Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๘๖

ถาม - ถ้าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา แล้วเราเป็นอะไรคะ?

dungtrin_gru2คำถามนี้คาใจคนส่วนใหญ่
บางคนฟังหรืออ่านเรื่องเกี่ยวกับขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา
ถึงกับน้ำหูน้ำตาไหล
ท่านว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวตน
ที่ไม่ใช่ตัวตนเพราะหาผู้สร้าง ผู้เป็นเจ้าของไม่ได้
ขันธ์ ๕ ต้องดับไปในวันหนึ่ง
เพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นอีกอย่างหนึ่งตามเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง
พอฟังหรืออ่านไปจนจับจุดได้
ว่าความรู้สึกในตัวเรา ที่แท้เป็นแค่อุปาทานในขันธ์ ๕
อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นของหนัก
อดีตไม่มีเรา ปัจจุบันไม่มีเรา อนาคตไม่มีเรา
มีแต่ขันธ์ ๕ ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป
สรุปแล้วนอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับลง
รู้เท่านั้นก็เกิดความสนอกสนใจ
นึกอยากปฏิบัติธรรมเพื่อดับทุกข์
โดยมากประเภทนี้จะมีเชื้อมาก่อน
เคยปฏิบัติจิตปฏิบัติใจ หรือร่ำเรียนตามหนทางที่ถูกที่ชอบมาก่อน

อย่างไรก็ตาม
เมื่อนานวันไป ความรู้สึกเข้าใจก็เลือนไป
ความเห็นจริงตามตรรกะก็ห่างหาย
หลายคนปฏิบัติแล้ว เกิดนึกย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นอีก
ว่าถ้าขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวเรา แล้วเราคืออะไร?
บางคนสงสัยแล้วก็ปล่อยให้ผ่านไป ไม่ยึดเป็นอารมณ์มากนัก
แต่บางคนสงสัยขนาดที่เป็นตัวถ่วงดึงการปฏิบัติ
คือคิดไปคิดมาแล้วรู้สึกว่าจะต้องปฏิบัติทำไม
หลอกตัวเองหรือเปล่าที่มานั่งทำใจให้เห็นตัวไม่มีตน ตนไม่มีตัว
เมื่อสั่งสมความสงสัยมากเข้าก็กลายเป็นความกังวล
เมื่อกังวลมากเข้าก็อาจท้อถอย มองไม่เห็นอนัตตา มองไม่เห็นนิพพาน
แล้วข้าพเจ้าจะเดินจงกรมนั่งสมาธิ ทำภาวนาในชีวิตประจำวันไปทำไมกัน

บางครั้งสัมมาทิฏฐิก็เป็นอนิจจังได้อย่างนี้เอง
ถ้าปราศจากสัมมาสติ สัมมาสมาธิรองรับอย่างต่อเนื่อง

ถ้าใครเฝ้าตามอารมณ์ เฝ้าทำใจสักแต่เห็นอารมณ์ทั้งหลาย
สักแต่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
แล้ววันหนึ่งเกิดสงสัยขึ้นมาอย่างนี้
ว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา แล้วเราเป็นอะไร
มีวิธีขจัดความกังวลสงสัยง่ายๆได้อย่างหนึ่ง
ก็ดูที่ปัจจุบันนั้นแหละ ที่กำลังสงสัยนั้นแหละ
บอกตัวเองว่าถ้ามีจิต ไม่มีธรรมชาติรู้ ไม่มีจิตเป็นพื้นยืนให้ความคิด
ความคิดสงสัยนั้นก็เกิดขึ้นไม่ได้
แค่บอกตัวเองอย่างนี้ จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าตัวที่กำลังสงสัยนั้นเองคือจิต

