Print

ดังตฤณ วิสัชชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๙๕

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 

 

 

มีวิธีทำให้บรรลุมรรคผลได้รวดเร็วไหม

ถาม – เมื่อปฏิบัติจนรู้ว่ากิเลสใดๆ หมดไปแล้ว กิเลสใดยังไม่ละ
แต่มรรคยังไม่เกิด แบบนี้ต้องทำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเกิดมรรค
โดยปฏิบัติเพียงรู้และปล่อย ตามรู้รูปธรรมนามธรรมเท่านั้นใช่ไหมครับ
ถ้าหากว่าจะเพิ่มการปฏิบัติในรูปแบบ ควรทำอย่างไรดีครับ

ตอบ – สรุปคำถามก็คือว่าถ้าเรารู้สึกว่ากิเลสน่าจะหมดไปเป็นอย่างๆ แล้ว
แต่ยังไม่เกิดมรรคไม่เกิดผลสักทีเนี่ยจะทำอย่างไร

จะให้ปฏิบัติอะไรให้มันเข้มข้นขึ้น
มันช่วยให้ถึงความตั้งมั่นแล้วก็ล้างผลาญกิเลสขั้นต้นได้
คือ เห็นรูปเห็นนามเนี่ย สักแต่เป็นรูป สักแต่เป็นนาม ไม่มีตัวตน
เพื่อที่จะได้เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน

อันนี้สิ่งที่ต้องเพิ่ม เวลาคนไปถามพระพุทธเจ้านะ
ไม่ว่าใครจะไปถามท่าน
ก่อนถึงมรรคผลหรือกระทั่งว่าถึงมรรคผลขั้นต้นเป็นพระโสดาบันแล้วเนี่ย
พระพุทธเจ้าท่านก็จะตอบเป็นคำตอบเดียวกันเลยนะ
เวลาที่ใครไปถามว่าทำสมถะหรือทำวิปัสสนาดี
ท่านตอบว่า ทำควบคู่กันไปทั้งสมถะและวิปัสสนา

คือมีความสงบใจ สงบจากกิเลสชั่วคราว
เพื่อให้จิตมีความตั้งมั่นมากพอที่จะเห็นตามจริง
แล้วหลังจากนั้น เมื่อจิตมีความพร้อมที่จะเห็นตามจริง
ก็เอาไปรู้เอาไปดูนะ ว่าภาวะปัจจุบันเนี่ย ตรงไหนที่มันมีความเที่ยง
ตรงไหนที่มันน่าให้ชี้ว่าเป็นตัวเป็นตนนะครับ

ถ้าหากว่าเราตามรู้เราตามดูแต่สิ่งที่มันไม่เที่ยง
ตามรู้ตามดูแต่สิ่งที่มันไม่ใช่ตัวตน
ในที่สุดจิตก็จะมีความสามารถเป็นเครื่องประหารอุปาทาน
ที่ยึดมั่นถือมั่นมานานว่ากายว่าใจนี้เนี่ย มันเป็นตัวเป็นตน
มันก็จะสามารถสลัดอุปาทานนี้ทิ้งไปได้
แต่ถ้าตราบใดยังไม่ถึงตรงนั้น อย่าไปเร่งเด็ดขาด
อย่าไปคิดว่าทำอะไรเพิ่มเข้าไปเป็นพิเศษแล้ว
จะเป็นเหตุให้เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมาทันใจ มันไม่มีอะไรแบบนั้น

มีแต่ว่าเราใช้ชีวิตทั้งชีวิตนี่แหละ
ชีวิตนับแต่วินาทีนี้ไปจนกระทั่งสิ้นชีวิต
ไปเพื่อที่จะเห็นว่าชีวิตมันสักแต่เป็นชีวิต ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน
สักแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ด้วยเหตุปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่ง
มันมาประชุมประกอบกันชั่วคราวนะครับ

ถ้าหากว่าเราทำใจไว้ได้จริงๆ ว่าใช้ทั้งชีวิตที่เหลือนี่แหละ
เพื่อที่จะรู้ เพื่อที่จะดูความจริงอันไม่เที่ยง
ความจริงอันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนในกายใจเนี่ย

