Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๖๐

dungtrin_cover

 dungtrin_gru2a

 

 

 เมื่อมีความคิดฟุ้งซ่านมากควรทำอย่างไร

ถาม –  เมื่อมีความคิดฟุ้งซ่านมากควรทำอย่างไรคะ

ตอบ - ความคิดฟุ้งซ่านจัดๆ เนี่ยนะ ก็เป็นอาการของใจ
ที่มันอยู่ในภาวะที่ไม่พร้อมจะคิดอย่างเป็นระเบียบ
มองอย่างนี้ก็แล้วกันนะ
คือถ้าคิดเนี่ย มันไม่ฟุ้งซ่านหรอก ถ้าคิดจริงๆ นะ
แต่เพราะไม่ได้คิดน่ะ มันถึงฟุ้งซ่าน มันถึงกระจัดกระจาย
มันถึงได้มีอะไรที่เป็นเป้าล่อเยอะแยะไปหมด
จนไม่รู้จะจับตรงไหนนะ ไม่รู้จะจับเป้าไหนดี
หรือบางคนคิดฟุ้งซ่านในเรื่องเรื่องหนึ่งที่กำลังคาใจอยู่ ที่กำลังไม่ได้อย่างใจอยู่
ความไม่ได้อย่างใจเนี่ยทำให้ไม่คิด มันคิดอะไรไม่ออก
มันมีแต่ความรู้สึก รู้สึกอยากได้หรือรู้สึกขัดใจ
ความรู้สึกหรืออารมณ์ที่มันไม่ได้อย่างใจ
หรือกำลังขัดใจอยู่เนี่ยแหละ ที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วน
ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าเราไม่สามารถสงบจิตสงบใจอย่างมีความสุขได้

ตรงนี้นะพอเรารู้สาเหตุว่าแรงดันของความฟุ้งซ่านมาจากอารมณ์
ไม่ใช่วิธีคิดอย่างเป็นระเบียบ เราก็จะได้ดูเข้าไปที่ต้นตอได้ถูกต้อง
คือแทนที่จะมาตั้งคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะสงบจากความฟุ้งซ่านได้
กลายเป็นตั้งคำถามใหม่ว่าอะไรที่มันเป็นภาวะ เป็นแรงดัน
เป็นแรงขับดันให้เกิดความฟุ้งซ่าน อารมณ์ไหน ตัวไหน
มันจะสืบเข้าไปที่ใจนะ
แล้วเกิดความรู้สึกว่า อ๋อ มันมีแรงดันอะไรบางอย่าง
ที่ทำให้จิตมันงุ่นง่าน ฟุ้งซ่าน ซัดส่าย

ช่วงนี้เป็นกันเยอะนะ ช่วงกลางปี
มันมีแรงขับให้เกิดความฟุ้งซ่านกันเยอะเลย
ต่อให้คนที่เคยมีสมาธิ ต่อให้คนที่เคยมีความสงบมาก่อน
มันเหมือนจะมีเหตุ หรือแม้กระทั่งนะไม่สามารถสืบหาสาเหตุได้
มันเหมือนกับไม่สมเหตุสมผลที่อยู่ๆ ฟุ้งซ่านขึ้นมา
เอาเป็นว่าจะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่
จะด้วยเหตุอะไรก็แล้วแต่นะที่ขับดันให้ฟุ้งซ่านเนี่ย
ขอให้บอกตัวเองว่า ตอนนี้เราขาดวิธีคิดอย่างเป็นระเบียบ
ใจมันกำลังถูกขับดันอยู่ด้วยอารมณ์
คือต่อให้คุณรู้สึกว่าเนี่ยมันไม่ได้มีเรื่องอะไรที่เป็นสาระให้ฟุ้งซ่าน
ให้มาเกิดความพะวงหรือเกิดความคิดถึงอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง
แต่มันฟุ้งซ่านขึ้นมาเองเนี่ย
สืบลงไปที่จิตที่ใจตัวเองเนี่ย
จะรู้สึกถึงแรงขับดัน มันจะมีเหมือนแรงดันออกมาจากข้างใน
อาจเป็นความอึดอัด อาจเป็นความรู้สึกไม่สบายใจ
อาจเป็นความรู้สึกปั่นป่วนอยู่ลึกๆ เหมือนกับทะเลที่มีคลื่น
โดยที่ลมมาจากไหนก็ไม่ทราบ พัดมาเนี่ย รู้แต่ว่ามีลม