จิตเป็นสิ่งมีอาการ มีกิริยา
กิริยาอาการของจิตในขณะนั้นคือไหวตัวขึ้นคิด
ความคิดจะเกิดไม่ได้ถ้าหากปราศจากความกำหนดหมายรู้
ตัวความหมายรู้นั้นเองเรียกว่า สัญญา
ให้ทำความรู้สึกธรรมดาๆครู่หนึ่ง
จะเห็นว่าสัญญา - การตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับตัวตน - มันจางหายไปเอง
เราบังคับให้สัญญาที่มีหน้าตาแบบนั้นตั้งอยู่เพื่อก่อความสงสัยนานๆก็ไม่ได้
เราจะรีบขับไล่ไสส่งแบบตัดฉับดับไฟก็ไม่ได้
นั่นแหละการแสดงตัวของสัญญา
นั่นแหละการแสดงตัวของอนัตตา
นั่นแหละความไม่ใช่ตัวตนที่ปรากฏต่อสิ่งที่เคยนึกว่าตัวเองเป็นตน เป็นอัตตา

เมื่อหัดรู้ไปเรื่อยว่าหน้าตาของสัญญาที่ปรากฏขึ้นเป็นอย่างไร
ลองหัดดูว่าความคิดที่เป็นผลต่อเนื่องจากสัญญานั้นเอง
ความตั้งข้อสังเกต ความมีเจตนาค้นหาคำตอบนั้นเอง
เป็นสิ่งปรุงแต่งประกอบจิตที่เรียก สังขาร
สังขารอาจเกิดขึ้นได้ยาวนานต่อเนื่องเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน
หากมีปัจจัยอุดหนุนทยอยมาไม่ขาดสาย คือเกาะอารมณ์เดิมไม่เลิก
ถ้าสงสัยอะไร ไม่ปล่อยสิ่งนั้นแล้ว ก็เกิดสังขารเกี่ยวกับสิ่งนั้นไปได้เรื่อย
กระทั่งสังขารขาดสายเสียได้ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง
จะลงเอยด้วยปัญญารู้ หรือโมหะเหม่อลอยกระโดดไปจับเรื่องอื่น
จึงเห็นได้ว่าสิ่งที่เหลือก็แค่ความรู้สึกธรรมดาๆ ไม่มีสังขารหลงค้างอยู่อีก
นั่นแหละการแสดงตัวของสังขาร
นั่นแหละการแสดงตัวของอนัตตา
นั่นแหละความไม่ใช่ตัวตนที่ปรากฏต่อสิ่งที่เคยนึกว่าตัวเองเป็นตน เป็นอัตตา

สรุปแล้วถ้าสงสัยอย่างในหัวข้อกระทู้
หากให้คำตอบตัวเองด้วยวิธีคิดเป็นตรรกะไม่ได้ผลแล้ว
ก็อย่าไปแสวงหาคำตอบจากที่อื่น
แต่ให้เห็นลงไปเดี๋ยวนั้น ขณะจิตที่ถูกความสงสัย อยากรู้คำตอบนั้น
เห็นเป็นอาการก่อตัวขึ้นมาวูบหนึ่งของสัญญาและสังขาร
เห็นเป็นการแสดงตัวของอนิจจังอีกวูบหนึ่ง
สิ่งที่เป็นผลคือความรู้แจ้ง ความเบิกบานในธรรมอันตรงไปตรงมา
ความเบิกบานนั้นเองเป็นอาการอีกแบบหนึ่งของจิต
ความเบิกบานนั้นเองเป็นสุขเวทนา หรือความรู้สึกฝ่ายดี

สิ่งที่ควรระวังคือถ้าเผลอไม่สังเกต
ว่าความเบิกบานนั้นเองเป็นเพียงเวทนา - ความรู้สึกชนิดหนึ่ง
ก็จะเกิดตัวตนแบบใหม่ ตัวตนของผู้รู้ ตัวตนของนักปฏิบัติธรรม
ตัวตนของผู้เห็นธรรม
อย่างนี้จะยังไปถึงมรรคถึงผลไม่ได้
เพราะตามไม่ทันอาการของจิต
ตามไม่ทันความฉลาดเล่ห์ของกิเลสข้อโมหะ