อันนั้นเรียกว่ากำลังทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว
แต่ถ้าหากว่านึกอยากที่จะได้มรรคผล
แล้วก็นึกไปสำคัญว่าจะมีอุบายใดอุบายหนึ่ง
มาทำให้เราบรรลุมรรคผลได้อย่างรวดเร็ว
อันนั้นมันผิดทันที

มีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นนะครับที่สามารถจะรู้ฐานะของใคร
ว่าด้วยกรรมอันใดที่ทำมาในอดีตเนี่ย
แล้วก็ด้วยอุบายอันใดที่พระองค์จะมอบให้เนี่ย
จึงสามารถทำให้คนคนนั้นบรรลุมรรคผลได้อย่างฉับพลัน
และไม่ใช่ว่าพระพุทธองค์จะสามารถช่วยใคร
ได้บรรลุมรรคผลแบบฉับพลันได้ทุกคนนะ ไม่ใช่นะ
บุคคลผู้นั้นจะต้องมีความปรารถนาในทางใดทางหนึ่งไว้ก่อน
หรือทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษมา
เพื่อที่จะบรรลุมรรคผลได้ง่าย
ด้วยการพบพระพุทธเจ้า อยู่ต่อเบื้องพระพักตร์
แล้วถึงจะมีที่จะสิทธิ์ปิ๊งขึ้นมาได้แบบเร็วๆ
นอกนั้นเนี่ยต้องทำกันแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปกันทั้งนั้นแหละ

ผมยกตัวอย่างให้ง่ายๆ นะ
อย่างพระราหุล พระโอรสของพระพุทธเจ้าเอง
คือพระโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ
ก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนี่ย
คนคาดหมายว่าพระพุทธเจ้าน่าจะเมตตาสั่งสอนพระราหุล
ให้ได้บรรลุมรรคผลเร็วกว่าใคร น่าจะมาคุมกันตลอด ๒๔ ชั่วโมง
แต่จริงๆ ไม่ใช่เลยนะ พระพุทธเจ้าเนี่ยท่านให้ทำสติปัฏฐาน
เพื่อเป็นแบบอย่างเลยว่าเนี่ยลูกของท่านเอง
ท่านสอนแบบนี้ ท่านสอนให้ทำเอง
สอนให้ค่อยๆ เป็นค่อยๆไป แล้วไม่มีอุบายลัดใดๆ เลย

ในพระไตรปิฎกนะไม่มีสอนเลย
ว่าให้พิจารณาอย่างนั้น ให้พิจารณาอย่างนี้
แล้วจะได้เห็นธรรมรวดเร็วนะ ไม่มีเลย
มีแต่ว่าท่านสอน อย่างตอนเช้ามา
พระสารีบุตรท่านสอนพระราหุลไว้ บอกว่าให้ดูลมหายใจนะ
ทีนี้พระราหุลก็ไม่แน่ใจว่าดูลมหายใจอย่างเดียวเหรอ
พระพุทธเจ้าท่านก็มาเสริมให้ในภายหลังนะ ลับหลังพระสารีบุตรไปแล้ว
บอกว่าดูเวทนาด้วย ดูสัญญาด้วย ดูสังขารด้วย ดูวิญญาณด้วย
คือท่านเห็นว่าที่พระสารีบุตรให้เป็นการบ้านเนี่ย
คือมันง่ายสำหรับมือใหม่
แต่ว่าพระองค์เห็นว่าพระราหุลเนี่ยสามารถรู้ได้หมดแหละ
ก็เลยบอกว่าดูครบทุกขันธ์เลย อันได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์
สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ แล้วก็วิญญาณขันธ์นะครับ

นี่ก็เป็นหลักฐานชี้ว่า
เวลาพระพุทธเจ้าสอนคนที่ท่านน่าจะมีเมตตาให้มากที่สุดเนี่ย
ท่านสอนให้ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปนะครับ
ไม่ได้สอนให้ใช้อุบายลัดใดๆ ทั้งสิ้น