Print

ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๒๔๖

dungtrin_cover

 dungtrin_gru2a

 

 

วิธีเจริญสติให้หายจากความเศร้าเพราะเรื่องในอดีต

 

ถาม – อยากขอคำแนะนำเรื่องการสวดมนต์ว่าควรจะเริ่มจากบทไหน
และจำเป็นต้องแผ่เมตตาทุกครั้งหรือไม่
และขอให้ช่วยแนะนำวิธีเจริญสติให้หายจากความเจ็บปวดจากเรื่องในอดีต
ซึ่งบางครั้งเหมือนจะลืมได้แล้ว แต่บางครั้งก็ยังรู้สึกเศร้าและเสียใจค่ะ

ตอบ - เอาตรงนี้ก่อน คำถามสุดท้ายก่อน
ที่บอกว่าบางครั้งก็รู้สึกเศร้าและเสียใจ บางครั้งก็เหมือนจะลืมได้
ตรงนี้อย่าไปพยายามให้มันเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นนะ
ตรงนี้เป็นจุดที่ดีมากๆ ตรงนี้เป็นจุดสังเกตที่จะเป็นประโยชน์มากๆ
จำไว้นะ เดี๋ยวก็ลืม เดี๋ยวก็เศร้าเนี่ย
ให้มันเกิดขึ้นอย่างนี้แหละ ยอมให้มันเกิดขึ้นอย่างนี้
เพื่อที่จะได้เห็นว่าไอ้ที่มันลืมได้เนี่ย ไม่ใช่เพราะเราบังคับให้มันลืม
แต่มันมีเหตุปัจจัยบางอย่างที่เหมาะสม
ที่ทำให้ใจเราไม่ไปยึดมั่นถือมั่น แล้วก็เหมือนจะเลือนๆ ไป

ตอนที่ลืมได้เนี่ยนะ สังเกตอาการของใจนะ
มันเป็นอิสระอยู่ มันไม่พุ่งเข้าไปหาอดีต
มันไม่เกาะเกี่ยวเข้ากับใบหน้าของใคร ไม่ย้อนไประลึกถึงน้ำเสียงของใคร
ใจเป็นอิสระอยู่ แล้วก็สามารถที่จะรู้เห็น
ว่าเรากำลังอยู่ในภาวะอย่างนี้เนี่ย
มันเป็นอย่างไร ปลอดโปร่งแค่ไหน สุขมากแค่ไหน
หรือว่ามีความรู้สึกว่าสุขแบบหม่นๆ สุขแบบปลอดโปร่งหรือสุขแบบหม่นๆ
มันสามารถสังเกตได้นะ จากอาการที่ใจไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งภายนอก
แต่บางครั้งกลับรู้สึกเศร้าแล้วก็เสียใจขึ้นมา

ตรงนี้พอเศร้าปุ๊บนะ ถือเป็นโอกาสทองเลย
คือยอมรับตามจริง อย่าไปพยายามที่จะทำให้หายเศร้า
ยอมรับตามจริงลงไปเลยว่าใจของเรามีอาการเกาะเกี่ยว มีอาการยึดแน่น
อยู่กับอะไรอย่างหนึ่งหรือใครคนหนึ่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนะ มันเป็นเวลาที่ผ่านมาแล้ว ล่วงมาแล้ว
ไม่ใช่เวลาปัจจุบันแล้วแน่ๆ
ความเศร้านะ จำไว้เลยนะ ความเศร้าความเสียใจเนี่ย
ส่วนใหญ่มันไม่ได้เกิดขึ้นจากอะไรมากระแทกตรงๆ ณ เวลาปัจจุบันในวินาทีนี้
แต่เป็นอาการที่ใจของเรามันบังคับไม่ได้ บังคับตัวเองไม่ได้
มันพยายามพุ่งไปหาใครคนหนึ่งหรืออะไรอย่างหนึ่ง ด้วยความยึดมั่นถือมั่น

พอเศร้าปุ๊บให้บอกตัวเองเลย
นี่คือจังหวะ นี่คือโอกาสที่เราจะได้เห็น
ว่าอาการของใจที่ยึดมั่นถือมั่นหน้าตามันเป็นอย่างไร

