Print

ดังตฤณ วิสัชชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๘๘

dungtrin_cover

 ดังตฤณ วิสัชชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๘๘dungtrin_gru2a

 

 

อาการติดสุขในการปฏิบัติธรรมมีลักษณะอย่างไร

ถาม – ดิฉันฝึกเจริญสติมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว
แต่มีคนทักว่าติดสุขอยู่โดยไม่รู้ตัว
พอลองกลับมารู้ ก็เห็นแต่ความรู้สึกโล่งๆ
จึงขอสอบถามถึงลักษณะของอาการติดสุข
และจะมีวิธีสังเกตว่าเราติดสุขอยู่หรือไม่ได้อย่างไรคะ

ตอบ - วิธีง่ายๆ ที่จะรู้ตัวว่าเรากำลังติดสุขอยู่หรือเปล่า
ก็คือถามตัวเองว่าสิ่งที่เราอยู่ด้วยทั้งวัน อยู่ด้วยบ่อยๆ ที่สุด
อารมณ์ที่อยู่ด้วยบ่อยๆ ที่สุดเนี่ย
คืออารมณ์แบบไหน แล้วเราชอบหรือเปล่า
ความชอบใจหรือความรู้สึกติดใจนั่นแหละ
เนี่ยตัวนี้แหละที่จะพาให้เราไปประเมินตัวเองได้
ว่าเรากำลังติดสุขอยู่หรือเปล่า

อย่างที่คุณบอกว่ารู้สึกโล่งๆ นั่นน่ะ
ถามตัวเองว่าเราชอบหรือไม่ชอบ
ถ้าหากว่าเราชอบ แล้วถามตัวเองเข้าไปอีก
เคยเห็นไหมว่าความรู้สึกโล่งๆ นั้นน่ะ มันไม่เที่ยง
บางทีมันก็มีความรู้สึกยุ่งๆ ขึ้นมา บางทีมันก็มีความรู้สึกไม่ชอบใจขึ้นมา
ถ้าเคยเห็นความเปลี่ยนแปลงของอาการโล่ง
หรือเห็นความไม่เที่ยงของความรู้สึกชอบใจ ความรู้สึกติดใจ

อันนี้ถือว่าไม่ติดสุขแล้ว เพราะเรามีสติเห็นความไม่เที่ยง

ตัวที่จะเป็นมาตรวัดชัดเจนเลยนะว่าเราติดหรือไม่ติด
ตัวนี้เลยตัวเห็นความไม่เที่ยงเนี่ย
ถ้าตราบใดเราเห็นความไม่เที่ยงอยู่ ไม่ต้องกลัวการติดสุขเลย
แม้แต่สุขในฌานนะ พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ชัดเจนว่าเป็นความสุขที่ไม่น่ากลัว
ไม่ควรกลัว เป็นความสุขที่ควรทำให้เกิดขึ้น
เพราะอะไร เพราะสามารถที่จะเอามาใช้พิจารณาอนิจจัง
หรือความไม่เที่ยงได้ง่าย

ท่านเคยตรัสไว้ตอนที่พูดถึงเรื่องของอานาปานสติ
แม้แต่คนที่ชอบ ชอบมากๆ เลยนะที่จะปฏิบัติธรรมแนวทุกข์
คือหมายความว่าชอบอสุภกรรมฐานเนี่ย
พระพุทธเจ้าท่านก็เคยตรัสไว้นะว่า
ควรทำอานาปานสติให้มีความสุขเสียก่อน
แล้วค่อยไปพิจารณาถึงอสุภะ

ตรงนั้นเนี่ยมันจะได้ไม่เกิดความขยะแขยงมากเกินไปนะครับ
อันนี้ที่ท่านตรัสขึ้นมาก็เพราะว่าเคยมีเหตุ
ภิกษุจำนวนมากเลยพากันฆ่าตัวตายหรือไม่ก็วานกันฆ่ากันเอง
เพราะว่าพิจารณาอสุภะแล้วรู้สึกทนไม่ไหว
เนื่องจากพวกท่านเนี่ย ในยุคนั้นท่านเอาจริงเอาจังกันมากนะ
ท่านยอมตายถวายหัวเลยกับการปฏิบัติธรรม
แล้วพอเหมือนกับปฏิบัติไปโดยที่ใจเนี่ยมีแต่ความทุกข์อย่างเดียว
มันก็ทนไม่ไหว เหมือนกับคนที่ซึมเศร้า เหมือนกับคนที่หดหู่
มีแต่ความหดหู่อย่างเดียวไม่มีความสุขรองรับอยู่เลย

พอพระพุทธเจ้าท่านรู้เข้านะ
ว่าเนี่ยพวกนี้ปฏิบัติกันโดยที่ไม่มาตามลำดับของสติปัฏฐาน ๔
ท่านก็ตรัสว่าอานาปานสติควรทำก่อน ให้มีความสุขก่อน
ให้มีหลักให้มีพื้นให้มีฐานที่ยืนที่มั่นคงเสียก่อน
ให้มีความสุขที่จะมาเป็นตัวแบ่งเบาความทุกข์
แบ่งเบาพื้นที่ความทุกข์ให้ได้เสียก่อน
แล้วจึงค่อยไปเจริญอสุภกรรมฐาน

อันนี้ก็เหมือนกัน การที่พระพุทธองค์ทรงมีประสงค์ให้เราทำอานาปานสติ
ให้มีความสุขให้มีสติอยู่ตลอดเวลาเนี่ยนะ
ไม่ใช่เพื่อที่จะให้ความสุขนั้นมันอยู่ยั้งยั่งยืน
แต่พระองค์สอนไว้ในอานาปานสติเลยว่า
ขอให้รู้ทุกลมหายใจเข้าออกเลย
ตอนนี้กำลังสุขมาก ตอนนี้กำลังมีปีติมาก
ตอนนี้กำลังปราโมทย์ ตอนนี้กำลังมีลักษณะที่ดีๆ อะไรต่างๆ นะ

แล้วก็พิจารณาด้วยถึงความไม่เที่ยงของความสุขที่เกิดขึ้น
ของปีติ ของปราโมทย์ ของโสมนัสที่เกิดขึ้น
ท่านตรัสไว้อย่างนี้ กำกับไว้ทุกครั้งเลย

ไม่มีการปฏิบัติธรรมกรรมฐานแบบไหนที่พระองค์สอนสมถะอย่างเดียว
พระองค์จะให้พิจารณาความไม่เที่ยงเสมอ

แล้วความไม่เที่ยงเนี่ยดูได้ง่ายๆ
อย่างถ้าคุณรู้สึกว่าโล่งๆ ก็ให้พิจารณาทิศทางที่มันเป็นตรงกันข้าม
เมื่อไหร่ที่เราเกิดความรู้สึกทึบๆ ขึ้นมา เราดูด้วยหรือเปล่า
ถ้าหากว่าดูอยู่ อันนี้มั่นใจได้เลยว่าเราไม่ได้ติดความโล่ง
แต่ถ้าหากว่าพอเกิดความรู้สึกทึบๆ ขึ้นมา
เราจะปฏิเสธ เราไม่เอาเลย จะเอาแต่ความโล่งๆ
นี่แหละเป็นตัวพิสูจน์ว่าเราติดอยู่จริงๆ ติดสุขนะครับ