Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๕๘

dungtrin_cover

 dungtrin_gru2a

 

 

 

การรับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยจิตผู้รู้และใจที่เป็นกลาง มีลักษณะอย่างไร

 

ถาม – การรับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยจิตผู้รู้และใจที่เป็นกลาง
ต่างจากการเฉยเมยไม่สนใจโลกรอบข้างอย่างไรครับ

ตอบ – ก็คือนะถ้าหากว่าอาการเฉยเมยเนี่ย อันนี้อธิบายเป็นภาษาธรรมะก่อน
เฉยในแบบที่ไม่มีสติประกอบเนี่ย เขาเรียกว่าเฉยแบบมีโมหะ
เฉยแบบที่มีความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่
มีความรู้สึกว่ามีอะไรอย่างหนึ่งนะที่เป็นตัวเป็นตน
จะเป็นความรู้สึกในขณะนั้นหรือว่าจะเป็นลักษณะท่าทาง
หรือว่าความร้อนความหนาว อะไรต่างๆ ที่มันเคยชินนะ
ความรู้สึกที่ประกอบด้วยโมหะมันจะมีความรู้สึกเป็นเรา
เป็นตัวเป็นตนนะ เป็นก้อนอะไรก้อนหนึ่งที่มีความคงที่อยู่
แต่ถ้าหากว่ารับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยจิตผู้รู้และใจที่เป็นกลาง
นั่นก็คือมีอุเบกขา อย่างมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน

อย่างนั้นการรับรู้จะไม่เป็นไปแบบมีโมหะ
แต่จะประกอบด้วยปัญญานะครับ


สิ่งที่มันเป็นประสบการณ์ตรงก็คือเราจะรู้สึกถึงความไม่มีตัวตน
เพราะว่าสิ่งทั้งหลายที่กำลังปรากฏต่อจิต ณ บัดนั้นเนี่ย
แสดงความไม่เที่ยง
หรือว่าเรากำลังเห็นโดยสักแต่ว่าเป็นธาตุธรรม
อย่างเช่นยกตัวอย่างเรานั่งอยู่ในขณะนี้
ถ้าหากว่าฟังอยู่เฉยๆ นะ ผมพูดอะไรไปเนี่ยก็รู้บ้างไม่รู้บ้าง
เดี๋ยวสติแวบไปทางนู้นบ้าง เดี๋ยวกลับมาฟังเสียงผมบ้าง
อย่างนี้เรียกว่าเป็นสติแบบโลกๆ คือฟังบ้างไม่ฟังบ้าง

แต่ถ้าหากว่าเรานั่งอยู่เฉยๆ
แล้วมีความรู้สึกว่ามีความรู้สึกเหมือนไม่รู้สึกรู้สา
เหมือนไม่ได้ทุกข์ ไม่ได้สุข แต่จมอยู่ในอาการซึมนะ
จิตแบบนั้นเนี่ยที่แน่ๆ คือไม่ตื่นไม่รู้
แต่เหมือนกับมีอาการที่มันถูกครอบด้วยโมหะ
ถูกครอบด้วยอะไรบางอย่างที่มันพร่าๆ มัวๆ
แล้วก็ประกอบด้วยความรู้สึกชัดเจนเลยว่า
นี่มีตัวเรา มีตัวเรารู้สึกเฉยๆอยู่


แต่ถ้าหากเห็นอาการรู้สึกเฉยๆ นั้น
หรือเห็นแค่ลมหายใจเดี๋ยวเข้าเดี๋ยวออก
แล้วรู้ว่าอาการหายใจเข้าหายใจออกเนี่ย
มันไม่มีตรงไหนที่เที่ยงเลยสักจังหวะเดียวนะ เข้าแล้วก็ออก ยาวแล้วก็สั้น
เดี๋ยวมันก็หยุด เดี๋ยวมันก็เข้าใหม่ เดี๋ยวมันก็ออกมา
กระทั่งความรู้สึกเฉยเมย ความรู้สึกไม่รู้ไม่ชี้
เราก็เห็นว่า เออ พอมีสติจับเข้าไปที่อาการเฉยเมยนั้น
อาการเฉยเมยมันแปรไป กลายเป็นอาการตื่นรู้
รู้สึกถึงกาย รู้สึกถึงท่านั่งขึ้นมา รู้สึกถึงความเป็นลมหายใจเข้าออกขึ้นมา
แล้วก็เริ่มเห็นความไม่เที่ยง
อย่างนั้นแหละปัญญาเริ่มเกิดขึ้นอ่อนๆ
พอเห็นความไม่เที่ยงทุกครั้งนะ
จิตมันจะถอยออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์ เป็นผู้รู้
อย่างที่พระพุทธเจ้าใช้คำในอานาปานสติสูตร
ก็คือเราจะเป็นผู้รู้กองลมทั้งปวง

นั่นก็คือตัวสภาพของจิตเนี่ยที่ถอยออกมามีสติเป็นผู้รู้ผู้ดูเนี่ย
เขาจะหมายมั่น เขาจะกำหนดหมายรู้ว่าสิ่งที่ถูกรู้
คือกองลมทั้งปวงเนี่ยมีความไม่เที่ยง
หรือแม้แต่อารมณ์สุขทุกข์ หรือแม้แต่อารมณ์เฉยเมย
หรือแม้แต่อาการที่คล้ายๆ กับว่าไม่รู้สึกไม่รู้สาอะไรเลยเนี่ยนะ
เขาจะสังเกตเห็นถึงความแปรปรวนไป
ถึงความไม่เท่ากัน ไม่เสมอกันในระดับดีกรีของความรู้สึก
ตัวความสามารถที่จะเห็น ตัวความสามารถที่จะถอยออกมารู้
ว่าอะไรๆ นะภายในขอบเขตของกายใจมันไม่เที่ยงนี่แหละ
สภาพตื่นรู้ของจิต ณ บัดนั้นเนี่ยนะ
เรียกว่าเป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา
ไม่ใช่จิตที่ประกอบด้วยโมหะแบบปกตินะครับ