พอเราเห็นถึงต้นตอนะครับ ที่เป็นความรู้สึกกดดันอยู่ข้างใน
คุณจะเห็นเลยว่าระดับความกดดันให้ฟุ้งซ่านนี้เนี่ย
มันมีมากบ้างน้อยบ้าง
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่านั่งกินข้าวเสร็จ
แล้วรู้สึกเลื่อนลอย นึกไปถึงเรื่องน่าขัดใจ
อยู่ๆ ลอยมาจากไหนไม่รู้
เรื่องน่าขัดใจนั้นอาจจะผ่านไปเป็นเดือนแล้ว
ใบหน้าของบุคคลคนหนึ่งลอยขึ้นมาในหัว
แล้วก็เกิดความรู้สึกเจ็บใจ
เนี่ยเอาความเจ็บใจนั้นเป็นตัวตั้ง
คืออย่าไปเอาใบหน้าบุคคล อย่าเอาเรื่องที่มันผ่านไปแล้วมาเป็นอารมณ์
แต่ให้เอาความรู้สึกเจ็บใจ คันอกคันใจ เป็นตัวตั้ง เป็นตัวโฟกัส
บอกว่านี่ตอนนี้เรามีความเจ็บใจอยู่ มีอารมณ์ขุ่นเคืองอยู่


ความกดดันตรงนั้นน่ะที่มันรู้สึกแน่นอก
รู้สึกว่ามันคันขยิกอยู่ข้างในเนี่ยนะ มันก่อให้เกิดความปั่นป่วน
แล้วก็จะได้เห็นว่าความคัน คันหน้าอกหรือว่าความรู้สึกเจ็บใจ
หรือความรู้สึกที่ไม่ดีประการต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังความฟุ้งซ่านเนี่ย
มันไม่ได้มีระดับเท่าเดิมเสมอไป
บางทีมันคันมากขึ้นมานะ แต่หายใจสักทีหนึ่ง
แล้วดูไปที่ความคันนั้นอีกทีหนึ่ง อ้าว! มันน้อยลง
หรือเกิดความรู้สึกไม่ได้อย่างใจ อึดอัด
รู้สึกว่ามันอยากจะพุ่งออกไปคว้าอะไรสักอย่างหนึ่งให้ได้
ความรู้สึกพุ่งๆ นั้นที่เป็นตัวต้นเหตุความฟุ้งซ่านนั้นเนี่ย
ตอนแรกมันพุ่งมาก
แล้วถ้าเราเห็นว่าจริงๆ ว่ามันมีหน้าตาพุ่งๆ อย่างไรเนี่ย
เดี๋ยวมันอ่อนกำลังลงได้


นี่ถ้าเราเล่นสนุกกับการเห็นต้นเหตุความฟุ้งซ่านว่ามันไม่เที่ยง
ความฟุ้งซ่านมันจะพลอยลดระดับลงไปด้วย
แล้วเราจะเคยชินนะ ฟุ้งซ่านขึ้นมาเมื่อไหร่นะ
จะไม่เอาแต่คิดว่าทำอย่างไรจะหายฟุ้งซ่าน
แต่หาต้นตอให้เจอ หาต้นตอทางอารมณ์ หาต้นตออันเป็นภาวะทางจิต
เพื่อสังเกตอนิจจังของมัน ความไม่เที่ยงของมัน
จนกระทั่งสามารถที่จะเห็นได้ว่าต้นตอไม่เที่ยง
ผลคือความฟุ้งซ่านก็ไม่เที่ยงเช่นกัน