Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๔๗

dungtrin_cover

 dungtrin_gru2a

 

 

การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ นอกจากพระรัตนตรัย สามารถทำได้หรือไม่

 

ถาม – การกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งที่ไม่มีตัวตนอื่นๆ
นอกเหนือไปจากพระรัตนตรัยแล้วนั้น
ถือว่าผิดจากหลักพุทธศาสนาหรือไม่ครับ

ตอบ – การกราบไหว้เนี่ยนะ ดูตัวการกราบไหว้ก่อน
ลักษณะของการกราบไหว้เป็นกุศล ไม่ใช่อกุศล
เพราะว่าคนที่จะมีกิริยาแสดงการกราบไหว้ได้เนี่ย
ก็จะเป็นคนที่กำลังมีจิตใจที่นบนอบ กำลังมีจิตใจที่อ่อนน้อม
กำลังมีจิตใจที่ยอมเอามานะของตนลง
เพื่อที่จะได้ไปทำความเคารพผู้ใดผู้หนึ่งที่เรากำลังกราบไหว้
นี่เอาเฉพาะเรื่องของอาการก่อน อาการนั้นเป็นกุศล

ทีนี้ถ้าถามว่าบุคคลหรือว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์
สิ่งที่ไม่มีตัวตนอยู่ในโลกที่เรากราบไหว้นั้น
เป็นสิ่งที่ถูกที่ควรหรือเปล่า
ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรากราบไหว้ด้วยความตั้งใจอย่างไร
ถ้าหากว่าเราตั้งใจที่จะกราบไหว้ด้วยความเคารพ ด้วยความนับถือ
ด้วยความตั้งใจที่จะลดความยโสโอหัง หรือว่าความอหังการของเราลง
ไม่ว่าจะเป็นการกราบไหว้ใคร ก็ถือว่าเป็นมงคล เป็นกุศลได้เสมอ

แต่ถ้าหากว่าการกราบไหว้นั้นมีความหมายว่า
เราปรารถนาที่จะยึดเอาเป็นที่ขอสิ่งของ หรือว่าขออะไรบางอย่าง
ที่มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปขอกับมนุษย์ด้วยกัน
อย่างนี้เริ่มต้นแล้วที่จะพาตนเองไปสู่ความงมงาย
คือไม่ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราไปกราบไหว้นั้นจะเป็นของจริงหรือไม่จริง
ท่านจะเป็นสัมมาทิฐิหรือมิจฉาทิฐิก็ตาม
แต่ลักษณะการขอของเราเนี่ยเป็นมิจฉาทิฐิแล้ว
เนื่องจากเราพยายามที่จะทำอะไรให้มันเหนือธรรมชาติ
เราพยายามจะชนะกฎของธรรมชาติ กฎของกรรมวิบาก
ด้วยการให้ใครคนหนึ่งที่มีอำนาจวิเศษนะ ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทันที

แล้วถ้าพิจารณาตามแนวคิด หรือว่าแนวอุดมคติ
หรือแนวปรัชญาของพุทธศาสนาเนี่ย
มันไปรบกวนความเชื่อหรือความเลื่อมใสเกี่ยวกับตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
และก็เรื่องของการที่จะน้อมใจไปเชื่อว่าสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมอย่างยิ่งเลย
คืออันนี้ย้ำอีกทีหนึ่งว่าเรายกไว้ก่อน
ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นสามารถช่วยเราได้หรือไม่ได้
การจะมีคนทรง จะมีเจ้ามาลงได้จริงหรือไม่จริง อันนั้นยกไว้ก่อน
เราพูดกันในขอบเขตของคำถามนี้นะ ก็คือว่าผิดหลักจากพุทธศาสนาไหม
เป็นสิ่งที่สมควรไหม เป็นสิ่งที่นำพาไปสู่ความเป็นมิจฉาทิฐิไหม
เอาแค่ตรงนี้ก่อนนะ

เมื่อเอาแค่ตรงที่ว่าสมควรหรือไม่สมควรแก่ผู้ที่จะมีศรัทธาในกรรมวิบาก
ก็บอกได้เลยว่าไม่สมควร
ถ้าหากว่าพิจารณาในแง่ที่ว่าจะพาไปลงเหวหรือเปล่า ก็มีสิทธิ์
เพราะว่าเมื่อเราเชื่อเสียแล้วว่าชีวิตสามารถจะดีขึ้นได้ด้วยการวอนขอ
ชีวิตสามารถที่จะอยู่ใต้ความช่วยเหลือของสิ่งที่เรามองไม่เห็น
จิตใจเนี่ยก็จะพุ่งไปยึด หรือว่าพุ่งไปเชื่อ
หรือว่าโน้มไปในศรัทธาสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระอย่างไรก็ได้
คือเขาจะหลอกอย่างไร ถ้าเป็นกรณีที่เราไปเจอของหลอก
เขาจะหลอกอย่างไรเราก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อที่จะทำตาม
เขาให้เรารำแก้บนเราก็รำ เขาให้เราแก้ผ้าเราก็แก้ผ้า อะไรขนาดนั้นนะครับ
หรือที่เจอกันบ่อยที่สุดก็คือมีการเรียกร้องเงินทอง
หรือว่ามีการทำให้เสียเนื้อเสียตัวกันสำหรับผู้หญิง

พูดง่ายๆ ก็คือว่าทางพุทธเราไม่สนับสนุนไม่ส่งเสริม
ให้เกิดการวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะในรูปแบบกรณีใดๆ ทั้งสิ้น
แต่จะส่งเสริมสนับสนุนให้มีการทำความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีการน้อมไหว้
บางทีเนี่ยพระพุทธเจ้าถึงกับให้บทสวดบางบท
เพื่อที่จะผูกมิตรกับบรรดายักษ์ บรรดาอสูร บรรดาเปรต
คือไม่ใช่เรียกร้องให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาปกป้องตัวเองนะ
เวลาที่พระพุทธเจ้าให้บทสวด
ท่านจะให้เป็นบทผูกมิตร บทแผ่เมตตา บทที่มีการสรรเสริญคุณของเทวดา
คือหมายถึงว่าคุณวิเศษของเทวดาได้มาอย่างไร ด้วยการทำกรรมอย่างไรนะ
มีการจาระไนนะว่ากรรมอย่างไรถึงทำให้เป็นเทวดา
นี่คือหลักการแบบพุทธ

กล่าวโดยสรุปก็คือการกราบไหว้ไม่เคยเป็นอัปมงคล
แต่การตั้งใจวอนขอมันจะนำเราไปสู่ความงมงายนะครับ