มันจะมีความรู้สึกบีบๆ มันจะมีความรู้สึกเกร็งๆ มันจะมีความรู้สึกฝืนๆ
มันจะมีความรู้สึกเหมือนกับโหยหาอาลัยอาวรณ์อ้อยอิ่ง
อาการจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่
ให้บอกตัวเองว่านี่แหละที่เขาเรียกว่าอาการยึด

พอเราตั้งจุดสังเกตไว้ว่านี่เรียกว่าอาการยึด มันจะค่อยๆ เห็นจริงๆ นะ
เออ ใจเนี่ยมันมีอาการขมวดได้ มันมีอาการบีบรัดได้
มันมีอาการนึกถึงมโนภาพอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง แล้วเข้าไปยึดเข้าไปจับอย่างแรง
นี่เป็นโอกาสได้ศึกษา

เริ่มต้นขึ้นมาจากการยอมรับตามจริง
อย่าไปพยายามให้มันหายไปนะความเศร้าเนี่ย
แต่เห็นว่าความเศร้า ความรู้สึกเสียใจนี่มันเปลี่ยนได้
ทันทีที่เรามองเห็นว่าอาการยึดมั่นถือมั่นของจิต หน้าตามันเป็นอย่างไรปุ๊บเนี่ย
อาการเศร้าหายทันทีหรือเปลี่ยนแปลงไปทันที
จากมากกลายเป็นน้อย จากน้อยกลายเป็นไม่เหลือเลย
จะรู้สึกว่าปลอดโปร่ง เป็นอิสระขึ้นมาชั่วขณะ
แต่ความเป็นอนัตตาของจิตมันก็จะแสดงตัว ด้วยอาการหวนย้อนกลับมานึกถึงอีก
โดยที่เราไม่รู้ว่ามันจะมาเมื่อไหร่ รู้แต่ว่าเดี๋ยวมันย้อนกลับไปแน่ๆ
ย้อนกลับมาเราก็เห็นอีก ถ้าย้อนกลับมาอีกร้อยครั้ง
เราถือว่ามีโอกาสที่จะดูอีกร้อยครั้ง
อย่าไปมองว่า แย่จัง เราทำไม่ได้สักที
การที่เรามีโอกาสฝึกอีกร้อยครั้งนั่นน่ะ
สติมันก้าวหน้าไปไม่รู้เท่าไหร่เลยนะ
อาจจะภายในวันเดียวเนี่ย
ก้าวหน้ารุดหน้าไปยิ่งกว่าคนที่พยายามฝืนบังคับตัวเองให้ลืมซะ

ที่ถามว่าจะสวดบทไหนก่อน
สวดอิติปิโสอย่างเดียวเลยนะ สวดหลายๆ รอบ
แต่ละรอบเนี่ยก็ให้สังเกตดูว่าฟุ้งซ่านมากหรือฟุ้งซ่านน้อย
ต่างจากรอบอื่นๆ แค่ไหน

รอบนี้ฟุ้งซ่านมาก รอบแรกน่ะฟุ้งซ่านมากแน่ๆ นะ
แต่รอบสองดูซิว่ามันสงบลงไหม รอบสามกลับมาฟุ้งหนักขึ้นอีกหรือเปล่า
สวดให้ได้สักสามรอบหรือเจ็ดรอบนะ เอาให้ได้ทุกวัน
จะรู้สึกเลยถึงความแตกต่างนะ
เราจะมีปัญญาเห็นความไม่เที่ยงของอาการฟุ้งซ่านขึ้นมา

สำคัญคืออย่าไปบังคับเด็ดขาดนะ อย่าไปห้ามไม่ให้มันฟุ้งซ่าน
แต่ให้ยอมรับตามจริง เพื่อที่จะดูเพื่อที่จะเห็นว่ามันต่างไปอย่างไรนะครับ

ส่วนจะแผ่เมตตาหรือไม่แผ่เมตตาเนี่ย
จริงๆ แล้วแค่สวดอิติปิโสก็ไม่จำเป็นต้องแผ่เมตตาแล้ว
เนื่องจากว่าการสวดอิติปิโสบทนี้เนี่ยนะบทเดียวเลยเนี่ย
มันเป็นเมตตาอยู่แล้ว เป็นพุทธพจน์ที่เรามีแต่สรรเสริญ
มีแต่บรรยายสรรพคุณ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ นะครับ
มันเป็นลักษณะจิตที่แผ่ออก มันเป็นลักษณะจิตที่เปิดอยู่แล้ว