไม่ดี เราไปให้ค่ามันถึงมีความทุกข์นะ
เราก็แค่รับรู้ไปตามจริงว่าวันที่คนเขาไม่ค่อยดีกับเราเท่าไหร่
ความสุขของเราน้อยลง

ตรงนี้เนี่ยมันก็กลายเป็นการเห็นว่าความสุขไม่เที่ยง
เห็นเป็นธรรมดาว่าความสุขไม่เที่ยงตามเหตุปัจจัย

เอาจากลมหายใจให้ได้ก่อน
แล้วเสร็จแล้วไปพิจารณาความสุขแบบอื่น ความทุกข์แบบอื่นเนี่ย มันจะง่ายเลย